ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายโชติ โสภณพนิช ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะไทย , นายรณภพ ปัทมะดิษ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ลงพื้นที่ตรวจติดตามความก้าวหน้า โครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน Science Technology Innovation (STI) : Smart Intensive Farm ณ โรงเรียนห้วยสักวิทยาคม จังหวัดเชียงราย
ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ดำเนินโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน โดยเน้นการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบ STEAM Education ที่บูรณาการรายวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ คณิตศาสตร์ และ Coding กับการทำเกษตรแบบประณีตในโรงเรียน
“โดยมีเป้าหมายเพื่อให้นักเรียนเกิดทักษะ สามารถนำองค์ความรู้มาสู่การปฏิบัติและต่อยอดในการประกอบอาชีพ ก่อให้เกิดรายได้ภายในโรงเรียน นำไปสู่การผลักดันให้เกิดการยกระดับกระบวนการผลิต และคุณภาพสินค้าภาคเกษตร ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน สู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ”
เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา โครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และ ในปีการศึกษา 2565 สพฐ. จึงได้ขยายผลโครงการไปสู่โรงเรียนในสังกัดเพิ่มอีก จำนวน 346 โรงเรียน แบ่งออกเป็นโรงเรียนประถมศึกษา 237 โรงเรียน และโรงเรียนมัธยมศึกษา 109 โรงเรียน พร้อมทั้งจัดการประชุมเชิงปฏิบัติปฐมนิเทศโรงเรียนที่ผ่านการคัดเลือก เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ในรูปแบบออนไลน์ ให้แก่ผู้บริหารและคณะครูผู้รับผิดชอบโครงการ เพื่อสร้างความเข้าใจในวัตถุประสงค์ แนวทางการดำเนินงานตามโครงการ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน นายมงคล สิงห์ปัน ผู้อำนวยโรงเรียนห้วยสักวิทยาคม กล่าวว่า โรงเรียนห้วยสักวิทยาคม สังกัด สพม.เชียงราย เป็นโรงเรียนนำร่องของโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน ที่มีความโดดเด่นในการดำเนินโครงการ โดยใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นฐาน และยังมีความโดดเด่นทางวิชาการ โดยร่วมมือกับ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงราย ในการจัดกิจกรรมบริการวิชาการ ร่วมกันพัฒนาศักยภาพนักเรียนและครู ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อนำไปสู่การประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบของโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน ซึ่งส่งผลให้นักเรียนสามารถคิดวิเคราะห์ และลงมือปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
อีกทั้ง ยังเป็นการส่งเสริมต้นแบบการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ ในการพัฒนาการเรียนรู้ของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงราย และโรงเรียนมัธยมศึกษาอื่น ๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ และร่วมกันสร้างพลังในการส่งเสริมการใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวัน และการประกอบอาชีพมากขึ้น ภายใต้ การสนับสนุนของศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดเชียงราย (เกษตรที่สูง) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดเชียงราย สำนักงานประมงจังหวัดเชียงราย แหล่งการเรียนรู้และปราชญ์ชาวบ้าน ระหว่าง ตำบลห้วยสัก กับ ตำบลดอยลาน จังหวัดเชียงราย อีกด้วย
นอกจากนี้ โรงเรียนห้วยสักวิทยาคม ยังได้บูรณาการกิจกรรมโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน ร่วมกับ โครงการอารยเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอด ตามรอยพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ด้วย “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” ได้เป็นอย่างดี แสดงให้เห็นว่า การจัดกิจกรรมทั้ง 2 โครงการ ก่อให้เกิดการทำงานที่มีการบูรณาการ มีความเข้มแข็งทางวิชาการ ส่งผลให้เกิดความสำเร็จอย่างยั่งยืนต่อไป
ทางด้าน ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การขับเคลื่อนโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้นักเรียนได้ใช้ Coding และ STI มาบูรณาการให้สำเร็จผลทางการเกษตร ร่วมกับ มหาวิทยาลัย โรงเรียน ปราชญ์ชาวบ้าน ชุมชน องค์กรต่าง ๆ จึงขอขอบคุณทุกความร่วมมือในครั้งนี้ ที่ทำให้เกิดการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผล คิดเชิงคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ กล้าตัดสินใจลงมือทำ ทำผิดทำใหม่ และอ่านเขียนอย่างมีวิจารณญาณ
โครงการนี้สามารถสร้างประโยชน์ในการเรียนการสอนด้านสังคม ด้วยการดำเนินการ 5 ขั้นตอน เพื่อเรียนรู้พื้นฐานของพื้นที่ ก่อนนำไปสู่การแก้ปัญหาผ่านการคิดวิเคราะห์แบบ Coding จนค้นพบวิธีต่าง ๆ ในการแก้ปัญหา ถือเป็นการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด แม้จะใช้เวลา 5-6 เดือนก็ตาม แสดงให้เห็นว่า เมื่อใช้ Coding และ STI ในการแก้ปัญหาและมีแนวคิดต่อยอดสร้างสรรค์ จะทำให้แก้ปัญหาถูกจุด ตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ได้