สอศ. ติดตามผลการฝึกงานและการนำเสนอ Final Year Project หลักสูตรปวส. (ต่อเนื่อง 5 ปี) มาตรฐาน KOSEN

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

ดร.นิติ นาชิต ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ รักษาการในตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาธุรกิจและบริการ เป็นประธานเปิดการประชุมสรุปผลและรับฟังการรายงานผลการฝึกงานครูพี่เลี้ยง และนักศึกษาชั้นปีที่ 4 และการนำเสนอหัวข้อ Final Year Project นักศึกษาชั้นปีที่ 5 ของ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) และ วิทยาลัยเทคนิคสุรนารี ร่วมกับ สถาบัน NIT (KOSEN), NAGANO College ประเทศญี่ปุ่น ในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ต่อเนื่อง 5 ปี ตามมาตรฐาน KOSEN ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 – 7 มิถุนายน 2565 ณ สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา โดยมี ดร.โทกิตะ มาซาโทชิ (Dr.Tokita Masatoshi) ผอ.สำนักงานประสานงานในประเทศไทย ของ National Institute of Technology (NIT) ประเทศญี่ปุ่น เข้ารับฟังและให้ข้อเสนอแนะ พร้อมด้วยอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่น เข้าร่วมรับฟังและให้ข้อแนะนำทางระบบออนไลน์

ดร.นิติ นาชิต ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาธุรกิจและบริการ เปิดเผยว่า การจัดการประชุมฯ ในครั้งนี้ มุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนให้มีประสบการณ์ในการทำงานในสถานประกอบการจริง และเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ภาคแรงงานในสถานประกอบการ ซึ่งการประชุมดังกล่าวจัดขึ้น 2 วัน โดยวันแรก จะเป็นการประชุมสรุปผลและรับฟังการรายงานผลการฝึกงานของครูพี่เลี้ยง และนักศึกษาชั้นปีที่ 4 จาก สาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ (สาขางานเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์) วิทยาลัยเทคนิคสุรนารี จำนวน 13 คน และสาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (สาขางานหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม) วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) จำนวน 19 คน ที่ได้เข้ารับการฝึกประสบการณ์วิชาชีพในสถานประกอบการ เป็นเวลา 2 เดือน โดยมีสถานประกอบการที่รับนักศึกษาเข้าฝึกงาน ได้แก่ บริษัท โตคูมิ อิเล็กทรอนิคส์ ไทย จำกัด, บริษัท เทนคิง (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท มินิแบ ไทย จำกัด, บริษัท โคราช มัตซึชิตะ จำกัด, บริษัท เอ็น เค เม็คคาทรอนิกส์ จำกัด, บริษัท ฮิราโอกะ ไทยแลนด์ จำกัด, บริษัท Daikin (Thailand) Ltd., บริษัท ไทยนิปปอนเซอิกิ จำกัด, บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด, บริษัท วาลีโอ คอมฟอร์ท แอนด์ ไดร์ฟวิ่ง แอสซิสแทนซ์ ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ซูมิโน อาปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด

และในวันที่สอง จะเป็นการรับฟังการนำเสนอหัวข้อ Final Year Project ของนักศึกษาชั้นปีที่ 5 ร่วมกับ สถาบัน NIT (KOSEN),NAGANO COLLEGE, JAPAN ของ หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ต่อเนื่อง 5 ปี) ตามมาตรฐาน KOSEN ซึ่งหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) พุทธศักราช 2563 ของ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กำหนดให้นักเรียน นักศึกษา เสนอและจัดทำโครงงานวิชาชีพก่อนจบหลักสูตรการศึกษา ในระดับ ปวส. โดยมี สมาชิกไม่เกิน 2 คน ต่อ 1 โครงงาน เมื่อนักศึกษาได้พิจารณาศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ของโครงงาน และตัดสินใจเลือกหัวข้อโครงงานเสร็จเรียบร้อย จึงเริ่มเขียนข้อมูลโครงงาน เสนออาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานให้ความเห็นชอบ โดยการเลือกโครงงานนั้น ควรคำนึงถึงความถนัด ความชอบ ความสนใจของสมาชิกในกลุ่มเป็นสำคัญ โดยในงานจะเป็นการนำเสนอหัวข้อโครงงานของนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ต่อเนื่อง 5 ปี) ตามมาตรฐาน KOSEN ชั้นปีที่ 5 โดยมีโครงงานที่นำเสนอ ดังนี้ วิทยาลัยเทคนิคสุรนารี ได้แก่ 1. หุ่นยนต์เก็บข้อมูลผู้ป่วย 2. การออกแบบและศึกษาเครื่องบรรจุของเหลวและปิดฝาอัตโนมัติ Liquid Filling Machine 3. โดรนตรวจจับวัตถุ 4. AI ตรวจจับวัตถุเพื่อคัดแยกวัสดุด้วยหุ่นยนต์แขนกล 5. หุ่นยนต์หยิบจับและคัดแยกสีกระป๋อง 6. หุ่นยนต์ลำเลียงสินค้า และ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) ได้แก่ 1. หุ่นยนต์ AGV ขนส่งชุดปฐมพยาบาล 2. ตู้ล็อกเกอร์อัจฉริยะควบคุมผ่านมือถือ 3. หุ่นยนต์ทำความสะอาดขั้นบันได 4. โปรแกรมรวบรวมข้อมูลผู้เดินทางสัญจร 5.หุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ 6. หุ่นยนต์ทำความสะอาดลู่วิ่งสาธารณะ 7. ชุดจำลองการคัดแยกชิ้นงานด้วยระบบ Image Processing 8.หุ่นยนต์ส่งของควบคุมผ่านโทรศัพท์มือถือ 9. แบบจำลองรถขนส่งอัตโนมัติ

ทั้งนี้ หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) (ต่อเนื่อง 5 ปี) เป็นหลักสูตรมาตรฐานสากลภายใต้ความร่วมมือกับ National Institute of Technology สถาบัน KOSEN (สถาบันโคเซ็น) ประเทศญี่ปุ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตกำลังคนคุณภาพตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และอุตสาหกรรมเป้าหมายเร่งด่วนของประเทศ โดยมี 2 สถานศึกษา 2 สาขาวิชา ที่ได้จัดการเรียนการสอนตามมาตรฐานดังกล่าว ได้แก่ สาขาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) และสาขาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคสุรนารี ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวนี้ เป็นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นการปฏิบัติจริง ผู้เรียนทุกคนต้องทำโครงการเกี่ยวกับการประดิษฐ์คิดค้นที่ใช้เทคโนโลยีของสาขาวิชาที่ตนเรียน หรือจัดทำชิ้นงานหรือกิจกรรมทางวิชาชีพ รวมถึงการจัดการและการให้บริการเพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้และประสบการณ์มาบูรณาการในการทำงานต่อไป

RANDOM

สาขาวิชาภาษาอังกฤษธุรกิจ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏอุดรธานี จัดการอบรมภาษาอังกฤษและการพัฒนาสื่อออนไลน์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับนักเรียนและประชาชนทั่วไป

อุตสาหกรรมเกษตร ม.เกษตรฯ รับสมัคร ‘อาจารย์ – นักวิชาการเงินและบัญชี’ ทั้งนี้ ตำแหน่ง อาจารย์ หมดเขตยื่นใบสมัคร 29 ธันวาคม 2566 และ ตำแหน่ง นักวิชาการเงินและบัญชี หมดเขตยื่นใบสมัคร 30 พฤศจิกายน 2566

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!