สธ. เผย ไอคิว เด็ก ป.1 สูงเกินค่ามาตรฐาน ส่วน อีคิว อยู่ระดับปกติ เร่งเดินหน้าพัฒนาเด็กด้อยโอกาส

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

กระทรวงสาธารณสุข เผย ผลสำรวจระดับไอคิว-อีคิว เด็กไทยชั้น ป.1 ปี 2564 พบ มีไอคิวเฉลี่ย 102.8 สูงขึ้นจากปี 2559 และเกินค่ามาตรฐานที่ 100 ตั้งเป้าพัฒนาให้ถึง 103 ภายในปี 2570 และยังพบเด็กที่ฉลาดมาก ไอคิวเกิน 130 ถึง 10.4%

กระทรวงสาธารณสุข เผย ผลสำรวจระดับไอคิว-อีคิว เด็กไทยชั้น ป.1 ปี 2564 พบ มีไอคิวเฉลี่ย 102.8 สูงขึ้นจากปี 2559 และเกินค่ามาตรฐานที่ 100 ตั้งเป้าพัฒนาให้ถึง 103 ภายในปี 2570 และยังพบเด็กที่ฉลาดมาก ไอคิวเกิน 130 ถึง 10.4% ส่วนกลุ่มไอคิวบกพร่องพบ 4.2% สูงกว่ามาตรฐาน ขณะที่ อีคิวอยู่ในเกณฑ์ปกติ 83.4% เดินหน้าเพิ่มศักยภาพเด็กไทย โดยเฉพาะกลุ่มด้อยโอกาส ให้พร้อมเป็นพลเมืองศตวรรษที่ 21

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต แถลงผลการสำรวจไอคิว อีคิว เด็กไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ปี 2564 ภายในงาน “เดินหน้า…สร้างเด็กไทยไอคิวดี” พร้อมมอบประกาศเกียรติคุณแก่บุคคลที่ร่วมดำเนินงานพัฒนาเด็กไทย และพัฒนาสติปัญญาเด็กไทยดีเด่น จำนวน 18 รางวัล

นายอนุทิน กล่าวว่า จากการสำรวจระดับสติปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ประจำปี 2564 ทั่วประเทศ พบว่า มีระดับสติปัญญา (ไอคิว) เฉลี่ย 102.8 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติและผ่านเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่กำหนดให้เด็กไทยมีไอคิวไม่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 100 และเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2559 พบว่า เด็กไทยมีไอคิวเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 4.5 จุด ส่วนเด็กที่ไอคิวต่ำกว่า 90 ลดลงจาก 31.8% เหลือ 21.7% สะท้อนความสำเร็จจากความร่วมมือของทุกฝ่ายในการพัฒนาเด็กไทยให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม ยังมีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่มีไอคิวในเกณฑ์บกพร่อง ต่ำกว่า 70 อยู่ถึง 4.2% ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานสากลที่กำหนดให้ไม่เกิน 2% แสดงว่า ยังมีเด็กกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยที่ส่งผลต่อสติปัญญาในช่วงแรกเกิด ถึง 5 ปี ซึ่งพบในกลุ่มขาดโอกาสทางสังคม เช่น ครอบครัวที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ เด็กที่เกิดจากมารดาวัยรุ่น ครอบครัวขาดความพร้อมในการเลี้ยงดูเด็กขณะที่ตั้งครรภ์

สำหรับเด็กที่มีระดับสติปัญญาในเกณฑ์ฉลาดมาก คือ ไอคิวมากกว่า 130 พบสูงถึง 10.4% เป็นผลจากได้รับการส่งเสริมศักยภาพอย่างเต็มที่จากครอบครัวและสังคม ซึ่งทุกหน่วยงานควรนำมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาให้ครอบคลุมทั้งประเทศ ส่วนผลสำรวจความฉลาดทางอารมณ์ (อีคิว) พบอยู่ในเกณฑ์ปกติ 83.4% แสดงว่า เด็กยังมีความสามารถในการรู้จัก เข้าใจ ควบคุมอารมณ์ สื่อสารอย่างสร้างสรรค์ เอาชนะอุปสรรคในชีวิต และอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเหมาะสม ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จและความสุขในอนาคต

“การที่เด็กไทยมีระดับไอคิวสูงขึ้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระราชทานแนวทางแก้ปัญหาขาดแคลนสารไอโอดีนในเด็ก ทำให้เด็กมีพัฒนาการสมวัยมากขึ้น จึงขอให้ กรมสุขภาพจิต และ กรมอนามัย เพิ่มเรื่องความรอบรู้ด้านไอโอดีน ให้แก่ อสม. เพื่ออธิบายต่อกับชาวบ้านถึงความสำคัญในการให้เด็กได้บริโภคอาหารที่มีสารไอโอดีน” นายอนุทิน กล่าว

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการสำรวจระดับสติปัญญาเด็กไทยต่อเนื่อง เพื่อติดตามสถานการณ์และวางแผนพัฒนาเด็กและเยาวชน ซึ่งการสำรวจครั้งก่อนหน้าในปี 2559 พบว่า เด็กระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มีระดับสติปัญญาหรือไอคิวเฉลี่ยเท่ากับ 98.2 แม้จะอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ยังต่ำกว่าค่ามาตรฐานสากลที่ 100 แต่การสำรวจครั้งล่าสุดปี 2564 มีค่าเฉลี่ยเกินระดับ 100 แล้ว ถือเป็นทิศทางที่ดี ที่ได้ตั้งเป้าพัฒนาระดับสติปัญญาเฉลี่ยของเด็กไทยให้ถึง 103 ในปี 2570 โดยผลการสำรวจในปี 2564 จะให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องใช้เป็นฐานข้อมูลในการวางแผน กำหนดเป้าหมาย เพื่อผลักดันให้มีการพัฒนาและส่งเสริมสติปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กไทยในทุกจังหวัดอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม นำไปสู่ผลลัพธ์ คือ เด็กไทยมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย มีศักยภาพและวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่เหมาะสม และเติบโตเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าของประเทศต่อไป

ทางด้าน พญ.หญิงอัมพร กล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้ยังมีข้อมูลครบถ้วน 61 จังหวัด ได้แจ้งพื้นที่เพื่อนำไปใช้ประโยชน์แล้ว ส่วนอีก 16 จังหวัด เนื่องจากสถานการณ์ของโรคโควิด 19 ทำให้การสำรวจข้อมูลไม่ครบถ้วน  และแม้ครอบครัวไทยจะต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลายด้าน แต่เด็กไทยยังมีอีคิวอยู่ในเกณฑ์ปกติถึง 83.4% ซึ่งเด็กที่มีอีคิวดี จะมีความสามารถในการควบคุมอารมณ์ตนเอง สื่อสารอย่างสร้างสรรค์ เอาชนะปัญหาอุปสรรคในชีวิต และอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะพัฒนาและค้นคว้าแนวทางส่งเสริมศักยภาพของเด็กไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในครอบครัวที่ขาดโอกาสทางสังคม ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเสริมสร้างพัฒนาการและสติปัญญาของเด็กให้พร้อมมุ่งสู่การเป็นพลเมืองในศตวรรษที่ 21 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย ส่งเสริมอนามัยแม่และเด็ก และพัฒนาการที่สมวัย ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม

RANDOM

ราชมงคลพระนคร รับสมัครคัดเลือกบุคคล ตำแหน่ง “อาจารย์” คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน และ ตำแหน่ง “นักวิชาการศึกษาปฏิบัติการ” เทคโนโลยีดิจิทัลทางการศึกษา และบริการห้องปฏิบัติการ

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!