ปิแอร์ เดอ คูเบอร์แต็ง (Pierre de Coubertin) เป็นที่รู้จักจากนานาชาติด้วยความสำเร็จในการรื้นฟื้นโอลิมปิกเกมส์ในรูปแบบสมัยใหม่แต่มุมมองสรุปนี้ต่อคูเบอร์แต็งก็เพิ่งปรากฎไม่นานนี้
บทความพิเศษชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ค.ศ.1908 นำเสนอคูเบอร์แต็งในฐานะ‘นักปฏิรูปการศึกษาฝรั่งเศสที่น่ายกย่อง’โดยไม่กล่าวถึงงานของเขาในการฟื้นฟูโอลิมปิกเกมส์ตราบจนคริสต์ทศวรรษ 1930 ชื่อเขาก็ยังคงปรากฎในสารานุกรมของประเทศต่างๆเฉพาะในสาขาการศึกษาเท่านั้น
ภาคแรกของฉบับนี้คือ‘การเปิดเผย’แสดงถึงอุดมคติและมิติการศึกษาของกีฬาของคูเบอร์แต็งในรูปแบบต่างๆที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ตนเองโดยอุดมการณ์โอลิมปิกได้ปรากฎขึ้นในประวัติพัฒนาการของแนวคิดทั่วไปของปรัชญาและการศึกษาซึ่งทำให้ภาคสองคือ‘มิติต่างๆของโอลิมปิก’มีความสำคัญยิ่งต่อกรอบสาระของฉบับนี้โดยเหตุที่สิ่งพิมพ์จำนวนมากก่อนหน้าก่อให้เกิดมุมมองหลากหลายจึงมีการเรียกร้องต่อการทำความชัดเจนให้ปรากฎด้วยเอกสารที่ชัดแจ้ง
จากมุมมองเชิงประวัตินี้ทำให้ทราบว่าขั้นตอนเช่นนี้นำไปสู่การยอมรับโอลิมปิกเกมส์ทุกสี่ปีในฐานะจุดสูงสุดของโลกกีฬาและทำให้การเล่นกีฬาเกิดขึ้นได้ซึ่งมีต้นกำเนิดจากบริบทเฉพาะของประเทศอังกฤษและแพร่หลายไปยังนานาชาติตลอดคริสต์ศตวรรษยี่สิบ
การแสวงหาความเป็นสากลคือหนึ่งในเหตุผลหลายประการที่ทำให้โอลิมปิกเกมส์รักษาไว้ซึ่งความแข็งแกร่งและความน่าสนใจต่อชีวิตของพวกเราโดยเหตุนี้งานนิพนธ์ต่างๆที่นำเสนอในภาคสองจึงเป็นภาพสะท้อนกีฬานานาชาติในคริสต์ศตวรรษยี่สิบเช่นกัน
เนื้อหาส่วนนี้เริ่มต้นด้วยแนวคิดการปฏิรูปการศึกษาของคูเบอร์แต็งและย้ำทวนแผนปฏิบัติต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อจะนำเสนอวิวัฒนาการทางมโนทัศน์ของอุดมการณ์โอลิมปิกของคูเบอร์แต็งในหลายรูปแบบโดยมุ่งเน้นในสามมิติกล่าวคือ
– มิติประวัติ
– มิติปรัชญาและการศึกษา
– มิติโครงสร้างองค์กร
ด้วยการพิจารณาลักษณะนี้ จะมีเพียงมุมมองโอลิมปิกเท่านั้นที่ทำให้งานนิพนธ์เหล่านี้มีความโดดเด่นจากเนื้อหาวิชาการด้านกีฬาของภาคแรกโดยนับประมาณได้ร้อยละสามสิบของงานนิพนธ์ทั้งหมดของคูเบอร์แต็งในภาคสองนี้พวกเราได้รวบรวมบทความ 98 ชิ้นที่มีความหลากหลายเป็นอย่างมากทั้งรูปแบบและความยาวโดยบทความเหล่านี้มีจำนวนเกือบร้อยละสามสิบของ‘งานนิพนธ์โอลิมปิก’ของคูเบอร์แต็งซึ่งประกอบด้วยบทความหนังสือพิมพ์และวารสารเนื้อหาประกอบของงานสะสมและส่วนของหนังสือต่างๆ นอกจากนี้ยังรวมถึงสุนทรพจน์จำนวนมากซึ่งได้รับการจัดพิมพ์ภายหลังอยู่บ่อยครั้ง
