สอศ. ผนึกกำลังภาคเอกชน สร้างเกษตรกรนักพัฒนายุคใหม่ มีความรู้ เท่าทันเทคโนโลยี หนุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการพัฒนาโมเดลการศึกษาด้านเกษตรอัจฉริยะ (STEM Career Academies – Smart Agriculture) ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กับ ศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กลุ่มมิตรผล และ บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด โดยมี ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นางพรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการศูนย์ SEAMEO STEM-ED ศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นายชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มมิตรผล และนางสาวพนัญญา เจริญสวัสดิ์พงศ์ ผู้เริ่มก่อตั้งและผู้บริหารด้านธุรกิจ บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลง ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า “กระทรวงศึกษาธิการ ตระหนักดีว่า การเกษตรสมัยใหม่ คือ อนาคตของประเทศ และพร้อมให้การสนับสนุนการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ความสามารถ เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกและเทคโนโลยี เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต พร้อมทั้งส่งเสริมองค์ความรู้ด้าน Smart Agriculture พร้อมยกระดับมาตรฐานบุคลากรด้านการเกษตร ตามนโยบายที่ต้องการยกระดับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี เพื่อรองรับการเติบโตของกลุ่มอาชีพอุตสาหกรรม S-Curve ในภาคการเกษตรให้สอดคล้องกับสังคมโลกในศตวรรษที่ 21”

ทั้งนี้ การส่งเสริมทักษะอาชีพสาขาการเกษตร เพื่อปั้นเกษตรกรนักพัฒนารุ่นใหม่ ผ่านการต่อยอดองค์ความรู้ Smart Agriculture เป็นโมเดลออกไปในระดับประเทศ สามารถนำไปต่อยอดปฏิบัติได้จริงในพื้นที่ โดยการส่งมอบองค์ความรู้ดังกล่าว จะช่วยเพิ่มศักยภาพเชิงเกษตรกรรมของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะเกษตรอัจฉริยะขั้นสูง กลับมาพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ และขยายผลองค์ความรู้สู่ระดับประเทศ

ด้าน ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีศึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า “การส่งเสริมโอกาส พัฒนาศักยภาพผู้เรียนการอาชีวศึกษา การฝึกอบรมวิชาชีพระดับฝีมือ เทคนิคและเทคโนโลยี เพื่อยกระดับให้ผู้เรียนอาชีวศึกษามีคุณภาพได้มาตรฐานสากล เป็นภารกิจหลัก ของ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในการขับเคลื่อนผลิตและพัฒนากำลังอาชีวศึกษา ให้ผู้เรียนมีทักษะ และคุณลักษณะที่ตอบสนองต่อความต้องการของภาคส่วนต่าง ๆ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ดังนั้น การผสมผสานนวัตกรรมเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง มุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าทางการเกษตรอย่างยั่งยืน ด้วยการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตอบโจทย์ภาคการผลิตเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวต่ออีกว่า ความสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture) ซึ่งเป็นนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมทักษะด้านสะเต็มที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญของการต่อยอดทักษะกระบวนการคิดเชิงนวัตกรรมให้กับสถานศึกษา และเยาวชนรุ่นใหม่ ได้ศึกษาวิธีการนำเทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับเกษตรกร ทั้งนี้ ขอขอบคุณ หน่วยงานและภาคีเครือข่ายภายใต้ความร่วมมือที่มอบนวัตกรรมเพื่อการเกษตร แก่ “วิทยาลัยเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมชั้นสูงขอนแก่น” เพื่อเป็นโมเดลนำร่องสู่การสร้างเกษตรกรนักพัฒนายุคใหม่ ต่อยอดองค์ความรู้ซึ่งเป็นนวัตกรรม และการสร้างกระบวนการคิดนวัตกรรม จึงเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาศักยภาพให้กับครู บุคลากร และผู้เรียน เพื่อยกระดับการเรียนรู้ เพิ่มสมรรถนะ ขีดความสามารถ พัฒนาอาชีวศึกษาสู่ความเป็นเลิศ สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ ศึกษาวิธีการนำเทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับเกษตรกรมากขึ้น

