นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และ นายฮิวโก้ อิมฮอฟ ผู้อำนวยการโครงการ RECOTVET องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit GmbH ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กับ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน เพื่อการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพของระบบอาชีวศึกษา และการฝึกอบรมบุคลากรอาชีวศึกษา เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล ในโครงการเพื่อพัฒนาส่งเสริมศักยภาพของระบบอาชีวศึกษา และการฝึกอบรมในระดับภูมิภาคอาเซียน โดยมี นายราตรีสวัสดิ์ ธนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือ และนางศิริพร ภาวิขัมถ์ ผู้จัดการโครงการอาวุโส องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน รวมเป็นสักขีพยาน ณ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า ความร่วมมือในครั้งนี้เพื่อพัฒนาหลักสูตรส่งเสริมสมรรถนะและทักษะใหม่ ๆ รองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยียุคดิจัล นอกจากนี้ ยังเป็นการพัฒนาบุคลากรอาชีวศึกษาในระดับภูมิภาคอาเซียน เช่น ด้านดิจิทัล ด้านอุตสาหกรรม 4.0 ด้านการพัฒนาทักษะแรงงานในอนาคต และการส่งเสริมความร่วมมือกับภาคเอกชน โดยการจัดฝึกอบรมวิทยากรให้แก่ครูในสถานศึกษา และครูฝึกในสถานประกอบการให้มีศักยภาพ รองรับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และด้านอุตสาหกรรม 4.0 รวมไปถึงการส่งเสริมความร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อสร้างความเป็นเลิศด้านวิชาชีพ เน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านความเป็นเลิศด้านอาชีวศึกษา และการใช้แพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์รูปแบบใหม่ บน SEV-VET.net เพื่อให้ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถเข้าถึงหลักสูตรนี้ได้ และนำไปใช้พัฒนาบุคลากรอาชีวศึกษาในแต่ละประเทศ ตลอดจนถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียน นักศึกษา และการพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน สอดคล้องกับความต้องการของเศรษฐกิจและสังคมต่อไป
ทางด้าน นายอิงโก้ อิมฮอฟ ผู้อำนวยการ โครงการ RECOTVET องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน กล่าวว่า ทางองค์กร GIZ และ สอศ. จะดำเนินการพัฒนา และเพิ่มศักยภาพของระบบอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมบุคลากรอาชีวศึกษา เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล โดยเน้นการพัฒนาบุคลากรอาชีวศึกษา สนับสนุนการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ระดับภูมิภาคอาเซียน ด้วยการส่งเสริมปัจจัยต่าง ๆ เพื่อให้การจัดการศึกษาอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีประสบความสำเร็จ ผ่านการสอนด้วยระบบดิจิทัล การคาดการณ์ทักษะที่ต้องการและข้อมูลตลาดแรงงานเพื่อการพัฒนาทักษะและศักยภาพแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการ โดยความร่วมมือในครั้งนี้มีระยะเวลา ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566