โรงพยาบาลสงขลาครินทร์ เปิดตัวหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเครื่องแรกและเครื่องเดียวในภาคใต้ ช่วยการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยมากเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี ชูจุดเด่นด้านความแม่นยำในการผ่าตัด ทำให้ผู้ป่วยมีบาดแผลผ่าตัดเล็ก และใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลน้อยลง
รศ.พญ.มณฑิรา ตัณฑนุช รองคณบดีฝ่ายโรงพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกและแห่งเดียวในภาคใต้ ที่นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic Surgery) มาช่วยในการผ่าตัดรักษาผู้ป่วย เป็นระยะเวลากว่า 1 ปีแล้ว ทำให้ทีมแพทย์สามารถรักษาผู้ป่วยได้ถึง 190 ราย ถือเป็นการผ่าตัดที่มีจำนวนมากเป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียน เนื่องจากการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์สามารถรองรับการผ่าตัดให้กับผู้ป่วยได้หลายโรค ได้แก่ การผ่าตัดช่องท้อง การผ่าตัดบริเวณอุ้งเชิงกราน เช่น การผ่าตัดมดลูก การผ่าตัดทางเดินปัสสาวะต่อมลูกหมาก การผ่าตัดด้านนรีเวช การผ่าตัดผู้ป่วยโรคอ้วน รวมถึง การผ่าตัดอื่น ๆ ที่พิจารณาโดยแพทย์
ทั้งนี้ ข้อดีของการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดนี้ ทำให้ใช้ผู้ช่วยผ่าตัดน้อยลง และมีความนิ่ง เพราะมือที่ผ่าตัดเป็นมือหุ่นยนต์ที่บังคับโดยหมอผ่าตัดที่มีความเที่ยงตรง แม่นยำ และการผ่าตัด หรือ การเย็บแผล สามารถทำได้ง่ายขึ้น เพราะแขนของหุ่นยนต์จะมีความนิ่ง และด้วยข้อดีดังกล่าว ทำให้แพทย์ด้านระบบทางเดินปัสสาวะ นำมาใช้ในการผ่าตัดผู้ป่วยต่อมลูกหมาก เนื่องจากต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะที่อยู่ในพื้นที่ลึกและแคบ มือของศัลยแพทย์เข้าไปได้ลำบาก การมองเห็นไม่ชัดเจน แต่หลังจากที่นำหุ่นยนต์ผ่าตัดเข้ามาช่วย ปรากฏว่าได้ผลการผ่าตัดดีมาก หลังจากนั้นศัลยแพทย์จึงนำการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์มาใช้เพิ่มขึ้นอีกหลายสาขา
ขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์จะมีแผลผ่าตัดเล็กลง เจ็บน้อย เลือดออกน้อย ทำให้ใช้เลือดในการผ่าตัดน้อย ระยะพักฟื้น หรือ นอนโรงพยาบาลก็น้อยลง สามารถกลับไปใช้ชีวิตและทำงานได้เร็วขึ้น ที่สำคัญผู้ป่วยที่สูงอายุสามารถผ่าตัดได้ ช่วยลดความเสี่ยงจากการผ่าตัดแบบเปิดที่อาจเกิดขึ้นได้