นอกเหนือจากสิ่งพิมพ์แล้ว เนื้อหาส่วนนี้ประกอบด้วยจดหมายเวียนที่เขียนโดยคูเบอร์แต็งซึ่งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติ (IOC) ในขณะนั้นคำถามสำคัญต่างๆของยุทธศาสตร์โอลิมปิกได้ถูกตั้งขึ้นภายในจดหมายเหล่านี้โดยได้รับการขยายความและประกอบเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับงานนิพนธ์อื่นของตัวเขาเองแม้ด้วยลักษณะความเป็นทางการของจดหมายเวียนนี้และจำนวนคนที่ได้รับจะจำกัดก็ตามแต่ก็มีความเหมาะสมในการจัดเก็บเนื่องเพราะสามารถเปรียบได้กับสิ่งพิมพ์อื่นของคูเบอร์แต็งในด้านลีลาและเนื้อหา
ทั้งนี้บทความมิติประวัติมีจำนวน 68 ชิ้น มิติปรัชญาและการศึกษามีจำนวน49 ชิ้นมิติโครงสร้างองค์กรมีจำนวน 21 ชิ้น รวมอีก3 ชิ้นเกี่ยวกับเมืองโลซานน์ในฐานะเมืองโอลิมปิกและ6ชิ้นที่เหลือเป็นมุมมองทั่วไป
ผู้อ่านในปัจจุบันอาจพบว่าภาคสอง‘มิติต่างๆของโอลิมปิก’ค่อนข้างเป็นประวัติ แต่กระนั้นก็ต้องไม่ลืมว่าในฐานะประธาน IOC นั้นคูเบอร์แต็งต้องหยิบจับประเด็นในขณะนั้นที่เกี่ยวข้องกับโอลิมปิกเกมส์ โดยหากตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนจะพบเสมอว่า พวกเราสามารถมองข้ามมิติประวัติเพื่อเข้าใจประเด็นต่างๆที่ยุทธศาสตร์โอลิมปิกกำลังถกเถียงในปัจจุบัน ความพลาดพลั้งบางประการอาจหลบเลี่ยงได้ด้วยการศึกษาประสบการณ์ในอดีต
คำพรรณนาส่วนใหญ่ของรายการโอลิมปิกจะเกี่ยวเนื่องกับเนื้อหาต่างๆของประวัติร่วมสมัยข้อเสนอแนะต่างๆสำหรับการปรับปรุงการรณรงค์โอลิมปิกคำวิพากษ์ต่อความผิดที่เกิดขึ้นและการร้องขอต่อความร่วมมือในระดับสูงขึ้นที่โดยบ่อยครั้งจะปรากฎขึ้นในที่ประชุมซึ่งคูเบอร์แต็งจะแสดงพรสวรรค์ในการพูดต่อสาธารณะเพื่อนำเสนอวัตถุประสงค์ด้านโอลิมปิกแก่ผู้ฟังจำนวนมากของเขาได้อย่างน่าเชื่อถือที่จะกระตุ้นให้พวกเขาลงมือปฏิบัติ บทความของบท4‘มิติประวัติของอุดมการณ์โอลิมปิก’ได้รับการถ่ายทอดตามลำดับเวลาซึ่งสะท้อนการต่อสู้ยาวนานนับทศวรรษที่คูเบอร์แต็งมีความมุ่งมั่นต่อความเห็นของตนเองอัตชีวประวัติของเขาในระหว่าง ค.ศ.1887-1908 ใช้ชื่อที่สื่อความหมายมากคือ ‘A Twenty-One Year Campaign’ (Paris 1909) และพวกเราตัดสินใจบรรจุ ‘Olympic Memoirs’ ในฉบับนี้เนื่องด้วยอัตชีวประวัติในช่วงท้ายชีวิตของเขาจะช่วยเติมเต็มช่องว่างบางส่วนของมิติประวัติโอลิมปิกของพวกเรา
