กรมชลฯ จับมือ ม.เกษตรฯ พัฒนาแอปพลิเคชัน “รายงานสถานการณ์น้ำแบบมีส่วนร่วม” แบบเรียลไทม์

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

สำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน จับมือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาแอปพลิเคชัน “การรายงานสถานการณ์น้ำแบบมีส่วนร่วม SWOC PR” สำหรับรายงานสถานการณ์น้ำจากทั้งสถานีตรวจวัด เจ้าหน้าที่ และประชาชน ได้อย่างบูรณาการ พร้อมแสดงผลการรายงานแบบเรียลไทม์ ที่ทุกคนสามารถเข้าดูได้อย่างโปร่งใส ภายใต้การดำเนินงาน “โครงการพัฒนาระบบตรวจวัดระดับน้ำแบบการมีส่วนร่วม” สอดคล้องพันธกิจการพัฒนากรมชลประทานให้เป็นองค์กรอัจฉริยะที่มุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำ (Water Security) เพื่อเพิ่มคุณค่าการบริการให้ได้ภายในปี 2579

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชผล รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา กรมชลประทาน กล่าวว่า การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในกระบวนการบริหารจัดการน้ำเป็นสิ่งสำคัญ และมีความจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจ และให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแก่ประชาชน รวมทั้ง มีช่องทางการรับฟังความคิดเห็น และเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการรายงานสถานการณ์น้ำ และบริหารจัดการน้ำ

การพัฒนาแอปพลิเคชัน SWOC-PR ของ กรมชลประทาน ในครั้งนี้ นับเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการรายงานสถานการณ์น้ำ ให้ กรมชลประทาน ทราบถึงข้อมูลสภาพน้ำท่วม น้ำแล้ง และการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ รวมทั้งเป็นช่องทางรับฟังความคิดเห็นและเสนอแนะการทำงานให้แก่กรมชลประทาน และยังเป็นช่องทางให้ข้อมูลด้านบริหารจัดการน้ำ และการชลประทานกลับคืนไปยังประชาชนทุกภาคส่วน นอกจากนี้ แอปพลิเคชัน SWOC-PR ยังช่วยให้เจ้าหน้าที่ ของ กรมชลประทาน เอง ได้รายงานสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งการแก้ไขและบรรเทาปัญหาดังกล่าว ซึ่งก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการบริหารจัดการน้ำ และเป็นการยกระดับการให้บริการด้านชลประทานสู่ภาคประชาชน

ด้าน นายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวว่า ทาง กรมชลประทาน ได้รับความร่วมมือ จาก ภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาระบบและเครื่องมือการรายงานสถานการณ์น้ำสำหรับเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน และประชาชนทั่วไป ผ่านแอปพลิเคชัน SWOC-PR รวมทั้งการวิจัย ออกแบบ พัฒนา และทดสอบ นวัตกรรมระบบตรวจวัดระดับน้ำ โดยใช้ QR Code ผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งได้ดำเนินการนำร่องติดตั้งในลำน้ำต่าง ๆ กว่า 42 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งการติดตามสถานการณ์น้ำในลําน้ำต่าง ๆ ที่สำคัญ จะทําให้ กรมชลประทาน ได้รับข้อมูลสถานการณ์น้ำสำหรับใช้ในการวางแผนบริหารจัดการน้ำในลำน้ำต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำของภาคประชาชน

แอปพลิเคชัน SWOC PR จะช่วยทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของการรายงานสถานการณ์น้ำ ทั้งจาก สถานีตรวจวัดระดับน้ำ เจ้าหน้าที่ และภาคประชาชนในพื้นที่ ได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น โดยความสามารถของแอปพลิเคชันจะครอบคลุมการรายงานสถานการณ์น้ำจากสถานีตรวจวัดน้ำฝน อ่างเก็บน้ำ และโทรมาตรขนาดเล็ก จากสถานีที่ใกล้ที่สุด ตลอดจน การรายงานสถานการณ์น้ำท่วม ภัยแล้ง และอื่น ๆ จากเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน

ขณะที่ ภาคประชาชน สามารถเข้าไปในส่วนของกระดานสื่อสารสำหรับประชาชน เพื่อการตั้งกระทู้เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ การแจ้งเรื่องร้องเรียน และข้อเดือดร้อนจากสถานการณ์น้ำ พร้อมการประยุกต์ใช้ระบบ QR code เพื่อเข้าข้อมูล รายงานสรุปสถานการณ์น้ำของพื้นที่ จุดเฝ้าระวังในลำน้ำหลัก และลำน้ำสาขา ได้แบบเรียลไทม์ ทำให้ทั้งเจ้าหน้าที่และภาคประชาชนได้รับทราบข้อมูลสถานการณ์น้ำในลำน้ำต่าง ๆ ที่สำคัญ ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้อย่างทันท่วงที

การพัฒนาระบบรายงานสถานการณ์น้ำ พร้อมเชื่อมโยงเป็นระบบ ร่วมกับ การแสดงผลแบบ Real Time ผ่าน Application SWOC PR (Smart Water Operation Center) จะทําให้ กรมชลประทาน ได้รับทราบข้อมูลในการวางแผนบริหารจัดการน้ำในลำน้ำต่าง ๆ ทั่วประเทศอย่างเหมาะสม อีกทั้ง ยังเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำของภาคประชาชน เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามสถานการณ์น้ำในลําน้ำต่าง ๆ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

RANDOM

ฮุนได ชวนน้อง ๆ นักศึกษาส่งผลงานแอนิเมชั่นเข้าร่วมประกวด ในโครงการ IONIQ Animation Contest 2024 หัวข้อ “Innovation for a Better World” ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 300,000 บาท พร้อมตั๋วเครื่องบินไป-กลับ และที่พัก ที่ประเทศเกาหลีใต้

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ขอเชิญสำนักพิมพ์และนักแปลอิสระ ส่งหนังสือเข้าร่วมการประกวดหนังสือวิชาการแปลดีเด่น เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ส่งผลงานได้ ตั้งแต่บัดนี้ – 30 เมษายน 2567

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!