วิศวะ จุฬาฯ สร้างโลกเสมือนจริงในเมตาเวิร์ส อยู่ที่ไหนก็เที่ยวจุฬาฯ ได้

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสร้างหอประวัติจุฬาฯ บนโลกเสมือนจริงสามมิติขึ้น เพื่อให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าเยี่ยมชมศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยได้ ผ่านอุปกรณ์วีอาร์ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาสถานที่จริง อีกทั้งต่อยอดความรู้ในการสร้างโลกเสมือนจริงที่ช่วยในการดำเนินกิจการในภาครัฐวิสาหกิจ และด้านสุขภาพในยุคเมตาเวิร์ส

รองศาสตราจารย์ ดร. ลัญฉกร วุฒิสิทธิกุลกิจ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การสร้างโลกเสมือนจริงของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นความร่วมมือระหว่าง คณะวิศวกรรมศาสตร์ กับ สถาบันไทยศึกษา จัดสร้างหอประวัติจุฬาฯ บนโลกเสมือนจริงสามมิติขึ้น เพื่อบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์เกี่ยวกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน เป็นการบูรณาการข้ามศาสตร์ระหว่างองค์ความรู้ด้านมนุษยศาสตร์ และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เพื่อดำรงคุณค่าและเพิ่มมูลค่าด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่

นอกจากนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ยังได้มีการต่อยอดนำความรู้ในการสร้างโลกเสมือนจริงช่วยในการดำเนินกิจการในภาครัฐวิสาหกิจ ด้วยการพัฒนาระบบฝาแฝดดิจิทัลของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ณ เขื่อนท่าทุ่งนา ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรในเขื่อนตามนโยบายเข้าพัฒนาสู่ยุคดิจิทัลของหน่วยงาน ในโครงการนี้ได้สร้างแบบจำลองสามมิติของโรงไฟฟ้าครบถ้วน ทั้งพื้นที่ภายในและอาคารภายนอก รวมถึงชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่มีในโรงไฟฟ้าทั้งหมด ผลลัพธ์ของโครงงานเป็นประโยชน์เพื่อเตรียมความพร้อมในการนำหุ่นยนต์อัตโนมัติเข้ามาประยุกต์ใช้ในการดูแลโรงไฟฟ้า สามารถใช้ในการฝึกฝนบุคลากรให้มีทักษะในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังใช้สำหรับให้ความรู้กับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับวิศวกรรมเขื่อน และการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของเขื่อน โครงการนี้จึงเป็นตัวอย่างของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเมตาเวิร์สในภาคอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ

นอกจากนี้ ในมิติของสุขภาพในยุคเมตาเวิร์ส คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับ ศูนย์ดูแลสภาวะสมองเสื่อม (Dementia Day Center) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้บูรณาการนำเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน หรือ Virtual Reality (VR) มาประยุกต์ใช้กับงานด้านการแพทย์ ด้วยการสร้างเกมส์ในโลกเสมือนจริงสำหรับบำบัดผู้สูงวัยที่มีภาวะการรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย ให้สามารถชะลอการดำเนินของโรคภาวะการรู้คิดถดถอยที่นำไปสู่ภาวะสมองเสื่อมได้ในอนาคต โดยในเกมส์ได้มีการจำลองสถานการณ์เสมือนว่าผู้เล่นอยู่ในแปลงผักทำหน้าที่เก็บพืช ผัก และผลไม้ ตามคำเป้าหมายที่เกมส์กำหนด ซึ่งเป็นการฝึกทักษะการรู้คิดด้านความจำ (Memory) ให้กับผู้เล่น และทดสอบประสิทธิภาพการบำบัดการรู้คิด ซึ่งประเมินผลสัมฤทธิ์ของการฝึกการรู้คิดในรูปแบบของคะแนนที่ผู้เล่นได้รับ ทั้งนี้ จะได้มีการทดลองทดสอบกับอาสาสมัครภายใต้ความร่วมมือและดูแลอย่างใกล้ชิดของบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  สภากาชาดไทย

ในปัจจุบัน การสร้างเมตาเวิร์สเพื่อนำไปใช้ประโยชน์มีได้หลากหลายมิติ มีทั้งที่เป็นแพลตฟอร์มเมตาเวิร์สขนาดใหญ่ เช่น The Sandbox ที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก หรือจะเป็นเมตาเวิร์สที่มีขนาดเล็ก ๆ ขององค์กรหรือหน่วยงาน เช่น Chula-Metaverse เป็นที่ทราบดีว่า การพัฒนาแพลตฟอร์มเมตาเวิร์สจำเป็นต้องใช้การลงทุนมหาศาล และมีบุคลากรเฉพาะทางที่มีคุณภาพสูงจำนวนมาก

คณะวิศวกรรมศาสตร์ ตระหนักถึงความสำคัญของพัฒนาระบบเมตาเวิร์ส เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ จึงริเริ่มให้มีการโครงการ Chula Engineering สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ครอบคลุมองค์ความรู้หลากหลายมิติ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากรเฉพาะทางที่มีคุณภาพสามารถสร้างและทำงานในเชิงปฏิบัติได้ทันความต้องการ หนึ่งในรายวิชาที่น่าสนใจ คือ เทคโนโลยีเมตาเวิร์สและการประยุกต์ใช้ ที่เป็นหลักสูตรพื้นฐานสำหรับผู้สนใจ แต่ยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับเมตาเวิร์สให้มีความรู้ความสามารถขั้นพื้นฐาน และพร้อมต่อยอดไปสู่การสร้างเมตาเวิร์สที่มีขนาดใหญ่และมีความซับซ้อนเองได้ โดยการฝึกหัดลงมือปฏิบัติด้วยตนเองกับตัวอย่างเกมสามมิติ การสร้างอวาตาร์ การทำแอนิเมชัน การทำสคริปท์เพื่อควบคุมและการโต้ตอบ นอกจากนี้ จะได้เรียนรู้การสร้างเมตาเวิร์สขนาดจิ๋วที่มีผู้เล่นหลายรายได้ รวมถึงสามารถพูดคุยผ่านวิดีโอกับเพื่อน

 

RANDOM

สมาคมกีฬาคิกบ็อกซิ่งฯ ลุยเต็มสูบ เร่งพัฒนาตั้งแต่รากหญ้าเฟ้นหาช้างเผือกเสริมทัพทีมชาติไทย ยกทัพจัดทัวร์นาเมนต์คิกบ็อกซิ่งชิงแชมป์ประเทศไทย สนามที่้ 2 ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลขอนแก่น

อพวช. ชวนนักวิทย์ นักคิด นักวิจัย มาร่วมถ่ายทอดเรื่องราว ความประทับใจ ความงามที่เกิดขึ้นในงานด้านวิทยาศาสตร์ ผ่านการประกวดภาพทางวิทยาศาสตร์ Image of Science “วิจิตร วิจัย” ประจำปี 2567 ชิงเงินรางวัลรวม 50,000 บาท หมดเขตสมัครและส่งผลงาน 31 ก.ค. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!