นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพิ่มประสิทธิภาพและติดตามผลการดำเนินงานอาชีวศึกษาเพื่อคนพิการ ประจำปีงบประมาณ 2565 โดยมีผู้บริหารสถานศึกษาเครือข่ายอาชีวศึกษาเพื่อคนพิการเข้าร่วมกว่า 100 แห่ง เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและเตรียมแผนรองรับดำเนินงานในปีต่อไป
นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า ในปัจจุบันการจัดการศึกษาต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปี ที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย โดย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ดำเนินการจัดอาชีวศึกษาเพื่อคนพิการ และนำประเด็นบางประการที่สาธารณชน รวมถึงสถานศึกษาทุกแห่งที่รับผู้เรียนพิการเข้าศึกษาให้ความสำคัญ และส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษา มาดำเนินการวิเคราะห์หาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาเพื่อคนพิการ
รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน สอศ. มีสถานศึกษาจัดการศึกษาเพื่อคนพิการทั้งในรูปแบบการเรียนรวม (Inclusive Education) การเรียนในรูปแบบปกติ และทวิภาคี เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้แก่ผู้เรียนพิการ และได้ฝึกทักษะอาชีพ ส่งเสริมการสร้างงานให้คนพิการมีอาชีพ สามารถทำงานได้ เลี้ยงดูตนเองได้ โดยมีผู้เรียนพิการเรียนแบบอยู่ประจำ ในสถานศึกษาจำนวน 8 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคบางแสน วิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ วิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล วิทยาลัยสารพัดช่างอุดรธานี วิทยาลัยสารพัดช่างบรรหาร-แจ่มใส วิทยาลัยสารพัดช่างพิษณุโลก วิทยาลัยสารพัดช่างสุรินทร์ และวิทยาลัยการอาชีพท่าแซะ สถานศึกษาที่ได้เปิดโอกาสให้ผู้พิการได้เรียนรวมอีก 69 แห่ง และสถานศึกษาที่จัดสอนอาชีพผู้พิการ (Up Skill, New Skill) จำนวน 44 แห่ง เข้าถึงผู้เรียนพิการทั่วประเทศ จำนวน 1,500 คน ซึ่ง สอศ.และ สถานศึกษาได้ให้ความสำคัญ และเล็งเห็นถึงความเสมอภาคทางการศึกษา โอกาสการเข้าถึงการศึกษาของผู้พิการ รวมถึงการจัดการศึกษาสำหรับผู้พิการเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ และ สอศ. ให้การจัดอาชีวศึกษาเพื่อคนพิการได้ขับเคลื่อนอย่างเต็มประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลอย่างต่อเนื่องในการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566