ภาคสอง ‘มิติต่างๆของโอลิมปิก’ นำเสนอจุดสำคัญของความสนใจหลักเกี่ยวกับเนื้อหาของส่วนนี้ โดยบทนำนี้ ข้าพเจ้าจะพยายามให้ความกระจ่างในภาพรวมของงานนิพนธ์ด้วยการพรรณนาคูเบอร์แต็งและความทุ่มเทต่อโอลิมปิกผ่านพัฒนาการของมิติประวัติซึ่งบ่อยครั้งที่ไม่สามารถจะแยกออกจากมิติปรัชญา โดยทั่วไปแล้ว งานนิพนธ์เกือบทั้งหมดของคูเบอร์แต็งเกี่ยวข้องกับอุดมการณ์โอลิมปิกในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (WW I) ด้วยเหตุผลความจำเป็นในช่วงเวลานั้นซึ่งจะต้องนำพายุทธศาสตร์โอลิมปิกในช่วงจัดตั้งและต้องการความพิถีพิถันที่สุด คูเบอร์แต็งเป็นกรรมการผู้จัดการและบรรณาธิการวารสารของ IOC คือ Revue Olympique ซึ่งถูกใช้อยู่บ่อยครั้งเพื่อชี้แจงแผนงานต่างๆสำหรับอุดมการณ์โอลิมปิกของเขา
ในการกำกับวารสารสำคัญฉบับดังกล่าวเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของเขา คูเบอร์แต็งได้แสดงออกถึงเจตนารมย์แน่วแน่ในการทำงานตามแผนงานที่วางไว้และพรสวรรค์ของเขาในฐานะนักประชาสัมพันธ์
ในระหว่างและภายหลัง WW I นั้น ประเด็นต่างๆเกี่ยวกับการจัดองค์กรมีความสำคัญน้อยกว่ากีฬาศึกษาและอุดมการณ์โอลิมปิก ซึ่งงานนิพนธ์ของคูเบอร์แต็งที่เป็นรากฐานของอุดมการณ์โอลิมปิกก็ปรากฎในช่วงเวลานี้ โดยถูกนำเสนอในบท 5.1 ‘อุดมการณ์โอลิมปิกโดยทัศนคติจิตวิญญาณ’ ข้าพเจ้าจะได้กล่าวถึงงานนิพนธ์เหล่านี้อีกครั้งในช่วงท้ายของบทนำนี้
ประเด็นของอุดมการณ์สมัครเล่นและบทบาทของศิลปศาสตร์ต่ออุดมการณ์โอลิมปิกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน โดยเหตุนี้ พวกเราจึงคัดเลือกสามเกณฑ์สำคัญต่อการเข้าใจแนวคิดอุดมการณ์โอลิมปิกของคูเบอร์แต็ง อุดมการณ์สมัครเล่นของโอลิมปิกได้กลายเป็นต้นทุนสำคัญของยุทธศาสตร์โอลิมปิกมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม หากคูเบอร์แต็งพิจารณาถึงอุดมคติโอลิมปิกแล้ว แนวคิดของอุดมการณ์สมัครเล่นที่สมบูรณ์ก็นับเป็นความสำคัญรองลงมาสำหรับตัวเขา ในทางตรงกันข้าม เขาทุ่มเทต่อความสมานฉันท์ซึ่งนำพานักกีฬาและผู้ชมต่างๆสู่ดุลยภาพของปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของการกีฬาและศิลปะ
