จุฬาฯ พัฒนา โซลาร์เซลล์สายพันธุ์ใหม่ กำลังไฟเต็มร้อย รูปแบบหลากหลาย ได้มาตรฐานโลก

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

นักวิจัย จุฬาฯ คว้ารางวัลระดับโลก โชว์ผลงานโซลาร์เซลล์รุ่นใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า ประยุกต์เป็นหลากหลายผลิตภัณฑ์ การันตีมาตรฐานสากล และการพัฒนาพลังงานสะอาดที่ยั่งยืนเพื่อสังคม

สิ่งที่เราเคยเห็นในภาพยนตร์ไซไฟ อาจกำลังกลายเป็นจริง วันที่เราจะกลายเป็นมนุษย์ไฟฟ้า ผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เองได้จากเสื้อผ้าที่มีโซลาร์เซลล์ถักทอผสมอยู่ในเส้นใยผ้า หรือจากนาฬิกาข้อมือ โทรศัพท์มือถือ หรือแม้กระทั่งหมวกใบเก่ง

การพัฒนาเสถียรภาพให้กับโซลาร์เซลล์ชนิด “เพอรอฟสไกต์” (Perovskite Solar Cell)” โดย ดร.รงรอง เจียเจริญ จากสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในสามนักวิจัยจากภูมิภาคอาเซียนที่เพิ่งคว้ารางวัล Green Talents Competition 2021 จากประเทศเยอรมนี เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยผลงานวิจัยดังกล่าว ช่วยลบข้อจำกัดของโซลาร์เซลล์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน และเพิ่มความสามารถให้โซลาร์เซลล์แปลงเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่าง ๆ ได้หลากหลาย

แผงโซลาร์เซลล์ในปัจจุบัน มีข้อจำกัดหลายประการ อาทิ ปัญหาการผลิต แผงอุปกรณ์ขนาดใหญ่เทอะทะ และประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง เมื่ออยู่ในสภาพอากาศร้อนชื้น

“ส่วนมากแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน หรือที่ปรากฏในโซลาร์ฟาร์ม เป็นโซลาร์เซลล์ประเภทซิลิกอน  ซึ่งประสิทธิภาพจะลดลง 15% เมื่ออุณหภูมิบนแผงพุ่งสูงขึ้นราว 60-70 องศาเซลเซียส” ดร.รงรอง อธิบาย

นอกจากนี้ กระบวนการผลิตวัสดุในการทำแผงโซลาร์เซลล์ก็ยังมีความซับซ้อน และใช้อุณหภูมิสูง ซึ่งจะเป็นปัญหาอย่างมาก หากโลกต้องใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์มากขึ้น

“โจทย์วิจัยครั้งนี้ จึงต้องการแก้ปัญหาเรื่องวัสดุ กระบวนการผลิต และประสิทธิภาพของโซลาร์เซลล์ที่ต้องทำให้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้เต็มที่ แม้ในสภาพอากาศร้อนชื้นอย่างประเทศไทย”

นอกจากแผงโซลาร์เซลล์ประเภทซิลิกอนแล้ว โซลาร์เซลล์อีกชนิดที่เริ่มเป็นที่นิยม และน่าศึกษาเพิ่มเติม คือ “เพอรอฟสไกต์โซลาร์เซลล์” (Perovskite Solar Cell) เนื่องจากมีประสิทธิภาพกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าเทียบเท่าซิลิกอน แต่ใช้วัสดุน้อยกว่า และทำงานได้ดีในช่วงอุณหภูมิที่กว้างกว่าซิลิกอน หรือสูงถึง 65 องศาเซลเซียส

“ความพิเศษของโซลาร์เซลล์ ชนิดเพอรอฟสไกต์ นอกจากวัสดุจะบาง และยืดหยุ่นแล้ว (บางเพียง 500 นาโนเมตร) ยังผลิตได้ง่ายและรวดเร็วด้วย เนื่องจากการขึ้นรูปเพอร์โรฟสไกป์โซลาร์เซลล์ ใช้กระบวนการสารละลาย (solution process) คล้ายการพิมพ์หนังสือ ซึ่งมีข้อดีที่ทำบนพื้นผิวใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นผืนผ้า บนลักษณะพื้นผิวโค้งงอ แม้แต่อุปกรณ์ชิ้นเล็ก ๆ ตรงนี้เองทำให้เราสามารถประยุกต์ใช้งานโซลาร์เซลล์ชนิดนี้ได้หลากหลายรูปแบบ เช่น นาฬิกาข้อมือ เส้นใยผ้า หมวก”

