จุฬาฯ วิจัยอัตลักษณ์และทัศนคติชาวดิจิทัลไทย ช่วยลดช่องว่างระหว่างวัย เข้าใจอนาคตของชาติ

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

“มนุษย์ป้า” ถ้อยคำที่อาจสะเทือนใจใครหลายคน แต่สำหรับ รองศาสตราจารย์ ดร.จุลนี เทียนไทย ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คำสั้น ๆ นี้ช่วยเปิดพื้นที่การสนทนาระหว่างอาจารย์กับนิสิตเมื่อ 3 ปีก่อน จนทำให้ได้ร่างความคิดยาว 3-4 หน้ากระดาษ อันเป็นที่มาของงานวิจัย “การสร้างความเข้าใจในคุณลักษณะ พฤติกรรม และทัศนคติในอนาคตของชาวดิจิทัลไทย” ที่ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีมาก สาขาสังคมวิทยา ประจำปี 2565 จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

“ชาวดิจิทัลไทย คือ อนาคตของชาติ พวกเขาเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ เป็นทั้งกำลังคน เป็นผู้กำหนดทิศทางการเมือง ระบบการศึกษา ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม ชาวดิจิทัลไทยในปัจจุบันจะเป็นผู้ส่งผ่านแนวคิดและทัศนคติไปสู่คนรุ่นต่อไปในอนาคต” รศ.ดร.จุลนี เผยถึงความสำคัญของงานวิจัยชิ้นนี้

งานวิจัยชิ้นนี้ให้องค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับกระบวนการคิด ทัศนคติ พฤติกรรมของชาวดิจิทัลไทย ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยมีการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ในประเทศไทยมาก่อน

“พ่อแม่ผู้ปกครองจะได้เข้าใจลูกหลาน นายจ้างจะได้เข้าใจลูกน้องมากยิ่งขึ้น ครู อาจารย์ และสถาบันการศึกษาก็สามารถนำผลการวิจัยไปปรับรูปแบบและวิธีการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับผู้เรียนมากขึ้นด้วย” รศ.ดร.จุลนี ยกตัวอย่างแนวทางการนำงานวิจัยไปใช้ในมิติต่างๆ ของสังคม

งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัย จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และอยู่ภายใต้แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม “คนไทย 4.0” โดยได้รับความร่วมมือจากคณาจารย์ผู้ร่วมวิจัยจากสาขาต่าง ๆ อาทิ รัฐศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ ประชากรศาสตร์ ฯลฯ จากหลายสถาบัน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยนครพนม

กว่า 7 เดือน คณะผู้วิจัยลงภาคสนามทำวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลจากกลุ่มประชากรชาวดิจิทัลไทยวัย 13– 38 ปี จำนวนทั้งสิ้น 910 คน อยู่ใน 3 พื้นที่ คือ 1. กรุงเทพมหานคร (เขตชั้นใน เขตชั้นกลาง และเขตชั้นนอก) ซึ่งเป็นตัวแทนเมืองหลวง 2. จังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะเมืองหลัก และ 3. จังหวัดนครพนม ในฐานะเมืองรอง นอกจากนี้ ยังสัมภาษณ์ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ และนายจ้าง ซึ่งเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับชาวดิจิทัล เพื่อให้ได้ข้อมูลความคิดเห็นที่หลากหลาย

ชาวดิจิทัลไทยในงานวิจัยชิ้นนี้ ถูกจัดอยู่ในเจน Y และเจน Z มีอยู่ด้วยกัน 5 กลุ่ม คือ นักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย นิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ผู้ที่เริ่มเข้าสู่วัยทำงาน และผู้ที่อยู่ในวัยทำงานตอนกลาง คนกลุ่มนี้โดยเฉพาะกลุ่มเจน Z อายุระหว่าง 7 – 25 ปี เป็นกลุ่มที่เกิดและเติบโตพร้อมกับเทคโนโลยี ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ทั้งการเรียน การทำงาน ผ่านคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยในโลกยุคดิจิทัลอย่างยิ่ง”

เป้าหมายหลักในการวิจัย คือ การทำความเข้าใจอัตลักษณ์ของชาวดิจิทัลไทย ความรู้ ทักษะ  ทัศนคติที่จำเป็นในการเรียนการสอนและการทำงาน รวมถึงภาพอนาคต ความกลัว ความฝัน และความหวังในมุมมองของชาวดิจิทัลไทย ทั้งหมดนี้ผ่านกระบวนการวิจัยที่ใช้เทคนิควิธีหลากหลาย อาทิ แบบสอบถามสัมภาษณ์ (survey interview questionnaire) การรวบรวมคำศัพท์ (free-listing) การวาดภาพเชิงพรรณนา (pictorial ethnography) และการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง (semi-structured interview) ประเภทการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (in-depth interview) รวมไปถึง การวิจัยการสกัดและวิเคราะห์ข้อความออนไลน์ (online text extraction and analysis) จากทวิตเตอร์