ขณะที่ นายชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด ได้กล่าวถึงความมุ่งมั่นของเชฟรอนในการยกระดับองค์ความรู้ด้านการเกษตรว่า “เชฟรอน ในฐานะหนึ่งในบริษัทพลังงานระดับโลก เราเชื่อว่าองค์ความรู้และทักษะด้านสะเต็มศึกษาเป็นรากฐานการศึกษาที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจนวัตกรรมของประเทศได้ โดย “เกษตรอัจฉริยะ” เป็นหนึ่งในสาขาอาชีพในโครงการ สะเต็มศึกษาสู่โลกอาชีพ “STEM Career Academies” ที่มุ่งพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้เท่าทันโลก ผ่านการขับเคลื่อนการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับพันธมิตรชั้นนำทางด้านการเกษตร และองค์กรด้านการศึกษา อย่าง วิทยาลัยเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมชั้นสูงขอนแก่น ที่มุ่งสร้างบุคลากรที่มีความเป็นเลิศด้านเกษตร​อุตสาหกรรม และเป็นวิทยาลัยที่เน้นการพัฒนาองค์ความรู้ด้านเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture) อย่างแท้จริง โดยเราตั้งเป้าร่วมยกระดับโมเดลการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ของอาชีวศึกษาแบบองค์รวม พร้อมนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และทักษะทางเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ทางการปฏิบัติ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้เรียนอาชีวศึกษาด้านเกษตรอุตสาหกรรมสมัยใหม่ โดยมีเป้าหมายขยายผลสัมฤทธิ์ของโครงการไปในวงกว้าง และนำไปเป็นแม่แบบให้องค์ความรู้ด้านเกษตรสมัยใหม่ทั่วประเทศ เพื่อขับเคลื่อนระบบการศึกษาด้านการเกษตรอัจฉริยะให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งสู่การแข่งขันระดับโลก”

ในการขับเคลื่อนโมเดลระบบการศึกษา เกิดจากการวางรากฐานสะเต็มศึกษา ภายใต้โครงการ “Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” ซึ่งเป็นความร่วมมือกับพันธมิตรภาครัฐและเอกชน ล่าสุด เชฟรอนได้สนับสนุน นวัตกรรมโดรนการเกษตรอัจฉริยะ พัฒนาโดย “เจ้าเอี้ยง โดรนเกษตร” ที่เกิดจากความร่วมมือของ บริษัท ไทย แอดวานซ์ อินโนเวชั่น จำกัด และ บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด (Varuna) ในเครือเออาร์วี (บริษัทย่อย ของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด มหาชน) มาใช้เป็นเครื่องมือส่งเสริมทักษะการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการแข่งขันของเกษตรกรไทย นอกจากนี้ ผู้เรียนยังได้มีโอกาสฝึกปฏิบัติจริงในไร่ของมิตรผล เพื่อเรียนรู้การทำไร่แบบโมเดิร์นฟาร์ม  (Modern Farm) ในพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อทำความเข้าใจกระบวนการทำงานภาคเกษตรอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร โดยมีบุคลากรด้านวิศวกร และการเกษตรจากกลุ่มมิตรผล มาถ่ายทอดองค์ความรู้สมัยใหม่ให้ผู้เรียนได้นำนวัตกรรมดังกล่าว ไปพัฒนาตอบโจทย์การเกษตรยุคใหม่สู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

ทางด้าน นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มมิตรผล กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า ในฐานะที่กลุ่มมิตรผลเป็นองค์กรที่มุ่งให้การสนับสนุนด้านพัฒนาบุคลากร และเกษตรกรชาวไร่อ้อย ให้มความรู้และพร้อมต่อยอดการประกอบอาชีพ เพื่อให้เป็นเกษตรสมัยใหม่ จึงได้ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ให้การสนับสนุน วิทยาลัยเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมชั้นสูงขอนแก่น เพื่อจัดทำหลักสูตรเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมสมัยใหม่ โดยในปี 2565 ได้เปิดสอนสาขาอากาศยานเพื่อการเกษตร (Aviation for Agriculture) ซึ่งเป็นหนึ่งในสาขาที่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ชั้นแนวหน้าแบบครบวงจรมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน โดยกลุ่มมิตรผล ให้การสนับสนุนการพัฒนาครู ครูฝึกในสถานประกอบการ และนักเรียน ในการลงพื้นที่ปฏิบัติจริงในไร่ของมิตรผล เพื่อเรียนรู้การทำไร่แบบโมเดิร์นฟาร์ม (Modern Farm) เพื่อช่วยพัฒนาทักษะในพื้นที่จริง เรียนรู้การใช้นวัตกรรมการจัดการไร่อ้อยยุคใหม่ รวมทั้งสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในการฝึกทักษะ สร้างสมรรถนะ เพื่อสร้างกำลังคนให้มีทักษะในการใช้อากาศยานไร้คนขับในงานเกษตรอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนและยกระดับการศึกษาของประเทศในอนาคต”

RANDOM

ม.รังสิต เชิญชวนน้อง ๆ ม.ปลาย ปวช. ปวส. สมัครร่วมกิจกรรม “Hospitality Camp กับ วิทยาลัยฮอสปิตอลลิตี้ ม.รังสิต” เปิดโลกธุรกิจบริการ ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมรับประกาศนียบัตรหลังจบงาน

NEWS

สสส. ร่วมกับ สคล. เชิญชวนโรงเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “มารู้จักเจ้าชายภูมิพลกันเถอะ” ดาวน์โหลดรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ ‘โรงเรียนคำพ่อสอน.com’ พร้อมรับเกียรติบัตรจากทางโครงการฯ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกวดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “ASEAN-IPR Cybersecurity Youth Essay Competition” ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-IPR Regional Conference on Cybersecurity และมีโอกาสนำเสนอเรียงความในที่ประชุมดังกล่าว สมัครด่วน หมดเขต 22 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!