นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้มีการปรับอัตราเงินอุดหนุนรายหัวตามความจำเป็นพื้นฐาน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้เรียน และเพิ่มศักยภาพสถานศึกษาในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี ตั้งแต่ ระดับก่อนประถมศึกษา ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ทั้งสถานศึกษาของรัฐและเอกชน ครอบคลุมการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาทางเลือก โดยปรับเพิ่มแบบขั้นบันไดต่อเนื่อง 4 ปีงบประมาณ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 – 2569 ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ
รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า อัตราเงินอุดหนุนรายหัวฯที่ปรับเพิ่มขึ้น สามารถจำแนกตามรายการค่าใช้จ่ายได้ ดังนี้ ค่าใช้จ่ายด้านผู้เรียน มี 2 ส่วน คือ 1.ค่าอุปกรณ์การเรียน ปรับเพิ่มตามผลการศึกษาค่าใช้จ่ายจริงสำหรับอุปกรณ์การเรียนพื้นฐาน ซึ่งอ้างอิงราคาขายร้านสหกรณ์โรงเรียน โดยจัดให้ผู้เรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกคน ตั้งแต่ปี 2566 และคงอัตราเดิมในปีต่อไป และ 2.ค่าเครื่องแบบ ปรับตามผลการศึกษาค่าใช้จ่ายจริงสำหรับเครื่องแบบนักเรียน 1 ชุด ประกอบด้วย เสื้อ กางเกง หรือกระโปรง โดยให้ผู้เรียนทุกคนมีเครื่องแบบครบ 1 ชุด และเพิ่มเติมอีก 1 ชุด เฉพาะผู้เรียนยากจนที่ผู้ปกครองถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
สำหรับค่าใช้จ่ายด้านสถานศึกษา ได้แก่ 1.ค่าจัดการเรียนการสอน และ 2.ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ทั้งในระบบและนอกระบบ ให้ใช้วิธีทยอยปรับเพิ่มอัตราแบบขั้นบันไดต่อเนื่อง 4 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 – 2569 ซึ่งปัจจุบันปีงบฯ 2565 ให้เงินอุดหนุนฯประมาณ 46,482 ล้านบาท ปีงบฯ 2566 จะเพิ่มขึ้น 2,259 ล้านบาท เป็นเงินอุดหนุน 48,741 ล้านบาท จากนั้นทยอยปรับเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันไดในลักษณะงบประมาณผูกพันต่อเนื่อง โดยในปีที่ 4 หรืองบฯปี 2569 จะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 8,066 ล้านบาทเศษ เป็นอุดหนุนฯ 54,548 ล้านบาท
“ครม.ได้อนุมัติในหลักการให้เพิ่มอัตราเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครอบคลุม 4 รายการ ได้แก่ ค่าจัดการเรียนการสอน เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 20 ค่าอุปกรณ์การเรียน เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 15 ค่าเครื่องแบบนักเรียน จากเดิมได้ไม่เต็มชุด ก็ได้เต็ม 1 ชุด และเพิ่มอีก 1 ชุดสำหรับเด็กยากจน และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 30 จากที่ทั้ง 4 รายการ ไม่ได้มีการปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนฯมานานกว่า 10 ปี โดยปรับครั้งล่าสุดเมื่อปี 2553 ขณะที่ปัจจุบันราคาสินค้าเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งการเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนฯครั้งนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระรายจ่ายของนักเรียน จำนวนกว่า 11.5 ล้านคน ช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของครอบครัวนักเรียนยากจนลงได้ รวมทั้งช่วยเพิ่มศักยภาพของสถานศึกษาในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอีกด้วย สำหรับเงินอุดหนุนค่าหนังสือเรียนที่ผ่านมา ได้ปรับเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว” นางสาวตรีนุช กล่าว