“ถุงมือฆ่าเชื้อจากยางพารา” ผลงานนักศึกษา มจธ. คว้า 2 รางวัล ด้านนวัตกรรมระดับชาติ

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

ที่มาของโครงการประกวด ต่อยอดมาจากงานวิจัยของ ดร.เยี่ยมพล นัครามนตรี อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในฐานะหัวหน้าโครงการที่ทำการวิจัยและพัฒนายางพารามาอย่างต่อเนื่อง จนได้สูตรยางพาราผสมสังกะสีออกไซด์ (Zinc oxide) ที่มีคุณสมบัติสามารถฆ่าเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก เชื้อแบคทีเรียแกรมลบ รวมถึงเชื้อไวรัสและเชื้อดื้อยาบางชนิด โดยดำเนินการร่วมกับ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า

จึงเป็นที่มาของแนวคิดนำงานวิจัยชิ้นนี้ มาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ของ 3 นักศึกษา จาก ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ประกอบด้วย นางสาวปิยฉัตร เสียมไหม (แพร) นางสาวพรไพลิน ลิปภานนท์ (ผักกาด) ชั้นปีที่ 3 และ นางสาวพัชรินทร์ โพธิ์รัตน์ (แพร) ชั้นที่ปี 2 โดยมี ดร.เยี่ยมพล นัครามนตรี อาจารย์ที่ปรึกษา โดยนำสูตรผสมดังกล่าว มาผลิตเป็นถุงมือฆ่าเชื้อจากยางพารา (Disinfectant Para-rubber Glove)

“แพร” น.ส.พัชรินทร์ โพธิ์รัตน์ กล่าวว่า ด้วยจุดเด่นของสูตรการผลิตของอาจารย์ ที่ไม่ใช่การนำ Zinc oxide มาเคลือบบนพื้นผิวหน้ายาง แต่เป็นวิธีการผสมสารนี้เข้าไปในตัวเนื้อยางโดยตรง ทำให้ตัวผิวหน้าปลอดจากสารเคลือบ แต่ยังคงคุณสมบัติประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อดี ตนและเพื่อนจึงปรึกษากับอาจารย์ถึงการนำสูตรการผลิตนี้ มาพัฒนาเป็นถุงมือยางด้วยการหาเทคนิคการนำยางสูตรดังกล่าว มาขึ้นรูปเป็นถุงมือยางจนสำเร็จ ที่สำคัญยังพบว่า ถุงมือสูตรใหม่นี้ไม่ฉีกขาดง่าย และใช้งานได้ดี ทำให้ผลงานถุงมือยางนี้ ได้รับรางวัลเหรียญเงิน ประเภทนวัตกรรมทางด้านการแพทย์ จากเวทีการประกวดนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2565 จัดโดย สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา

จากเวทีแรกสู่การส่งโครงการเข้าร่วมประกวดในเวที Thailand Innovation Awards 2022 หรือ TIA จัดโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ในเวลาต่อมา โดย “แพร” น.ส.ปิยฉัตร เสียมไหม กล่าวว่า เนื่องจาก TIA เป็นเวทีประกวดนวัตกรรมระดับประเทศ จึงสนใจนำผลงานที่เรามีเข้าร่วมประกวดด้วย และอยากเห็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ของทีมอื่น อยากเปิดโลกและหาประสบการณ์ โดยเฉพาะเรื่องของการตลาด เพราะเวที TIA จะเน้น 2 ด้าน ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ และการตลาด ส่วนที่เลือกถุงมือฆ่าเชื้อจากยางพารา มาประกวดนั้น เพราะอยากนำเสนอว่า มจธ.มีองค์ความรู้ ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางด้านการแพทย์ที่มีจุดเด่นด้านประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อได้ทุกที่ ที่สำคัญสามารถควบคุมต้นทุนการผลิต และสามารถต่อยอดไปสู่เชิงธุรกิจได้จริง

“ในการประกวด TIA เรามีการวิเคราะห์ด้านการตลาดเพิ่มเติม ทั้งการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับมูลค่า และความต้องการใช้ทั้งในตลาดโลกและในบ้านเรา เพื่อหาส่วนแบ่งการตลาดที่สามารถทำได้จริง เพื่อนำตัวเลขนี้มาคำนวณข้อมูลการลงทุน ตั้งแต่กำลังการผลิต ขนาดของเครื่องจักร ค่าแรงงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ เพื่อทำให้แผนการตลาดนี้มีความเป็นไปได้จริงมากที่สุด แต่เนื่องจากเราไม่ได้อยู่ในสายนี้ ไม่เคยรู้เรื่องการตลาดมาก่อน จึงต้องทำงานกันอย่างหนัก ในช่วงระยะเวลา 4 เดือน ช่วยกันค้นหาข้อมูลต่าง ๆ ทั้งเรื่องการคิดต้นทุน การวางแผนการผลิต หรือแม้แต่รูปแบบการลงทุน รวมถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ เพื่อเพิ่มจุดแข็งให้กับผลิตภัณฑ์ โดยมีรุ่นพี่และอาจารย์คอยให้คำแนะนำ” น.ส.ปิยฉัตร กล่าว