หัวข้อหลากหลายเกี่ยวกับประวัติองค์กรและโครงสร้างของอุดมการณ์โอลิมปิกถูกจัดกลุ่มรวมกันในหัวข้อ 6 ‘ยุทธศาสตร์โอลิมปิก’ โดยเริ่มต้นด้วยบทความด้านโครงสร้างของ IOC และการเติบโตของยุทธศาสตร์โอลิมปิกในมิติรูปแบบองค์กรและการขยายขอบเขตของภูมิศาสตร์ ทั้งนี้ การนำเสนอเนื้อหาเป็นไปตามลำดับเวลาบรรยายประวัติโอลิมปิกที่ยึดโยงองค์ประกอบเหล่านี้ขององค์กรซึ่งเติมเต็มเนื้อหาบท 4.2 ด้วย
บทความห้าชิ้นในบท 6.3 แสดงแนวคิดโดยรวมของคูเบอร์แต็งต่อกีฬาโอลิมปิกหลายชนิดโดยบทความหกชิ้นกล่าวเจาะจงถึงกีฬาโอลิมปิก ซึ่งเกณฑ์คัดเลือกของพวกเรามีความเข้มงวดมากเนื่องเพราะคูเบอร์แต็งเขียนบทความจำนวนมากเกี่ยวกับกีฬามากมาย โดยบทความเหล่านี้ได้รับการตีพิมพ์รวมกันในภาคสามของฉบับภาษาฝรั่งเศสที่เกี่ยวข้องกับการเล่นกีฬาบางชนิด
เนื้อหาของภาคนี้ปิดท้ายด้วยบทความสองชิ้นเกี่ยวกับกิจกรรมโอลิมปิกต่างๆในเมืองโลซานน์
แม้งานนิพนธ์ของคูเบอร์แต็งจะหลงเหลืออยู่จำนวนมาก แต่เขาเองก็ไม่ได้เสนอความเห็นต่อประเด็นสำคัญจำนวนมากในปัจจุบัน โดยการเมืองโลกหลัง WWII นำเสนอปัญหาใหม่ๆ ความซับซ้อนและความสัมพันธ์ซ่อนเงื่อนที่ล้วนเริ่มปรากฎต่อสายตาของคูเบอร์แต็งซึ่งอำลาโลกใน ค.ศ.1937 โดยบางหัวข้อเช่น การบรรจุศิลปะในบริบทของโอลิมปิกเกมส์ปรากฎอยู่บ่อยครั้งในงานนิพนธ์ของเขา ซึ่งเป็นภารกิจในฐานะนักการศึกษาที่จะกล่าวถึงหลักพื้นฐานอยู่ตลอดเวลาด้วยความหวังที่จะได้รับความเข้าใจและปฏิบัติตาม
วิสัยทัศน์โอลิมปิกของคูเบอร์แต็ง
ในขณะนี้ ขอให้พวกเราตามรอยโอลิมปิกในระยะต่างๆในชีวิตของคูเบอร์แต็งซึ่งพิจารณาในฐานะผู้จัดกิจกรรมต่างๆ ความเพียรพยายามในการอธิบายและส่งเสริมอุดมการณ์ให้เป็นที่เข้าใจ รวมทั้งการเรียกร้องนับครั้งไม่ถ้วน แผนงานและข้อเขียนต่างๆที่ตอกย้ำความเป็นนักสู้ในอุดมคติและนักการศึกษาตัวแบบ
พวกเราได้มอบพื้นที่จำนวนมากของหนังสือฉบับนี้แก่มิติประวัติของอุดมการณ์โอลิมปิกเนื่องเพราะมุมมองเหล่านี้สะท้อนแก่นความคิดและงานนิพนธ์ต่างๆของคูเบอร์แต็ง ซึ่งไม่ขัดแย้งต่อคำแถลงต่างๆเกี่ยวกับปรัชญาและการศึกษาอุดมการณ์โอลิมปิกของคูเบอร์แต็ง แต่แท้จริงแล้วกลับเป็นเงื่อนไขของสิ่งดังกล่าว (อ่านหัวข้อ 5)
