มร.ทาคุยะ ชิมามุระ ประธานมูลนิธิกระจกอาซาฮี และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท AGC Inc. กล่าวว่า ทางมูลนิธิฯ มีความร่วมมือกับประเทศไทย และ มจธ. มาอย่างยาวนาน โดยปี พ.ศ. 2555 เป็นปีแรก ที่มูลนิธิได้เข้ามาสนับสนุนทุนวิจัยให้กับทาง มจธ. ต่อเนื่องมาในปีนี้นับเป็นปีที่ 11 แล้ว และได้ให้การสนับสนุนวิจัยไปแล้วกว่า 68 โครงการ เป็นเงินกว่า 41,000,000 เยน
“ผมเชื่อว่า นักวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนวิจัยนี้จะสามารถร่วมกันพัฒนาและสร้างความเจริญรุ่งเรืองมั่นคงให้กับประเทศไทยได้ และหวังว่าการให้การสนับสนุนของเราจะเป็นประโยชน์กับนักวิจัยทุกคนที่ได้รับทุนนี้ และมีความภาคภูมิใจเพราะงานวิจัยเหล่านี้ คือ ดอกผลที่มีศักยภาพ ซึ่งจะต้องพัฒนาต่อไปในอนาคตอย่างไม่มีขีดจำกัด”
รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ.
ด้าน รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า ทุนอาซาฮี เป็นทุนสนับสนุนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อความก้าวหน้าทางด้านอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ สังคม โดยในปีนี้ มจธ.ได้รับสนับสนุนทุนวิจัยจากมูลนิธิฯ จำนวน 5 ล้านเยน และมหาวิทยาลัยสมทบทุนวิจัยอีก จำนวน 5 ล้านเยน รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 10 ล้านเยน หรือประมาณ 3,000,000 บาท ให้กับ 8 โครงการ ใน 6 สาขา ซึ่งจากเดิม 5 สาขา ได้แก่ สาขาวัสดุศาสตร์ (Materials Sciences) สาขาชีววิทยาศาสตร์ (Life Sciences) สาขาสิ่งแวดล้อม (Environment) สาขาวิทยาการสารสนเทศ (Information Sciences) สาขาพลังงาน (Energy) ในปีนี้เป็นปีแรกที่มีการให้การสนุบสนุนทุนในสาขาสังคมศาสตร์ (Social Sciences) เพื่อจัดการกับปัญหาซับซ้อนที่เราทุกคนกำลังเผชิญ อาทิ สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง สังคมผู้สูงอายุ ภาวะการระบาดใหญ่ทั่วโลก โดยวิทยาศาสตร์ (Science) สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ (Social Science) ต้องจับมือทำงานร่วมกันในอนาคต
สำหรับนักวิจัย มจธ.ที่ได้รับทุนวิจัยอาซาฮี ประจำปี 2565 ทั้ง 8 โครงการ ใน 4 สาขาการวิจัย ประกอบด้วย 1. สาขาวัสดุศาสตร์ (Materials Sciences) จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ ผศ.ดร.พชรพิชญ์ พรหมอุปถัมภ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในผลงานการออกแบบ “โครงสร้างวัสดุพรุนจากกระบวนการพิมพ์สามมิติเพื่อเพิ่มคุณสมบัติเชิงกลและเชิงชีวภาพสำหรับนำไปใช้เป็นวัสดุทดแทนกระดูก” เป็นการศึกษาวิจัยเพื่อค้นหาวัสดุที่มีรูปทรงที่เหมาะสมนำมาทดแทนกระดูก โดยใช้เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติของโลหะ เพื่อออกแบบและผลิตโครงสร้างวัสดุพรุนที่มีลักษณะทางกายภาพเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อกระดูก โดยมุ่งเน้นศึกษาโครงสร้างวัสดุพรุนที่เรียกว่า Triply Periodic Minimal (TPMS) ซึ่งเป็นโครงสร้างพรุนที่มีลักษณะแบบพื้นผิวโค้ง ส่งผลให้มีลักษณะทางกายภาพของพื้นผิวที่ใกล้เคียงกับกระดูกจริง และทำการทดลองเพื่อทดสอบคุณสมบัติทางกลประเมินความสามารถในการไหลผ่านของเหลว รวมถึงการพัฒนาแบบจำลองในคอมพิวเตอร์ คาดหวังว่า องค์ความรู้ที่ได้จากโครงการนี้จะสามารถนำไปต่อยอดเพื่อออกแบบวัสดุทดแทนกระดูกที่ผลิตจากกระบวนการพิมพ์สามมิติต่อไป และ ดร.นนท์ ทองโปร่ง อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตร์นาโนและนาโนเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ ในผลงาน “การพัฒนาคำอธิบายที่ถูกต้องของการวัดกระแสไฟฟ้าที่ถูกจำกัดด้วยประจุอิสระหลังถูกป้อนด้วยศักย์ไฟฟ้าในชั้นฟิล์มบางวัสดุเพอรอฟสไกต์ สำหรับการวัดคุณสมบัติการนำพาประจุที่แม่นยำ ด้วยการศึกษาเชิงการคำนวณด้วยการเรียนรู้ของเครื่องและการทดลอง” เป็นการศึกษาวิจัยที่มุ่งสร้างความเข้าใจและพัฒนาคำอธิบายเพื่อวิเคราะห์ผลการวัด SCLC หลังถูกป้อนด้วยความต่างศักย์อย่างแม่นยำ
