บทความ : สตรีเพศกับการกีฬา โดย ดร.นิพัทธ์ อึ้งปกรณ์แก้ว แห่งสถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทย

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

โอลิมปิกเกมส์ที่กรุงปารีสในอีกสองปีข้าง (Paris 2024) จะเป็นการสืบสานจิตวิญญาณโอลิมปิกที่เริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อ 776 ปีก่อนคริสตกาล

Paris 2024 จะเฉลิมฉลอง 2,800 ปี ชาตะกาลของโอลิมปิกเกมส์โบราณ !!!

กรุงปารีส เคยเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์สองครั้งใน ค.ศ. 1900 และ ค.ศ. 1924

ความโดดเด่นของ Paris 1900 นั้น นอกจากจะเกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศสซึ่งเป็นมาตุภูมิของ ปิแอร์ เดอ คูเบอร์แต็ง บิดาของโอลิมปิกเกมส์สมัยใหม่ แล้ว ยังเป็นจุดกำเนิดของการรณรงค์ให้สตรีเข้าร่วมในการกีฬาระดับโลกอย่างเป็นทางการอีกด้วย โดยแม้คูเบอร์แต็งเองจะไม่ใคร่จะเห็นด้วยกับการเข้าร่วมแข่งขันกีฬาของสตรีเพศ แต่ก็ไม่ได้กีดขวาง 

นับแต่นั้นมา แนวคิดสิทธิการเล่นกีฬาของมนุษยชาติก็ขยายไปสู่การห้ามไม่ให้มีการกีดกันทางเพศ ศาสนา สัญชาติ เชื้อชาติ การเมือง เศรษฐกิจ รวมถึงเพศวิถี ซึ่งถือปฏิบัติเป็นหลักพื้นฐานของอุดมการณ์โอลิมปิกในปัจจุบัน

Paris 2024 ตอกย้ำความสำคัญในเรื่องนี้ด้วยคำขวัญของเกมส์คือ Games Wide Open เพื่อเปิดประสบการณ์สู่ (ก) สุนทรียภาพของการกีฬา (ข) ศักยภาพของทุกคน และ (ค) ความท้าทายทั้งหลายในปัจจุบัน

เฉพาะด้านการส่งเสริมสตรีเพศต่อการกีฬานั้น IOC ได้กำหนดสัดส่วน 50:50 ต่อจำนวนนักกีฬาชายและหญิงของ Paris 2024 ซึ่งสหพันธ์กีฬานานาชาติทั้งหมดที่เข้าร่วม Paris 2024 นี้ จะต้องดำเนินการจัดการแข่งขันในชนิดกีฬา (sport) ประเภทกีฬา (discipline) และรายการกีฬา (event) ทั้งหมดให้เป็นไปตามข้อกำหนดดังกล่าว

เหตุสำคัญของการรณรงค์ให้สตรีเพศเข้าร่วมในการกีฬานั้น โทมัส บาค ประธาน IOC ได้กล่าวบ่อยครั้งว่า การส่งเสริมสตรีเพศในการมีส่วนร่วมและให้เข้าร่วมเล่นกีฬานั้น เป็นการเพิ่มจำนวนบุคคลที่เข้าร่วมการกีฬากว่าอีกหนึ่งเท่าตัว เนื่องจากประชากรหญิงมีจำนวนใกล้เคียงกับประชากรชายทั่วโลก สตรีเพศจะสร้างคุณประโยชน์แก่โลกไม่น้อยไปกว่าบุรุษเพศ 

ทั้งนี้ บุคคลที่ได้รับประสบการณ์การออกกำลังกายและการกีฬาที่ดีในวัยเริ่มต้นของชีวิต จะมีสุขภาพพร้อมด้วยเจตคติและค่านิยมกีฬาที่ดีซึ่งจะส่งเสริมลีลาชีวิตเข้มแข็งและความเป็นพลเมืองที่ดี

สตรีเพศก็เช่นกัน หากได้รับโอกาสในการเข้าร่วมและเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายตั้งแต่วัยเยาว์แล้ว ย่อมจะได้รับผลคือ สุขพลานามัย ความผูกพัน เจตคติ และค่านิยมกีฬาที่ดี รวมทั้งการเป็นพลเมืองที่มีคุณค่าต่อประเทศชาติ

นอกจากนี้ จะเป็นเพิ่มโอกาสแก่เด็กชายและหญิงในการออกกำลังกายและเล่นกีฬามากขึ้น

แม่ออกกำลังกาย ลูกก็จะออกกำลังกาย แม่เล่นกีฬา ลูกจะเล่นกีฬาเช่นกัน 

หากแม่ไม่ออกกำลังกายหรือไม่เล่นกีฬา ลูกก็ไม่ทำเช่นกัน 

สายใยผูกพันตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ทำให้แม่มีอิทธิพลโน้มน้าวลูกชายและลูกสาวในการออกกำลังกายและเล่นกีฬามากกว่าพ่อ

โดยเหตุนี้ การส่งเสริมให้สตรีเพศตั้งแต่วัยเยาว์เข้าร่วมกิจกรรมการออกกำลังกายและการกีฬา ย่อมเกิดประโยชน์ทั้งในด้านการเพิ่มจำนวนนักกีฬาและด้านการบ่มเพาะและปลูกฝังค่านิยมกีฬาที่ดีต่อเด็กชายและหญิงด้วย

การส่งเสริมสตรีให้ออกกำลังกายและเล่นกีฬา จึงมีคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและการสร้างนักกีฬารุ่นใหม่อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

เสมือนกระสุนนัดเดียว ได้นกสองตัว

ในประเทศตะวันตกที่มีพัฒนาการกีฬาในระดับสูงนั้น การมีส่วนร่วมหรือเข้าร่วมการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเป็นประจำของสตรีเพศที่เข้มข้น ย่อมสะท้อนภาพความสัมพันธ์เชิงบวกระดับสูงระหว่างสตรีเพศกับการพัฒนากีฬาชาติ

จึงถือได้ว่า การเข้าร่วมกีฬาของสตรีเพศเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งต่อการพัฒนาการกีฬาชาติ

ดร.นิพัทธ์ อึ้งปกรณ์แก้ว

สถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทย

RANDOM

สาธารณสุข ม.มหิดล เชิญชวนนิสิต นักศึกษา ด้านสาธารณสุขจากทั่วประเทศ ร่วมแข่งขัน “Mahidol Public Health Hackathon Contest” ชิงถ้วยพระราชทาน กรมสมเด็จพระเทพฯ และเงินรางวัลรวม 135,000 บาท หมดเขตสมัครแข่งขัน 24 ตุลาคม นี้

NEWS

สสส. ร่วมกับ สคล. เชิญชวนโรงเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “มารู้จักเจ้าชายภูมิพลกันเถอะ” ดาวน์โหลดรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ ‘โรงเรียนคำพ่อสอน.com’ พร้อมรับเกียรติบัตรจากทางโครงการฯ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกวดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “ASEAN-IPR Cybersecurity Youth Essay Competition” ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-IPR Regional Conference on Cybersecurity และมีโอกาสนำเสนอเรียงความในที่ประชุมดังกล่าว สมัครด่วน หมดเขต 22 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!