คูเบอร์แต็งพิจารณาประวัติศาสตร์ในฐานะ “จุดเริ่มของวิทยาศาสตร์ทั้งปวงในประเด็นความสำคัญและประสิทธิผลทางการศึกษา” และมีแต่ประวัติศาสตร์เท่านั้นที่ทำให้คูเบอร์แต็งสามารถจัดวางอุดมการณ์โอลิมปิกในบริบทประวัติศาสตร์และประกันถึงความสำเร็จ
วัฒนธรรมกรีกนิยมของคูเบอร์แต็งคือ ผลผลิตองค์ความรู้ประวัติศาสตร์กับแรงบันดาลใจต่อเยาวชนของเขา นอกเหนือจากบัญญติแรกแห่งศรัทธาว่าด้วย “ความเคารพต่อนานาประเทศ” แล้ว เขาก็เพิ่มเติมว่า ในการเคารพต่อประเทศหนึ่ง บุคคลต้องเข้าใจและการจะเข้าใจ ก็ต้องศึกษาประวัติศาสตร์ของประเทศนั้น
อย่างไรก็ตาม พื้นที่นี้ก็ไม่เหมาะสมในการประเมินความนิยมประวัติศาสตร์ของคูเบอร์แต็งหรือการประมาณค่าของงานประวัติศาสตร์ของเขา
บทความสองสามชิ้นถัดไป แสดงความลุ่มลึกในความรู้ของเขาด้านประวัติกรีกโบราณและสมัยใหม่ สำหรับคูเบอร์แต็งแล้ว “ไม่มีสิ่งใดจะเป็นที่เข้าใจหรือเปิดเผยได้โดยปราศจากประวัติศาสตร์”
ประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจสุดสำหรับคูเบอร์แต็งคือ แนวคิดของโอลิมปิกเกมส์ซึ่งเขาได้รับจากบาทหลวงแครอน (Carron) ครูสอนวิชามนุษยวิทยาที่โรงเรียนเยซูอิตในกรุงปารีส พวกเราไม่ทราบถึงวันที่แน่ชัดซึ่งคูเบอร์แต็งมีเจตนารมณ์ในการรื้อฟื้นโอลิมปิกเกมส์สำหรับความเป็นนานาชาติของการกีฬา อย่างไรก็ตาม สุนทรพจน์ของเขาในการปิดประชุมสภา ค.ศ.1894 ได้กล่าวถึงความหวังที่เขามีความสุขมากว่าสิบปี
เมื่อคูเบอร์แต็งอายุยี่สิบปีใน ค.ศ.1883 เขาคิดถึงประเทศฝรั่งเศสของตนเองสำหรับแผนงานปฏิรูปการศึกษาต่างๆโดยนึกถึงประเทศกรีซในการค้นหาตัวแบบสากลเพื่อรณรงค์กีฬาในประเทศฝรั่งเศส การฟื้นฟูเมืองโอลิมเปียด้านการเมือง กีฬา และศาสนาคือรากฐานการดำเนินงานของเขา
การขุดค้นทางโบราณคดีของเมืองโอลิมเปียระหว่าง ค.ศ.1875 และ 1881 ส่งผลใหญ่หลวงต่อคูเบอร์แต็งซึ่งเขาเขียนถึงอย่างกระตืนรือร้นเกี่ยวกับวัฒนธรรมกรีกนิยม โดยบันทึกในหนังสืออัตชีวประวัติ ‘A Twenty-One Year Campaign’ ว่า “เยอรมนีได้ส่องสว่างสิ่งหลงเหลือของเมืองโอลิมเปีย แล้วเหตุใดฝรั่งเศสจึงไม่ควรจะรื้อฟื้นความยิ่งใหญ่ของเมืองนี้เล่า?”
การค้นพบทางโบราณคดีของเมืองโอลิมเปียพร้อมด้วยการขุดพบอื่นๆที่น่าตื่นเต้นในประเทศกรีซและเอเชียไมเนอร์นั้น ดูเหมือนจะมีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อความคิดของคูเบอร์แต็งในวัยเยาว์ ราว ค.ศ.1890 สิ่งค้นพบเกี่ยวกับเมืองโอลิมเปียและโอลิมปิกเกมส์โบราณมีอะไรบ้าง?
แม้เทศกาลโอลิมปิกได้สิ้นสุดลงใน ค.ศ.393 แต่ความทรงจำและความหมายของเกมส์กลับไม่สูญหายไป10 ย้อนกลับถึงยุคกลางนั้น บันทึกจำนวนมากได้กล่าวถึงเมืองโอลิมเปียและโอลิมปิกเกมส์ โดยงานสำคัญชิ้นแรกโดยตรงกับโอลิมปิกเกมส์ปรากฎในเมืองกรอนิงเง็น (Groningen) ค.ศ.1732 โดยแอนโทนิเดส (Th. Antonides) และก่อน ค.ศ.1723 นั้น เบนารด์ เดอ มงฟูคง (Benedictine Bernard de Montfaucon ชาวฝรั่งเศส) ได้เสนอแผนการขุดค้นเมืองโอลิมเปีย ต่อมาใน ค.ศ.1776 ริชาร์ด แชนเดลอร์ (Richard Chandler ชาวอังกฤษ) ได้พบซากปรักของวิหารแบบโดริคขนาดใหญ่ที่เมืองโอลิมเปียซึ่งภายหลังได้รับการบ่งชี้ว่าคือ วิหารซูสที่โด่งดัง อย่างไรก็ตาม การขุดค้นอย่างเป็นระบบก็ไม่อาจจะเกิดขึ้นด้วยข้อจำกัดทางเทคนิคและการเงิน
สงครามอิสรภาพของกรีซอุบัติขึ้นในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษสิบเก้า (ระหว่างเทศกาลอีสเตอร์ ค.ศ.1821) เพื่อตอบสู้การยึดครองของชาวเติร์กในช่วงสามร้อยปีที่ผ่านมา สงครามสิ้นสุดด้วยการทำลายล้างกองกำลังเติร์กจากกำลังทหารยุโรปที่เมืองไพลอส ค.ศ.1827 เหตุการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งกีดขวางชาวเยอรมันผู้วางแผนการขุดค้นต่างๆ ใน ค.ศ.1829 นักโบราณคดีได้ติดตามกองกำลังรักษาความสงบฝรั่งเศสในการขึ้นฝั่งเปโลปอนนิส (Peloponnese) และเริ่มการขุดค้นเบื้องต้นโดยโบราณวัตถุต่างๆล้วนถูกจัดส่งไปที่พิพิธภัณฑ์ลูฟ (Louvre) ในกรุงปารีส
ระยะเวลายี่สิบปีผ่านพ้นไปก่อนที่เอิร์น คอร์ติส (Ernst Curtis นักประวัติศาสตร์กรีกชาวเยอรมัน) จะจัดการบรรยายอันโด่งดัง ณ กรุงเบอร์ลิน เกี่ยวกับเมืองโอลิมเปียในการขุดค้นใหม่อีกครั้งซึ่งเริ่มต้นในเดือนมกราคม ค.ศ.1852
อย่างไรก็ตาม ต้องใช้เวลาอีกยี่สิบปีก่อนการลงนามข้อตกลงระหว่างกรีซและเยอรมนีสำหรับการขุดเมืองโอลิมเปียอย่างเป็นระบบโดยนักโบราณคดีเยอรมันใน ค.ศ.1875-1881 ความกระหายใคร่รู้ของการขุดค้นเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้นในเยอรมนี วัฒนธรรมกรีกนิยมที่พบในสถาปัตยกรรม วรรณกรรม ดนตรีและมนุษยนิยมคลาสิกได้เชื่อมโยงจิตใจของชาวเยอรมันและชาวกรีกอย่างแนบแน่น ในประเทศฝรั่งเศส รูปแบบยุคโบราณได้ปรากฎขึ้นจนกระทั่งคริสต์ศตวรรษสิบแปดและได้รับความนิยมในทศวรรษสุดท้ายของยุคก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส (Ancien Regime) โดยมีชื่อทั่วไปว่า รูปแบบหลุยส์ที่สิบหก (Louis XVI) ทั้งนี้ กระแสนิยมคลาสิกของการปฏิวัติและจักรวรรดิ์ได้ยกระดับกระแสนิยมเหล่านี้ที่สอดคล้องกับคริสต์ศตวรรษสิบเก้า ประมาณหนึ่งร้อยปีต่อมา ความรู้สึกต่อวัฒนธรรมกรีกนิยมของคูเบอร์แต็งแสดงถึงความเข้มแข็งของภาพลักษณ์เหล่านี้ที่ปรากฎในกลุ่มคนร่วมแนวคิดเดียวกัน