2. สาขาชีววิทยาศาสตร์ (Life Sciences) จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ ผศ.ดร.ภัทรา ผาสอน สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ ในผลงาน “การพัฒนาเซลลูโลสแม่เหล็กคอมโพสิตชีวภาพจากเปลือกสับปะรดเพื่อตรึงเอนไซม์ : ความยั่งยืนในการเพิ่มเสถียรภาพและการนำเอนไซม์กลับมาใช้” เป็นการพัฒนาเทคนิคการตรึงเอนไซม์บนพื้นผิววัสดุด้วยอนุภาคนาโนเซลลูโลส-แม่เหล็ก ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการนำเอนไซม์กลับมาใช้ใหม่ และ ดร.ดาภะวัลย์ คำชา สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ ในผลงาน “นิเวศวิทยาการผสมพันธุ์ ลักษณะพื้นที่ทำรังและบทบาทของป่าสนปลูกปัจจัยสำคัญต่อการอนุรักษ์นกไต่ไม้ใหญ่ (Sitta magna) ชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ระดับโลก” ซึ่งผลจากการศึกษาจะนำไปสู่การจัดการอนุรักษ์ที่เหมาะสมและลดโอกาสการสูญพันธุ์ลง
3. สาขาสิ่งแวดล้อม (Environment) จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ Dr.Nasrul Hudayah สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ ในผลงาน “ความสัมพันธ์ระหว่าง Quorum sensing และการถ่ายโอนอิเลคตรอนระหว่างสายพันธุ์ของจุลินทรีย์บนวัสดุตัวกลางชีวภาพแบบเหนี่ยวนำที่ส่งเสริมการผลิตมีเทน” และ ดร.วัลลภ ชุติพงศ์ สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ ในผลงาน “การประเมินพลวัตประชากรและอัตราการรอดตายของเสือปลาในพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์จากมนุษย์” เป็นการศึกษาวิจัยการเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากร และการประเมินอัตราการรอดตายของเสือปลาอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดในระยะยาว เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการทรัพยากรสัตว์ป่าต่อไป และ
4. สาขาสังคมศาสตร์ (Social Sciences) จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ ผศ.ดร.ปฏิภาณ แซ่หลิ่ม อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม ในโครงการ “เราพร้อมหรือยังต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ : วุฒิภาวะด้านการบรรเทาและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอุตสาหกรรมไทย” เป็นการศึกษาระดับความพร้อมในการบริหารจัดการด้าน Climate change ของอุตสาหกรรมในประเทศไทย ในประเด็นทางสังคมในเรื่องของแนวความคิด แรงจูงใจ มุมมอง และทัศนคติของผู้ประกอบการ เพื่อการวิเคราะห์ปัจจัยสู่ความสำเร็จของการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงพัฒนาตัวแบบมาตรวัดทางสถิติที่ใช้วัดระดับความพร้อมของการปรับตัว และนำเสนอนโยบายเชิงวิชาการต่อไป และ รศ.ดร.อธิปัตย์ บุญเหมาะ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ ในโครงการ “อบรมเพื่อพัฒนาและส่งเสริมทักษะการสื่อสารแบบออนไลน์ และการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีในประเทศไทย หลังจากช่วงฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal)”
ทุนวิจัยอาซาฮี ถือเป็นทุนที่ให้ความสำคัญกับวงการวิทยาศาสตร์ของประเทศ และยังเป็นแหล่งทุนสำคัญของ มจธ.ที่ให้การสนับสนุนงานวิจัยพื้นฐานในด้านต่าง ๆ ที่ทำให้นักวิจัยได้ต่อยอดผลงานวิจัยที่มีอยู่เดิมให้ครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น อีกทั้งช่วยขยายผลทำให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง และเกิดผลงานเชิงประจักษ์ ที่สำคัญยังช่วยสร้างองค์ความรู้ใหม่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย