หลังจากเปิดเสรีกัญชา ผลลัพธ์ที่ตามมายังไม่ชัดเจน หลายหน่วยงานเริ่มวิตกกังวลว่า จะเกิดการมอมเมาเป็นกลุ่มก้อน หากใช้กัญชาไปในทางที่ผิด ไม่เว้นแม้แต่ กระทรวงศึกษาธิการ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงประเด็นการปลดล็อกกัญชา กัญชง ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 จนเป็นที่กังวลของหลายฝ่าย เกรงว่าผลิตภัณฑ์กัญชงและกัญชา จะแพร่เข้าไปยังสถานศึกษาได้ง่าย ทาง ศธ. มีความเป็นห่วงนักเรียนในประเด็นนี้เช่นกัน การกำกับดูแลสถานศึกษาจะใช้กฎระเบียบเดียวกับข้อห้ามเรื่องสิ่งเสพติดในโรงเรียน โดยยืนยันว่า โรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทุกแห่ง จะต้องเป็นโรงเรียนที่ปลอดกัญชา และจะต้องเร่งสร้างความเข้าใจในเรื่องของกัญชาว่ามีผลดีและผลเสียอย่างไร ต้องให้ความรู้ทั้งครูและนักเรียน ทั้งนี้ เบื้องต้นจะไปหารือร่วมกับ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อขอข้อมูลเรื่องกัญชาว่าข้อดีข้อเสียในการใช้เป็นอย่างไร และหากนำไปแปรรูปใส่ในอาหารจะส่งผลกระทบอะไรต่อร่างกายหรือไม่ เพราะเท่าที่ทราบข้อมูลมาพบว่า ขณะนี้มีการแปรรูปกัญชาในอาหารมากขึ้น เช่น คุ้กกี้ ขนมเบอเกอรี่ น้ำผลไม้ต่าง ๆ เป็นต้น และยังพบว่ามีประชาชนเสียชีวิตจากการใช้กัญชาแล้วแพ้มาแล้ว 1 ราย ดังนั้น ต้องเร่งทำความใจในประเด็นนี้อย่างเร่งด่วน
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า หลังจากหารือร่วมกับ กรมอนามัย เรียบร้อยแล้ว จะมอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ออกหนังสือสั่งการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ให้ดูแลเข้มงวดเรื่องกัญชาเสรีในสถานศึกษาอย่างใกล้ชิด และจะไม่อนุญาตให้มีการใช้กัญชาในสถานศึกษาอย่างแน่นอน สำหรับการนำมาประกอบอาหารยังไม่เคยมีแนวปฎิบัติแบบนี้มาก่อน จะต้องมีมาตรการรองรับในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ขอไปศึกษารายละเอียดก่อน อย่างไรก็ตาม แม้จะเปิดเสรีกัญชาแล้วก็จริง แต่ยังอนุญาตให้ใช้ในทางการแพทย์เท่านั้น