เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูง ของ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เพื่อติดตามผลการดำเนินงานการปฏิรูปการอาชีวศึกษา ของ สอศ. ในประเด็นหลักที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้เร่งรัดให้เห็นผลโดยเร่งด่วน ซึ่งพบว่าทุกโครงการดำเนินการได้ดี ดังนี้
การผลิตพัฒนากำลังคน เพื่อตอบสนองความต้องการ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทาง สอศ. มีแผนการผลิตและพัฒนากำลังคน ทั้งระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และปริญญาตรี ที่ชัดเจน จึงขอให้ สอศ.เพิ่มผู้เรียนให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะในสาขาที่มีความจำเป็นของประเทศ และให้ สอศ.นำเสียงสะท้อนจากผู้ใช้กำลังคน มาปรับปรุงหลักสูตรและการผลิตกำลังคนให้ทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน
รณรงค์เพิ่มผู้เรียนในโครงการอาชีวะสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชน เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ หรือ อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ เพื่อให้เด็กด้อยโอกาสได้กลับเข้ามาเรียนในระบบ ขณะนี้ยังมีที่รองรับนักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมโครงการได้อีก โดยมุ่งเป้าหมายไปยังผู้เรียนบางกลุ่ม บางพื้นที่ ผ่านผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และองค์การบริหารส่วนตำบล
โครงการอาชีวศึกษาทวิภาคี ที่ผ่านมาได้เพิ่มสถานประกอบการที่มีคุณภาพมาตรฐานมาร่วมจัดการศึกษาเพิ่มขึ้น และเร่งเพิ่มจำนวนผู้เรียนในระบบทวิภาคี ทั้งในวิทยาลัยของรัฐและเอกชน เพิ่มบทบาทภาคเอกชน/สถานประกอบการ ให้มาช่วยวางแผนการผลิตและพัฒนาคุณภาพการอาชีวศึกษา เพื่อตอบโจทย์ให้ตรงตามความต้องการที่แท้จริง โดยทาง สอศ.ต้องทำแผนเพิ่มเป้าหมายผู้เรียนให้มากขึ้น รวมถึงช่วยสนับสนุน แก้ไข และขจัดปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นด้วย
โครงการศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) และ ศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (Center of Vocational Manpower Networking Management : CVM) ได้มีการเร่งใช้ประโยชน์จาก Excellent Center และ CVM ทุกที่ ทั้งการผลิตนักศึกษา ฝึกอบรมและพัฒนากำลังคนในสาขานั้น ๆ
โครงการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farmer) ได้มีการปรับปรุงการเรียนการสอนในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วทษ.) โดยมุ่งเน้นผู้เรียนให้มีความสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาบริหารจัดการ และลดต้นทุนการผลิต ซึ่งได้มีการพัฒนาต่อยอดจากสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว
การสร้างภาพลักษณ์อาชีวศึกษา ขอให้ทุกคนช่วยกันสร้างภาพลักษณ์อาชีวะ ให้เป็นที่ต้องการของนักเรียน นักศึกษา โดยเชื่อมโยงกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการแนะแนวให้เห็นความสำคัญของการเรียนต่อสายอาชีพให้มากขึ้น