ชีวิตต้องสู้ “กอล์ฟ-วิทวัส” ศิษย์เก่าวิศวะ มธ. (TSE) ต้นแบบเด็กกตัญญู เพื่อทุกคนในครอบครัว

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

“กอล์ฟ” นายวิทวัส รักชาติ ศิษย์เก่าจากภาควิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat School of Engineering) หรือ TSE เด็กหนุ่มจากครอบครัวธรรมดาที่มีอาชีพขายข้าวแกงถุงในตลาดจาก จ.ชลบุรี ปัจจุบันได้กลายเป็นต้นแบบการเรียน และการทำงานด้านวิศวกรรมให้กับรุ่นน้อง โดยกอล์ฟได้รับทุนธรรมศาสตร์ช้างเผือก เพื่อเข้าเรียนในภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ (Thammasat School of Engineering หรือ TSE) รุ่นที่ 21 ซึ่งในระหว่างเรียนยังได้รับทุนสนับสนุน จาก บริษัท นันทวัน จำกัด หรือ ไทย-โอบายาชิ คอปอร์เรชั่น (Thai Obayashi Corporation Limited) จนจบการศึกษา และได้เข้าทำงานในบริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่งในไทย 2 ปี ก่อนจะได้รับทุนการศึกษารัฐบาลญี่ปุ่น หรือ ทุนเม็กซ์ (Monbukagakusho : MEXT) เข้าเรียนต่อปริญญาโทสาขาวิศวกรรมเครื่องกล ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนางาโอกะ (Nagaoka University of Technology : NUT) หลังจากเรียนจบได้ทำงานต่อที่ญี่ปุ่น 3 ปี ก่อนตัดสินใจขอทุนเรียนต่อปริญญาโทอีกใบในสาขาวิทยาการข้อมูล (Data Science) ที่มหาวิทยาลัยกรีนวิซ (University of Greenwich) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ความสำเร็จจากรั้วธรรมศาสตร์

กอล์ฟ ได้เข้ามาเรียนที่ TSE เนื่องจากได้รับคัดเลือกในโครงการธรรมศาสตร์ช้างเผือก ของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองถนัด คือ คณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ ประกอบกับมีสิ่งที่สนใจที่ช่วยจุดประกายความสนใจด้านวิศวกรรมเครื่องกล คือ หุ่นยนต์ ASIMO ในยุคนั้น จึงมีความฝันว่า อยากเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างหุ่นยนต์ด้วยฝีมือของตนเอง และจุดนั้นเอง คือ หมุดหมายสำคัญด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่ส่งเสริมให้ กอล์ฟได้เรียนรู้และเติบโตบนเส้นทางนี้

โดยหลังจากเรียนจบปริญญาตรี ในปี 2557 กอล์ฟได้เข้าทำงานที่ บริษัท อีซูซุ ประเทศไทย จำกัด มีกำลังสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ แต่ด้วยความมุ่งมั่น ประกอบกับความสนใจเรื่องเครื่องยนต์กลไกที่มีมากขึ้น ทำให้อยากสานต่อความฝันของตัวเอง คือ การเรียนวิศวกรรมในเชิงลึกมากขึ้น จึงได้ปรึกษากับ รองศาสตราจารย์ ดร.ชาวสวน กาญจโนมัย อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล โดยท่านแนะนำว่า มีทุนของรัฐบาลญี่ปุ่น ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนางาโอกะ จึงตัดสินใจขอทุนและเข้าศึกษาต่อปริญญาโทสาขาวิศวกรรมเครื่องกลที่มหาวิทยาลัยแห่งนั้น

ชีวิตนักเรียนทุนที่ญี่ปุ่น

การเรียนต่อในต่างประเทศ เป็นเรื่องที่ท้าทายทั้งความคิดและจิตใจ เพราะนอกจากความรับผิดชอบในวิชาที่ต้องเรียนแล้ว การปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ ก็เป็นอีกปัจจัยที่สร้างความกังวลให้กับกอล์ฟ ซึ่งที่ผ่านมากำลังใจสำคัญมาจากครอบครัว ที่คอยรับฟังและสร้างกำลังใจอยู่เสมอ และการได้วีดิโอคอล (VDO call) คุยกับคุณพ่อคุณแม่ในทุกวัน ก็เป็นแรงใจสำคัญให้ผ่านพ้นทุกปัญหามาได้

ชีวิตการเป็นนักเรียนทุนต้องอาศัยความพยายามเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้ต้องวางแผนและกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อช่วยให้ไปสู่เส้นทางความฝันได้ ซึ่งการตั้งใจศึกษาเล่าเรียน เพื่อให้ได้ทุนการศึกษาแบ่งเบาภาระที่บ้าน ถือเป็นวิธีการทดแทนบุญคุณของเด็กที่สามารถทำได้ กอล์ฟตั้งใจเรียนให้ได้เกรดเฉลี่ยที่สูงพอที่จะรักษาคุณสมบัติของการเป็นเด็กทุนต่อไปได้จนจบหลักสูตร

บรรยากาศของมหาวิทยาลัยในอังกฤษ

“ในเส้นทางการเรียน ผมเป็นนักเรียนทุนมาโดยตลอด แน่นอนว่าจะต้องมีความเครียดและความกดดัน แต่มองว่าความเครียดที่เกิดขึ้น ทำให้เราได้พัฒนา เพราะคำว่า “โอกาส” ไม่ได้เข้าหาเราเอง แต่เราต่างหากที่ต้องเป็นฝ่ายวิ่งเข้าหาโอกาส ดังนั้น ผมจึงไม่เคยรอให้โอกาสเข้ามาหา เมื่อผมอยากทำอะไร ผมจะมีการวางแผนและลงมือทำ ซึ่งสุดท้ายแล้วผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ก็ไม่เคยเสียใจที่ได้เรียนรู้และลงมือทำ”

ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของ TSE ทั้งการเปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ทุกหลักสูตร ได้ที่ www.engr.tu.ac.th และที่ Facebook ของ TSE ที่ www.facebook.com/ENGR.THAMMASAT

 

RANDOM

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ชวนประกวดเรียงความ ‘ความภูมิใจที่ได้เดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท รัชกาลที่ 9’ ชิงโล่พร้อมเกียรติบัตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ส.กีฬาทางน้ำไทย ควง ปตท. ยกสระบุกบ้านชวน อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นพื้นที่น้ำท่วมบ่อย สานต่อโครงการ “ว่ายน้ำเพื่อชีวิต โดยการนำสระว่ายน้ำไปหาเด็ก” ครั้งที่ 2 ของปี เยาวชนในพื้นที่แห่ร่วมกิจกรรมหนาแน่นกว่า 1,100 ชีวิต

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!