ถึงแม้จะมีข้อดีอยู่มาก แต่โซลาร์เซลล์พันธุ์ใหม่ก็ยังมีข้อจำกัด เช่น “ความเสถียร” สภาพอากาศที่ชื้น และแสงอัลตราไวโอเลต (UV) อาจทำให้วัสดุหรือรอยต่อระหว่างชั้นโซลาร์เซลล์เปลี่ยนสภาพ หากใช้งานเป็นเวลานาน ซึ่ง ดร.รงรอง ได้พยายามแก้โจทย์ดังกล่าว โดยตั้งแต่ปี 2558 ได้ทำงานร่วมกับ สถาบันการศึกษาชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ ศึกษาตั้งแต่การออกแบบ การจัดเรียงชั้นวัสดุ พัฒนาชั้นวัสดุ ศึกษาเสถียรภาพของเพอร์โรฟสไกป์โซลาร์เซลล์ โดยนำไปใช้งานจริงในสภาพที่มีแสงอัลตราไวโอเลต ความชื้น และความต่างศักย์ เพื่อพิจารณาการคงประสิทธิภาพเทียบเท่าสภาวะปกติหรือไม่ ซึ่งผลจากงานวิจัยชิ้นนี้นำไปสู่การออกแบบตัวอุปกรณ์ การเลือกใช้วัสดุที่ได้รับการพัฒนาในลักษณะการห่อหุ้ม (encapsulation) ที่จะทำให้เสถียรภาพของเพอร์โรฟสไกป์โซลาร์เซลล์ ผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรม IEC 61215 (มาตรฐานที่ใช้อ้างอิงคุณภาพของแผงโซลาร์เซลล์ครั้งแรกในโลก)

“ในการทดสอบมาตรฐาน เราทดสอบด้วยการเร่งเวลา (accelerate test) คือ การจำลองสภาพต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วง 25 ปี แต่ใช้เวลาไม่ถึง ก็สังเกตเห็นปัญหา ขณะที่ใช้ตัวห่อหุ้มอุปกรณ์และวัสดุในงานวิจัยครั้งนี้ ทำให้ผ่านมาตรฐานมาได้”

ดร.รงรอง กล่าวด้วยความภูมิใจว่า การได้รับรางวัล Green Talents Competition 2021 จากประเทศเยอรมนี เป็นเครื่องยืนยันมาตรฐานและประสิทธิภาพของผลงาน ที่บรรลุเป้าหมายความยั่งยืนของการพัฒนา (Sustainability Development Goals)

ปัจจุบัน ประเทศเนเธอร์แลนด์และอีกหลายประเทศ ได้นำเอาโซลาร์เซลล์พันธุ์ใหม่ไปประยุกต์ใช้จริงกับโครงสร้างโซลาร์เซลล์หลากหลายรูปแบบแล้ว สำหรับอนาคตพลังงานสะอาดในประเทศไทย ดร.รงรอง กล่าวว่า ยังต้องเดินหน้าวิจัยเพิ่มเติมเรื่องเสถียรภาพของโซลาร์เซลล์พันธุ์ใหม่ เพื่อให้เหมาะกับสภาพอากาศที่ร้อนชื้น แต่มั่นใจว่าในอนาคตจะได้เห็นผลิตภัณฑ์โซลาร์เซลล์รูปแบบต่าง ๆ ที่ผลิตในประเทศแน่นอน

 

RANDOM

รับสมัคร “ทุนอายิโนะโมะโต๊ะ เพื่อผู้เรียนดี มีศักยภาพเป็นเลิศ” (Ajinomoto Talent Scholarship 2024) ประจำปีการศึกษา 2567 รวม 113 ทุน ใน 10 มหาวิทยาลัย สำหรับนักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ สมัครได้ตั้งแต่บัดนี้ – 22 มกราคม 2568

ชาวเจ็ตสกี จับเข่าคุยกับกองทุน ในประเด็นดราม่า “ไปแข่งมีผลงานทำไมไม่ได้เงิน” ได้รับความกระจ่างที่เข้าใจผิด “ดร.สุปราณี” ฝากถึงทุกสมาคมให้แจ้งกติกาสมาชิกให้ชัด พร้อมที่จะหาทางช่วยเหลือด้วยการนำหารือบอร์ดกองทุน

NEWS

ตามรอยศาสตร์พระราชา เยือนแหล่งเรียนรู้รักษ์เต่าทะเล และ Green Hotel ต้นแบบโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ จ.พังงา ในโครงการทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 51

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!