รมว.ศธ. แนะสร้างเครือข่ายดูแลนักเรียน เน้นการเรียนรู้แบบผสมผสาน เสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นสร้าง Soft Power ของประเทศ

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมการขับเคลื่อนคุณภาพการจัดการศึกษา พร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษาที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการด้วยระบบคุณภาพตามเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (Office of Basic Education Commission Quality Award : OBECQA) เมื่อเร็ว ๆ นี้

รมว.ศธ. กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับผู้บริหารสถานศึกษาที่ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ ที่สะท้อนถึงผลลัพธ์ของการบริหารที่ดีเยี่ยมของโรงเรียนในโครงการโรงเรียนมาตรฐานสากล ฝากถึงผู้บริหารทุกท่านให้กลับมามองในพื้นที่ของท่านที่มีความแตกต่าง เพื่อปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนการสอนให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของโลก พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ในการที่จะให้เด็ก ๆ จะเข้าถึงการศึกษา ไม่เพียงแต่ในด้านวิชาการเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีด้านศิลปวัฒนธรรม ด้านการใช้ชีวิต ฯลฯ โดยเฉพาะสิ่งที่โดดเด่นในแต่ละพื้นที่คือ “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” เพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้กับนักเรียนของเรา

ทั้งนี้ นักเรียนระดับมัธยมศึกษา เป็นวัยที่กำลังแสวงหาทางเลือกในอนาคตของตัวเอง โรงเรียนจะต้องจัดหลักสูตรที่สามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของนักเรียน เพื่อให้มีโอกาสได้สำรวจความถนัดและความสนใจของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ทั้งการเปิดเรียนในหลากหลายสาขาวิชา และการจัดให้มีชมรม ตามความสนใจที่หลากหลาย เช่น กีฬา ดนตรี สิ่งแวดล้อม ความถนัดอาชีพ เช่นเดียวกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ที่ ครม.ได้อนุมัติจัดตั้งรวม 18 แห่ง เพื่อให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ จัดทำหลักสูตรสถานศึกษา ที่ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นให้เป็น Soft Power ที่สำคัญของประเทศ

อีกกิจกรรมหนึ่งที่อยากจะให้ทุกโรงเรียนดำเนินการให้เด็กมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง คือ การเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็น ผ่านระบบสภานักเรียน ซึ่งเร็ว ๆ นี้ จะมีการจัดการสัมมนาผู้นำสภานักเรียนทั่วประเทศ เพื่อนำเสนอความคิดเห็นของนักเรียนต่อนายกรัฐมนตรี โรงเรียนมัธยมฯ ของเรา มีขนาดที่แตกต่างกันมาก ตั้งแต่โรงเรียนขนาดเล็กจนถึงโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ แต่ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนในโรงเรียนขนาดใด ก็อยากให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนให้เด็กได้คิดวิเคราะห์ตามแนวทาง Active Learning และต้องการให้ สพฐ. ได้วางแผนบูรณาการการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งการจัดสรรโอกาสเข้าเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 การยกระดับคุณภาพผู้เรียน โดยเน้นการทำงานแบบบูรณาการข้ามสถานศึกษา และการใช้ทรัพยากรร่วมกัน เช่น ครูเก่ง สนามกีฬา ตลอดจนห้องปฏิบัติการต่าง ๆ

ตั้งแต่ที่กลับมาเปิดเรียน On-site 100% พบว่า เกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อความปลอดภัยของนักเรียน จึงขอให้ช่วยกันเอาใจใส่ ไม่ให้เกิดเหตุการณ์บูลลี่ในโรงเรียน ทั้งในระหว่างนักเรียนกันเอง และระหว่างครูกับนักเรียน รวมทั้งปัญหาการทะเลาะวิวาท และที่สำคัญ คือ การดูแลเรื่องจิตใจของนักเรียน หากเกิดปัญหากับนักเรียน นอกจากการป้องกันแล้ว หากเกิดเหตุการขึ้น ผู้บริหารจะต้องเข้าถึงโดยเร็วที่สุด ผ่านการใช้แอปพลิเคเชัน MOE Safety Center เข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยเหลือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว

นอกจากนี้ ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด 19 ที่ผ่านมา ทำให้ทั้งครูและนักเรียน ได้รู้จักกับการเรียนรู้ผ่านรูปแบบออนไลน์มากขึ้น นักเรียนมีความสามารถและสนใจกับการเรียนในรูปแบบการเรียนผ่านการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ดังนั้น สถานศึกษาจะต้องหาแนวทางเพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนรู้แบบผสมผสานระหว่างการเรียนในห้องเรียนและการเรียนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งการขับเคลื่อนทั้งหมดนี้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือช่วยกันดูแลนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา อย่างเต็มที่ จึงประสบผลสำเร็จ

อ้างอิงจาก https://bit.ly/3A329Ch

 

 

RANDOM

NEWS

สสส. ร่วมกับ สคล. เชิญชวนโรงเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “มารู้จักเจ้าชายภูมิพลกันเถอะ” ดาวน์โหลดรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ ‘โรงเรียนคำพ่อสอน.com’ พร้อมรับเกียรติบัตรจากทางโครงการฯ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกวดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “ASEAN-IPR Cybersecurity Youth Essay Competition” ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-IPR Regional Conference on Cybersecurity และมีโอกาสนำเสนอเรียงความในที่ประชุมดังกล่าว สมัครด่วน หมดเขต 22 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!