เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 65 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานปิดการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 (การศึกษา 2030) ครั้งที่ 2 (APREMC II) ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ
การประชุม APREMC-II ในปี 2565 ครั้งนี้ เป็นเวทีร่วมกันวิเคราะห์ความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 ด้านการศึกษาที่มีคุณภาพและครอบคลุม ภายหลังผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งก่อให้เกิดความผันผวนที่คาดการณ์ไม่ได้ และมีผลกระทบต่อการศึกษา ทั้งในระดับโลกและภูมิภาค รวมถึงผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา และสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดีของผู้เรียน
ในส่วนของประเทศไทย รมว.ศึกษาธิการ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการด้านการศึกษา เช่น การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล, การให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษา ภายใต้ศูนย์ “MOE Safety Center”, การเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เด็ก เยาวชน และประชาชน ภายใต้โครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” เพื่อค้นหา ติดตามเด็กตกหล่น และออกกลางคัน กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา, โครงการ “อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” เพื่อให้ผู้เรียนที่ขาดโอกาส ได้เรียนฟรี มีที่พักมาตรฐาน เป็นต้น
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า กระทรวงศึกษาธิการมีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการจัดการประชุม APREMC II โดยมีความมุ่งมั่นรับมือกับวิกฤตการเรียนรู้ที่จะทำให้ผู้เรียนทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ซึ่งประเทศไทยพร้อมร่วมมือกับ สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ และหุ้นส่วนในภาคการศึกษา รวมถึงประเทศสมาชิกอื่น ๆ เพื่อทำให้การศึกษามีคุณภาพที่ดีขึ้น และมีความเสมอภาคสำหรับประชาชนทุกคน ตลอดจนขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จาก ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่มาร่วมกันแบ่งปันประสบการณ์ ความรู้ความเข้าใจในระหว่างการประชุมครั้งนี้ ทั้งในระบบออฟไลน์และออนไลน์
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านความร่วมมือระหว่างกัน โดยจัดทำและให้การรับรองถ้อยแถลงกรุงเทพฯ ปี พ.ศ. 2565 โดยผลของการจัดทำถ้อยแถลงดังกล่าว จะนำไปเสนอต่อที่ประชุมระดับสูง เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 ต่อไป
ทั้งนี้ ประเทศไทยและหุ้นส่วนมั่นใจว่า ด้วยพลังของการร่วมมือ ประกอบกับความมุ่งมั่นของรัฐมนตรีศึกษาและหุ้นส่วนด้านการศึกษาทั้งหลายที่ได้ร่วมประชุมในครั้งนี้ จะเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้การศึกษามุ่งไปสู่การส่งเสริมผลลัพธ์ในเชิงบวกสำหรับทุกคน อันจะเป็นผลดีต่อภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก