กรมศิลปากร มั่นใจ รับมือน้ำท่วมโบราณสถาน จ.พระนครศรีอยุธยาได้ ไม่เสียหายรุนแรง

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

กรมศิลปากร มั่นใจรับมือน้ำท่วมโบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไม่ให้เกิดความเสียหายรุนแรงได้ โดย วัดไชยวัฒนาราม ได้กั้นแนวกันน้ำเพิ่มสูงกว่าแนวที่กั้นน้ำท่วมปี 2554 ส่วนโบราณสถานขนาดใหญ่ที่แช่น้ำ เป็นโบราณสถานที่บูรณะแล้ว จึงเป็นอิฐใหม่ หลังน้ำลดจะสำรวจสภาพ สกัด และเปลี่ยนอิฐที่เสื่อมสภาพ สำหรับโบราณสถานในส่วนที่ยังไม่ได้รับการบูรณะ จะใช้วิธีค้ำยัน ป้องกันการพังทลาย และจะมีโครงการสำรวจเพื่อหาแนวทางบูรณะภายหลังน้ำลดโดยเร็วต่อไป

นายสถาพร เที่ยงธรรม รองอธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า นายพนมบุตร จันทรโชติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกรมศิลปากร ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำที่อาจส่งผลกระทบต่อโบราณสถาน และรายงานให้ทราบเป็นระยะนั้น สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา ได้รายงานสรุปสถานการณ์ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2565 จากการที่ระดับน้ำในแม่น้ำบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ระดับน้ำบริเวณหน้าโบราณสถานวัดไชยวัฒนารามมีระดับต่ำกว่าระดับน้ำท่วมในปี 2554 อยู่ 45 เซนติเมตร ประกอบกับ เขื่อนเจ้าพระยา และเขื่อนป่าสัก จะระบายน้ำในปริมาณมากขึ้น ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะสูงขึ้น 10 – 15 เซนติเมตร จึงเตรียมการรับมือ ดังนี้

ในพื้นที่เกาะเมือง ขณะนี้ ทางเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา ได้ทำคันป้องกันน้ำ ซึ่งจะสามารถป้องกันโบราณสถานในเกาะเมืองได้เกือบทั้งหมด จะมีเพียงป้อมเพชร และรหัสวิดน้ำในพระราชวังโบราณ เท่านั้น ที่ถูกน้ำท่วม (โบราณสถานสำคัญของอุทยานฯ ตั้งอยู่ภายในเกาะเมือง)

พื้นที่นอกเกาะเมือง เป็นพื้นที่ที่โบราณสถานได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยพื้นที่นอกเกาะเมืองด้านทิศเหนือ และบริเวณริมลำน้ำ มีโบราณสถานได้รับผลกระทบแล้ว จำนวน 67 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นโบราณสถานที่ได้รับการบูรณะเสริมความมั่นคงไว้แล้ว ถูกน้ำแช่ขังได้ โดยไม่กระทบต่อโครงสร้างความมั่นคงของโบราณสถาน จะมีความเสียหายบ้าง ในเรื่องการชำรุดเล็กน้อยของวัสดุ เช่น อิฐผุกร่อน เปื่อยยุ่ย ซึ่งสามารถสกัดเปลี่ยนได้ (อิฐผิวนอกของโบราณสถานส่วนใหญ่ เป็นอิฐใหม่ที่สกัดเปลี่ยนเมื่อครั้งบูรณะ) ส่วนโบราณสถานที่ถูกน้ำท่วมในพื้นที่น้ำไหล หรือมีคลื่นที่จะมากระทบตัวโบราณสถาน เช่น ป้อมเพชร ได้มีการใช้แนวรั้วโบราณสถาน และไม้ไผ่ผูกเป็นทุ่นลดแรงจากกระแสน้ำและคลื่นที่จะมากระทบตัวโบราณสถาน สำหรับโบราณสถานที่ยังไม่ได้รับการบูรณะเสริมความมั่นคง ได้ตั้งนั่งร้านเสริมความมั่นคงไว้แล้ว ขณะนี้ ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบโบราณสถานอยู่เป็นประจำ

ในภาพรวมอุทกภัยครั้งนี้ จะไม่ทำความเสียหายกับโบราณสถานในด้านโครงสร้าง (ไม่ทำให้โบราณสถานพังทลาย) แต่จะเกิดความเสียหายกับวัสดุก่อสร้าง ซึ่งสามารถบูรณะฟื้นฟูได้ โดยภายหลังน้ำลด จะเร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อดำเนินการบูรณะเสริมความมั่นคงต่อไป

โบราณสถานสำคัญนอกเกาะเมือง ได้ร่วมกับทางวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการป้องกันน้ำ ดังนี้

วัดไชยวัฒนาราม ได้เตรียมการป้องกันขั้นสูงสุด โดยการต่อแผงกันน้ำด้านหน้าวัด เสริมกระสอบทรายบนแนวกำแพงด้านทิศใต้ของวัด และปั้นคันดินบนแนวถนนทางด้านทิศเหนือของวัด โดยจะสามารถป้องกันน้ำได้อีก 65 เซนติเมตร (สูงกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุดในปี 2554 อยู่ 20 เซนติเมตร)
วัดธรรมาราม ได้เตรียมการป้องกันขั้นสูงสุด โดยการเสริมแนวกระสอบทรายด้านหน้าและด้านข้างวัด ซึ่งจะทำให้สามารถป้องกันน้ำได้อีก 45 เซนติเมตร (เท่ากับระดับน้ำท่วมสูงสุดในปี 2554)
โบราณสถานสำคัญอื่นๆ โดยเฉพาะโบราณสถานที่เป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษา และวัดที่อยู่กลางชุมชน เช่น วัดพุทไธสวรรย์ วัดศาลาปูน วัดพนัญเชิง ได้ประสานกับวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการป้องกันน้ำท่วมไว้แล้ว ซึ่งจะมีการเสริมความสูงของแนวป้องกันน้ำตามระดับน้ำที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา ได้รับรายงานว่า พนังกั้นน้ำจุดวัดปราสาท อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี แตกส่งผลให้น้ำไหลท่วมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อินทร์บุรี วัดโบสถ์ และพื้นที่โดยรอบ ในเบื้องต้นได้เคลื่อนย้ายโบราณวัตถุทั้งหมดไปเก็บรักษาบนชั้น 2 รวมทั้งมีการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ไฟฟ้า เหลือเพียง ตู้ โต๊ะ ชั้นแท่นฐานขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ทัน และขณะนี้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงขอปิดให้บริการเข้าชม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อินทร์บุรี เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์น้ำจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

RANDOM

NEWS

สสส. ร่วมกับ สคล. เชิญชวนโรงเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “มารู้จักเจ้าชายภูมิพลกันเถอะ” ดาวน์โหลดรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ ‘โรงเรียนคำพ่อสอน.com’ พร้อมรับเกียรติบัตรจากทางโครงการฯ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกวดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “ASEAN-IPR Cybersecurity Youth Essay Competition” ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-IPR Regional Conference on Cybersecurity และมีโอกาสนำเสนอเรียงความในที่ประชุมดังกล่าว สมัครด่วน หมดเขต 22 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!