คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา แนะรัฐเร่งปรับปรุง “นโยบายเรียนฟรี” เพิ่มโอกาสเรียนฟรีช่วงอนุบาลและมัธยมปลาย ลดจำนวนนักเรียนหลุดจากระบบ

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

เมื่อเร็ว ๆ นี้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดเสวนาในหัวข้อ ถึงเวลาแล้วหรือยัง “ปฏิรูปนโยบายเรียนฟรี” โดย รศ.ดร.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอผลการศึกษานโยบายเรียนฟรี 15 ปี ระบุว่า ตลอดเวลาการดำเนินนโยบายประมาณ 13-14 ปีที่ผ่านมาพบว่า การสนับสนุนงบประมาณให้โรงเรียนอาจจะยังไม่เพียงพอ เนื่องจากนโยบายเรียนฟรี 15 ปี โรงเรียนจะได้รับเงินอุดหนุนค่ารายหัว เพื่อดำเนินการทั้งในเรื่องค่าอุปกรณ์การเรียนการสอน ค่าจัดการเรียนการสอน และค่ากิจกรรม

“เมื่องบประมาณจัดสรรตามรายหัวนักเรียน ทำให้โรงเรียนต้องหานักเรียนเข้ามาเรียน เพื่อให้ได้เงินอุดหนุนหล่อเลี้ยงโรงเรียน จึงเป็นเรื่องน่าเศร้าเมื่อเห็นข่าวคุณครูโดดตึก เพราะไม่สามารถดึงนักเรียนเข้ามาเรียนได้ตามเป้าหมายได้”

รศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าวว่า ผลการศึกษาของสภาการศึกษา พบว่า การจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอ แม้งบประมาณที่สนับสนุนในปี 2564 จะมากถึง 7.6 หมื่นล้านบาท โดยกระจายให้ทั้งโรงเรียนรัฐและเอกชน แต่พบว่า งบสนับสนุนการดำเนินการของโรงเรียนก็ไม่เพียงพอ เช่น ค่าจัดการเรียนการสอน ค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เนื่องจากค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ปรับเพิ่มตามภาวะเศรษฐกิจ ทำให้พบว่า ผู้ปกครองยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทั้ง ค่าอุปกรณ์ ค่าเครื่องแบบ

นอกจากนี้ ยังพบว่า ช่องว่างนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ไม่คครอบคลุมการเรียนการสอนก่อนเข้าเรียนอนุบาล และระดับมัธยมปลาย ทำให้ในช่วง 2-3 ปี มีนักเรียนด้อยโอกาส ต้องหลุดออกนอกระบบการศึกษานับแสนคน เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้ยากจน และไม่ได้รับเงินอุดหนุน เห็นได้จากข่าว นักเรียนฆ่าตัวตายที่จังหวัดสงขลา เพราะไม่มีเงินเรียนต่อ เนื่องจากนโยบายเรียนฟรี ไม่ครอบคลุมการเรียนระดับมัธยมปลาย แม้ว่ารัฐจะมีเงินกู้จาก กยศ. แต่ส่วนใหญ่นักเรียนไม่ชอบกู้ และการกู้ต้องรอนาน 3-4 เดือน ทำให้ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพจริงที่เกิดขึ้น

รศ.ดร.ชัยยุทธ เสนอให้ปรับแก้นโยบายเรียนฟรี ใน 2 แนวทาง คือ แนวทางที่ 1 เป็นการขยายกลุ่มเป้าหมายในโครงการเรียนฟรี 15 ปี ให้จัดสรรเป็นรายบุคคล โดยเพิ่มระดับอนุบาล ในอัตรา 1,000 บาท ต่อคน รวม 240,553 คน ใช้งบประมาณ 240 ล้านบาท และระดับม.ปลาย เฉพาะนักเรียนยากจนพิเศษ ม.4 หัวละ 9,000 บาท รวม 28,382 คน ใช้งบประมาณ 255 ล้านบาท ซึ่งเดิมจัดสรรเฉพาะระดับประถมศึกษา ถึง มัธยมต้นเท่านั้น และ แนวทางที่ 2 เป็นการปรับอัตราอุดหนุนระดับ ม.ต้น เป็น 4,000 บาทต่อคน รวม 584,620 คน ใช้งบประมาณ 2,338 ล้านบาท จากเดิมอุดหนุนรายละ 3,000 บาทต่อปี