“ประเด็นเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเข้าถึงและเข้าใจคนรุ่นใหม่ในสังคมไทย ผู้ซึ่งได้รับผลกระทบจากพัฒนาการทางเทคโนโลยีอย่างชัดเจน อีกทั้งสะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของพวกเขา โดยผ่านการนิยามตนเอง ซึ่งสามารถใช้เป็นข้อมูลสะท้อนกลับต่อสังคมถึงสิ่งที่ชาวดิจิทัลเห็นว่าเป็นความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของพวกเขาในปัจจุบันและในอนาคต เพื่อให้ผู้ใหญ่ คนต่างวัย หรือแม้แต่ผู้ที่มีบทบาทในการกำหนดนโยบายได้รับรู้และเข้าใจว่า ชาวดิจิทัลตีความหรือมีความคิดเห็นต่อสิ่งเหล่านี้อย่างไร ซึ่งจะมีความสำคัญต่อการดูแล พัฒนา และส่งเสริมการใช้ชีวิตให้กับคนกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษาหรือการทำงานก็ตาม”

การให้คำนิยาม “ชาวดิจิทัล” ที่พบเห็นกันโดยทั่วไป และในงานวิจัยในโลกตะวันตกนั้น มักยึดโยงกับช่วงอายุเป็นหลัก แต่ผลการวิจัยชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นเพิ่มเติมว่า “ความเป็นชาวดิจิทัลไทย” ไม่จำเป็นต้องยึดโยงกับอายุที่เป็นเพียงตัวเลข  “เพราะแต่ละบุคคลมีทั้งความเป็นรุ่นเก่าและรุ่นใหม่อยู่ในตัว” รศ.ดร.จุลนี กล่าวพร้อมสรุปคุณลักษณะสำคัญของชาวดิจิทัลไทย 3 ประการ ได้แก่

1. เป็นผู้ที่เปิดรับความคิดเห็นคนอื่น ยอมรับความแตกต่าง ยินดีปรับเปลี่ยน ไม่ยึดติดกับรูปแบบความคิดของตัวเอง
2. ใช้เทคโนโลยีเป็น ทั้งการทำงาน การพักผ่อน การติดต่อสื่อสาร ที่สำคัญ คือ รู้เท่าทันเทคโนโลยี เช่น ไม่ ส่งต่อข้อมูลที่เป็นเท็จ ข้อมูลที่ถูกบิดเบือน (Fake News)
3. มีไลฟ์สไตล์เป็นของตนเอง ไม่ยึดติดกับกรอบความคิดเดิม ๆ เช่น ชาวดิจิทัลไทยห่วงใยดูแลสุขภาพ  รู้จักการสร้างความสมดุลในการทำงานและชีวิตส่วนตัว (Work-Life Balance) มักกลัวการตกกระแส ชอบติดตามข่าวสารการเปลี่ยนแปลง มีความเข้าใจในการใช้ภาษาของวัยต่าง ๆ ในแต่ละกลุ่มคน

วิถีชีวิต หรือไลฟ์สไตล์ ของชาวดิจิทัลไม่ยึดติดกับกรอบหรือรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง คุณลักษณะเหล่านี้สามารถปรากฏได้ในประชากรทุกเพศทุกวัยเช่นกัน หรือที่เรียกได้ว่า Stay Young Forever นั่นเอง”

รศ.ดร.จุลนี อธิบายว่า “ชาวดิจิทัลทั้งในตะวันตกและไทยมีความรักในอิสรภาพ (freedom) แต่วิธีการตีความ “อิสรภาพ” หรือสถานการณ์ อาจมีความแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ชาวดิจิทัลไทยตีความ “อิสรภาพ” ว่าคือ การทำและตัดสินใจได้อย่างอิสระ ซึ่งกลับกลายเป็นว่า การมีโทรศัพท์มือถือเป็นทั้งเครื่องมือที่ช่วยสร้างความเป็นอิสระ แต่ในขณะเดียวกันก็ริดรอนอิสระด้วย เพราะใช้มือถือในลักษณะที่เราเองต้องตกเป็นทาส หรือขาดสิ่งนี้ไม่ได้ เป็นต้น”

อีกหนึ่งคุณลักษณะเด่นของชาวดิจิทัลไทย คือ การแสดงอารมณ์ขัน หรือความตลกปนการล้อเลียน ที่ผสมกลมกลืนกับเรื่องราว หรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกความเป็นจริงและโลกเสมือนจริง (ออนไลน์) นอกจากนี้ ยังมีลักษณะความมั่นใจที่ปะปนกับความไม่มั่นใจในตัวเอง

