นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ได้รับมอบหมายจากนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. เป็นตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้การต้อนรับคณะนักเรียนไทย จำนวน 16 ทีม ที่เดินทางกลับจากการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ “Regeneron International Science and Engineering Fair 2022 (Regeneron ISEF 2022)” ณ เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการประกวดโครงงานของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยทีมนักเรียนไทยสามารถคว้ารางวัลได้มากถึง 10 รางวัล จากการแข่งขันครั้งนี้ ประกอบด้วย รางวัล Grand Awards 7 รางวัล รางวัลพิเศษ 1 รางวัล และรางวัล Special Awards 2 รางวัล นับเป็นจำนวนมากที่สุด เมื่อเทียบกับการแข่งขันในปีก่อน ๆ ที่ผ่านมา โดยบรรยากาศของการต้อนรับนักเรียนไทยทุกคน ทั้งผู้บริหาร ครู และผู้ปกครอง ต่างมีความชื่นชมยินดีในความสำเร็จครั้งนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ถึงแม้จะเผชิญกับสถานการณ์ของโรคโควิด-19 แต่ด้วยการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสม โดยเฉพาะการเรียนที่ลงมือปฏิบัติจริงแบบ Active Learning ทำให้นักเรียนไทยสามารถฝึกฝนทักษะความรู้ จนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในเวทีระดับโลกได้
ถึงแม้จะต้องเผชิญกับสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ด้วยการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสม นักเรียนไทยสามารถฝึกฝนทักษะความรู้จนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในเวทีระดับโลกได้ เช่น โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา ทางโรงเรียนได้เข้าร่วมโครงการ Sandbox Safety Zone in School ในการพยายามเปิดเรียนแบบ On-Site ด้วยอุดมการณ์ที่เข้มแข็งทั้ง 9 ข้อ ที่เน้นทั้งด้านองค์ความรู้ ทักษะ กระบวนการ และคุณลักษณะของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย อีกทั้งยังมีเป้าหมายของหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยที่เข้มข้น โดยยึดตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) และเน้นการเรียนการสอนที่ลงมือปฏิบัติจริงแบบ Active Learning ผ่านโครงงาน ผ่านงานวิจัย และจัดสถานการณ์ให้นักเรียนได้ออกแบบนำเสนอแนวคิดที่ได้จากการเรียนรู้ของตนเองอย่างต่อเนื่องในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา เมื่อรับนักเรียนเข้ามาหลังจากเรียนออนไลน์ ก็ได้มีการเติมความรู้เพื่อป้องกันภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss) ให้กับนักเรียนอย่างหลากหลาย ทั้งกิจกรรมการปรับพื้นฐานนักเรียนหลังจากการกลับมาเรียน On-Site คลินิกวิชาการ การสอนเสริม การศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองจากสื่อการเรียนรู้ในห้องสมุดที่เปิดบริการถึงเวลา 20.00 น. การให้พื้นที่สร้างสรรค์ใน STEM Lab และการฝึกแล็บปฏิบัติการทั้งในและนอกเวลาเรียน
นอกจากนี้ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี ยังมีจุดแข็งในด้านอื่น ๆ ที่ช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กได้อย่างหลากหลาย ประการแรก มีความเข้มแข็งทางด้านบุคลากร มีคุณครูที่มุ่งมั่นทุ่มเทในการพัฒนา ส่งเสริมนักเรียนให้ฝึกปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ การทำโครงงาน การช่วยเหลือสนับสนุนการศึกษาปัญหา เก็บรวบรวมข้อมูลร่วมกับเครือข่ายที่มีคุณภาพ อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรี และเครือข่าย สวทช. จนโครงงานสำเร็จ ประการที่สอง ทางโรงเรียนมีหลักสูตรที่เข้มข้น มีกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เน้น Active Learning และมีเครื่องมือที่พร้อมสามารถสนองตอบความต้องการของนักเรียนในการเรียนรู้และทำโครงงานได้ตลอดเวลา ประการที่สาม ผู้บริหารตั้งแต่ระดับนโยบาย จนถึงผู้บริหารโรงเรียน มีความเป็นผู้นำทางวิชาการ ยึดมั่นในอุดมการณ์ของโรงเรียน มีความเข้าใจและกำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจน พร้อมสนับสนุน ส่งเสริมให้ครูจัดการเรียนรู้ที่สนองต่ออุดมการณ์ของโรงเรียนตามจุดเน้นที่สำคัญ ตามศักยภาพและความแตกต่างของนักเรียนแต่ละคน
ทั้งนี้ ทาง สพฐ. ได้กล่าวชื่นชมนักเรียนที่ใช้ความรู้ความสามารถในการทำโครงงานศึกษาวิจัยได้อย่างสร้างสรรค์ เหมาะสมกับสภาพบริบทในปัจจุบัน ส่งผลให้ได้รับรางวัลที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ และขอขอบคุณหน่วยงานที่สนับสนุนนักเรียนในการแข่งขันครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น สวทช. อพวช. สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สำนักงานวิจัยแห่งชาติ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และที่ขาดไม่ได้ คือ ผู้บริหารโรงเรียน คณะครู สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และความร่วมมือจากผู้ปกครอง ที่ร่วมกันสร้างเครือข่ายในการจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนได้อย่างเหมาะสม ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะการเรียนในรูปแบบ Active Learning ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) ที่ให้ความสำคัญกับผู้เรียนเป็นหัวใจหลัก เมื่อเราได้นำมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสภาพบริบทของนักเรียนแต่ละคนแล้ว เด็กก็จะสามารถเบ่งบานในแนวทางที่ตนเองถนัดและสนใจได้ จนนำไปสู่การสร้างชื่อเสียงให้กับตนเองและประเทศชาติในที่สุด
และในวันที่ 18 พฤษภาคม นี้ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงผู้บริหารของ สวทช. อพวช. สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และ สพฐ. จะนำคณะนักเรียนไทยที่กลับจากการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์เวทีระดับโลก “Regeneron ISEF 2022” รวม 40 คน เข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อรับโอวาทและแสดงความยินดีจากนายกรัฐมนตรีอีกด้วย