“การปรับเพิ่มอัตราอุดหนุนให้เพียงพอสำหรับโรงเรียนเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งแน่นอนว่าหากปรับเพิ่มทุกส่วนอาจต้องใช้งบประมาณจำนวมาก อยากให้พิจารณาโรงเรียนขนาดกลาง ขนาดเล็ก ที่มีปัญหาในการจัดสรรงบระมาณเพิ่ม เนื่องจากปัจจุบันมีเด็กที่ตกหล่นหรือหลุดออกจากระบบการศึกษานับแสนคน และภาวะเรียนรู้ถดถอยลงเรื่อย ๆ”

เงินอุดหนุนไม่สอดคล้องภาวะค่าครองชีพจริง “รองศาสตราจารย์ วรากรณ์ สามโกเศศ” ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า ที่ผ่านมา คณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาได้พยายามแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพราะถือเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนประเทศ แต่ก็พบว่า นโยบายเรียนฟรี 15 ปี เงินอุดหนุนยังไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายจริงของผู้ปกครอง

อัตราเงินอุดหนุนที่ช่วยเหลือนักเรียนระดับประถมศึกษา-มัธยมศึกษาตอนต้น ยังคงเป็นอัตราเดิมที่ไม่มีการปรับมาเป็นเวลากว่า 13 ปี นักเรียนประถมศึกษา ได้รับ 1,000 บาทต่อคนต่อปี หรือวันละ 5 บาท นักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น 3,000 บาทต่อคนต่อปี หรือวันละ 15 บาท ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบันที่เพิ่มสูงขึ้น และในปี 2565 นี้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะสูงถึง 4-5% จากสภาพปัญหาดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อเด็กกลุ่มเสี่ยงกว่า 2.4 ล้านคน ซึ่งอยู่กับครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าเส้นความยากจนของสภาพัฒน์ฯ ที่ 2,700 บาทต่อคน/เดือน และมีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ พบว่า ยังมีช่องว่างในช่วงการเรียนการสอนก่อนประถม คือ ช่วงอายุระหว่าง 0-6ปี ซึ่งมีความสำคัญมากต่อพัฒนาการเรียนรู้ โดยมีงานวิจัยจำนวนมาก ที่ระบุว่า การลงทุนกับเด็กวัย 0-6 ขวบ จะได้ได้ผลผลัพธ์มากถึง 13-14 % ดังนั้น ถ้าเราต้องการเด็กที่มีคุณภาพจึงควรจะหันกลับมามองเด็กกลุ่มนี้ นอกจากนี้ ควรจะขยายนโยบายการเรียนฟรีให้กับมัธยมปลาย ซึ่งรวมถึงเด็กที่เข้าเรียนสายอาชีวะ เพราะที่ผ่านมาพบว่า นโยบายนี้ไม่ได้ทำให้คนเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษามากขึ้น เนื่องจากสะพานเชื่อมระหว่างการเรียนมัธยมไปสู่อุดมศึกษาขาดลง

“เราลงทุนด้านอุดมศึกษาประมาณแสนล้านบาท แต่เรามีนักเรียนที่เข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาเพียง 30 % ขณะที่อีก 70 %ไปไม่ถึงมัธยมปลาย กลายเป็นว่าการลงทุนของเราอาจะสูญเปล่า เพราะมีนักเรียนไม่มีเงินเรียนมัธยมปลาย ไม่สามารถข้ามสะพานไปใช้ประโยชน์จากแสนล้านบาท การอุดหนุนการเรียนในระดับอุดมศึกษาได้ เนื่องจากสะพานขาดในช่วงมัธยมปลาย”

รองศาสตราจารย์ วรากรณ์ กล่าวว่า ถึงเวลาปฏิรูปการศึกษา โดยการขยายการเรียนภาคบังคับจาก 9 ปี ให้เป็น 12 ปี เหมือนในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ โดยขยายการเรียนฟรี ให้ครอบคลุมในส่วนที่เป็นช่องว่าง คือ ระดับก่อนอนุบาล และมัธยมปลาย เพื่อให้เด็กอยู่ในระบบการศึกษาได้นานขึ้น

ขอบคุณข้อมูลจาก กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

 

RANDOM

ข้อสอบครูผู้ช่วย แย่! นักวิชาการการศึกษาชี้ เห็นข้อสอบออกมาแล้วน่าห่วง หวังให้คนสอบแค่ท่องจำ แทนที่จะสร้างสรรค์กว่านี้ วอนกระทรวงศึกษา และผู้เกี่ยวข้องช่วยพิจารณาแก้ไข

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!