“ในเรื่องนี้ ยกตัวอย่างชาวดิจิทัลไทยชอบ selfie โพสต์รูปตัวเอง โพสต์สิ่งต่าง ๆ เพื่อแสดงความโดดเด่นแตกต่าง แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่อยากที่จะแตกต่าง กลัวตกกระแส ซึ่งแสดงว่ามีความมั่นใจที่ซ่อนความไม่มั่นใจเอาไว้อยู่ เป็นต้น”

ในบริบทสังคมไทยที่ก้าวเข้าสู่ความเป็นสังคมสูงอายุ (Aging Society) อย่างสมบูรณ์ ประชากรสูงวัยเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ช่องว่างระหว่างวัยก็ดูจะถ่างและห่างขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ว่า ชาวดิจิทัลไทยยังให้คุณค่ากับความสัมพันธ์ในครอบครัว และเห็นช่องทางการลดช่องว่างระหว่างวัยในครอบครัวด้วยเทคโนโลยี

“สถาบันครอบครัวมีบทบาทสูงมากในสังคมไทย ชาวดิจิทัลไทยยังคงยึดโยงกับครอบครัว ซึ่งปัจจุบันเชื่อมกันได้ด้วยเทคโนโลยี ชาวดิจิทัลไทยสามารถสอนให้ผู้ใหญ่และผู้สูงวัยในครอบครัวใช้อุปกรณ์เทคโนโลยี และสอนให้ใช้การสื่อสารผ่านสื่อสมัยใหม่ เช่น Facebook หรือ LINE ที่จะเป็นช่องทางเชื่อมต่อคนระหว่างวัยและสร้างความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว”

ผลงานวิจัยเรื่องนี้เป็นองค์ความรู้ใหม่ที่มีคุณค่าตั้งแต่ระดับครอบครัว องค์กรภาครัฐและเอกชน ไปจนถึงการวางแผนเชิงนโยบายระดับประเทศ โดยเฉพาะในแวดวงการศึกษาเรียนรู้

ชาวดิจิทัลไม่ยึดติดกับการเรียนในสถาบันการศึกษาอย่างที่เคยเป็นมา พื้นที่ของการเรียนรู้ชาวดิจิทัลขยายขอบเขตครอบคลุมทั้งพื้นที่ทางกายภาพเดิม และพื้นที่บนโลกออนไลน์ ซึ่งทั้งหมดนั้นมีผลต่อทักษะ วิธีคิด  ตลอดจนพฤติกรรมของพวกเขา

“วิถีชีวิตของชาวดิจิทัลรุ่นใหม่นั้นรวดเร็ว การรับรู้ข่าวสารสามารถทำได้มากกว่าหนึ่งทางในเวลาเดียวกัน การทำให้สั้นและกระชับเป็นสิ่งชาวดิจิทัลรุ่นใหม่ต้องการ สำหรับชาวดิจิทัล ครูไม่ใช่ผู้ให้ความรู้ หรือศูนย์กลางของข้อมูลอีกต่อไป แต่เป็นผู้กระตุ้นการเรียนรู้ผ่านการใช้สื่อการสอนรูปแบบต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นกระบวนการคิดของผู้เรียนเป็นหลัก” รศ.ดร.จุลนี กล่าวในที่สุด

ผู้สนใจสามารถติดตามผลการวิจัยเรื่อง “การสร้างความเข้าใจในคุณลักษณะ พฤติกรรมและทัศนคติในอนาคตของชาวดิจิทัลไทย” เพิ่มเติมในรูปแบบ E-book ได้ที่เว็บไซต์แผนงานคนไทย 4.0 https://www.khonthai4-0.net/content_detail.php?id=77

RANDOM

กองทุนกีฬาเปิดทางฝ่ายพัฒนากีฬาเป็นเลิศ “ลดขั้นตอนให้สมาคมกีฬาเบิกงบ” แล้ว ด้าน”รองชุม” ระบุถึงจะช่วยแล้วแต่สมาคมต้องจัดการงานตัวเอง 28 เม.ย.66 ให้ยืนยันแผนงาน ไม่อย่างนั้นอาจจะมีปัญหา!!

NEWS

สสส. ร่วมกับ สคล. เชิญชวนโรงเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “มารู้จักเจ้าชายภูมิพลกันเถอะ” ดาวน์โหลดรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ ‘โรงเรียนคำพ่อสอน.com’ พร้อมรับเกียรติบัตรจากทางโครงการฯ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกวดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “ASEAN-IPR Cybersecurity Youth Essay Competition” ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-IPR Regional Conference on Cybersecurity และมีโอกาสนำเสนอเรียงความในที่ประชุมดังกล่าว สมัครด่วน หมดเขต 22 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!