สำหรับการทำแผนการตลาดครั้งนี้ ได้กำหนดเป้าหมายส่วนแบ่งการตลาด 0.1% ของตลาดถุงมือยางในประเทศ หรือ เท่ากับ 362,800 กล่องต่อปี (100 ชิ้น/กล่อง) โดยใช้เครื่องจักรที่มีกำลังการผลิต 30,000 ชิ้นต่อชั่วโมง คิดเป็นเงินลงทุน สำหรับเป็นค่าเช่าพื้นที่ ค่าเครื่องจักร สายพานการผลิต และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ภายในโรงงาน อยู่ที่ประมาณ 69 ล้านบาท ที่คำนวณแล้วพบว่า จะสามารถคืนทุนได้ภายในเวลา 2 ปีครึ่ง ด้วยจุดเด่นของผลงานชิ้นนี้ทั้งด้านนวัตกรรม และด้านการตลาด สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ในระดับปริญญาตรี/ปวส. จากเวที Thailand Innovation Awards 2022 พร้อมรับเงินรางวัล 30,000 บาท (ไม่มีทีมชนะเลิศรางวัลที่ 1)

ด้าน “ผักกาด” น.ส.พรไพลิน ลิปภานนท์ เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ตนยังไม่ได้ปักหลักว่าอยากทำอะไรแน่ชัด แต่หลังจากได้มาประกวดและได้ศึกษาการทำแผนการตลาด ความชอบของตัวเองเริ่มแคบลง เริ่มสนใจด้านการตลาดมากขึ้น ทำให้มุมมองเรื่องการขายเรื่องการตลาดเปลี่ยนไป เพราะจริง ๆ แล้วมันมีรายละเอียดมากกว่าการคิดแค่ต้นทุน ยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ตนมุ่งเรียนอย่างเดียว ไม่ได้สนใจเรื่องของการประกวดนวัตกรรม พอเรียนไปก็เกิดคำถามกับตัวเองว่า เรียนไปเพื่ออะไร นำความรู้ที่เรียนไปใช้ยังไงได้บ้าง พอได้มาประกวดทำให้เราเปิดโลกมากขึ้น ได้เห็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ความรู้ใหม่ ๆ เจอสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในห้องเรียน ทำให้เรามีไอเดีย และสนใจอยากเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น

ขณะที่ “แพร” น.ส.พัชรินทร์ โพธิ์รัตน์  กล่าวเสริมว่า ส่วนตัวเคยประกวดมาก่อน ผลงานเกี่ยวกับเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ เป็นเชิงทางการแพทย์อีกรูปแบบหนึ่ง แต่พอได้มาทำเกี่ยวกับด้านการตลาด เป็นการข้ามสายจากวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ มาเป็นสายการตลาด เป็นประสบการณ์ที่มีความแตกต่างจากที่เคยเรียนรู้มา ทำให้เปลี่ยน mindset เกี่ยวกับการตลาดใหม่ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการวางแผน และเห็นความสำคัญของการบริหารจัดการเวลามากขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการทำงานร่วมกับคนอื่น ๆ และกับหลาย ๆ ฝ่าย

เช่นเดียวกับ “แพร” น.ส.ปิยฉัตร เสียมไหม กล่าวเสริมว่า ส่วนตัวเป็นคนเน้นเรื่องของการประกวด เพราะชอบมาตั้งแต่ชั้นมัธยม แต่สิ่งที่ได้รับจากการแข่งขันครั้งนี้ เราได้เรียนรู้เรื่องของการบริหารจัดการเวลา ทำให้ต้องหันมาปรับปรุงตัวเองเรื่องของการเรียนคู่กับกิจกรรม จนสามารถแบ่งเวลาได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังได้ความรู้ด้านการตลาดเยอะมาก จากปกติจะรู้แต่สายวิทยาศาสตร์ แต่พอมารู้จักการตลาด ทำให้เราเปลี่ยนมุมมองเรื่องการตลาดไป จากตอนแรกคิดว่าการตลาดเป็นเรื่องของราคาเท่านั้น แต่ความจริง ยังต้องคำนวณ วิเคราะห์ หาข้อมูล และหาตัวเลขการลงทุน ด้วย

ปิดท้ายที่ ดร.เยี่ยมพล นัครามนตรี อาจารย์ที่ปรึกษา กล่าวสรุปว่า ถุงมือฆ่าเชื้อจากยางพารา ถือเป็นงานวิจัยนวัตกรรมที่นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งในด้านการแพทย์ เศรษฐกิจ การส่งออก เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการช่วยเกษตรกรชาวสวนยางพาราในภาวะที่ยางพารามีราคาตกต่ำ ซึ่งผลงานดังกล่าว หากมีการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ถือเป็นการตอบโจทย์การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

RANDOM

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!