คูเบอร์แต็งตระหนักถึงเกียรติภูมิของประวัติกรีกรวมทั้งเมืองโอลิมเปียโบราณที่ได้รับจากชุมชนเรียนรู้ด้านอุดมคติคลาสิกของคริสต์ศตวรรษสิบเก้า โดยเขาสังเกตถึงความสนใจที่มีต่อแพนเฮเลนิกเกมส์ (Panhellenic Games) ของเมืองโอลิมเปียและเดลฟิซึ่งได้รับการขุดค้นจากชาวเยอรมันและฝรั่งเศส การมุ่งทิศยุทธศาสตร์ของเขาสู่เป้าหมายต่างๆที่เทศกาลเก่าแก่ได้สร้างแรงบันดาลใจนั้น เป็นการประกันถึงเกียรติภูมิของเทศกาลนี้ต่อผู้คนที่ไม่คุ้นเคยกับการกีฬา ความดึงดูดต่อความเก่าแก่สร้างกระแสแก่ประเทศต่างๆในทวีปยุโรปและช่วยสร้างสมานฉันท์ระหว่างกัน นอกจากนี้ ยังช่วยปลุกความสนใจต่อโลกใหม่เช่นกัน ในการชุบชีวิตกลับสู่รากเหง้าร่วมกันของวัฒนธรรมตะวันตกนั้น คูเบอร์แต็งได้ขจัดความสงสัยของผู้คนในเวลานั้นซึ่งมีความเป็นชาตินิยมที่จะปักใจว่า เขาเป็นชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่ง หรือในกรณีอื่น หากเขาดำเนินการในอีกรูปแบบหนึ่ง เขาก็อาจถูกเข้าใจผิดว่า มีความมุ่งมาดปรารถนาต่อเป้าหมายชาตินิยม
กล่าวโดยแท้แล้ว แนวคิดของ “โอลิมปิกเกมส์” ไม่เคยสูญหายอย่างสิ้นเชิงและคูเบอร์แต็งเองก็ได้กล่าวย้ำในบทความของตนใน ค.ศ.1896 โดยเขาหวนคิดถึงเทศกาลท้องถิ่นซึ่งถูกจัดขึ้นที่สวนสาธารณะชอมป์ดูมาร์ส (Champ de Mars) ในกรุงปารีส (ภายหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส) และเทศกาลต่างๆที่เกิดขึ้นในเมืองต่างๆของกรีกภายใต้ชื่อเรียกสมัยโบราณ
และอาจเป็นไปได้ในระหว่างการเดินทางสู่อเมริกาใน ค.ศ.1889 ที่แผนงานของเขาสำหรับโอลิมปิกเกมส์สมัยใหม่จะได้รับการกระตุ้นจากการประชุมกับนักประวัติศาสตร์คือ วิลเลียม เอ็ม สโลน (William M. Sloane ศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน)
“โอลิมปิกเกมส์” ท้องถิ่นในเมืองเล็กแห่งหนึ่งชื่อ มัชเว็นล็อก (Much Wenlock) ทางตอนเหนือของอังกฤษมีความใกล้เคียงสุดกับแผนการรื้นฟื้นโอลิมปิกเกมส์โบราณของคูเบอร์แต็งซึ่งติดต่อกับ ดร.วิลเลียม เพนนี บรูคส์ (Dr William Penny Brookes ครูและนายแพทย์) ผู้ก่อตั้งเกมส์เหล่านี้ใน ค.ศ.1850 และประธาน Oympian Society ท้องถิ่น โดยคูเบอร์แต็งเดินทางไปที่เมืองมัชเว็นล็อกใน ค.ศ.1890 และได้กล่าวถึงเกมส์เหล่านี้ในบทความที่ตีพิมพ์ซ้ำในฉบับนี้ด้วย ดร.บรูคส์แจ้งคูเบอร์แต็งเกี่ยวกับงานกีฬาแห่งชาติที่จัดขึ้นในกรุงเอเธนส์ภายใต้ชื่อ “โอลิมปิกเกมส์” ค.ศ.1859,1870,1875,1888/89 โดย ดร.บรูคส์ ได้จัดรางวัลสำหรับรายการกีฬาเหล่านี้ในรูปของถ้วยรางวัลเงิน
ในวารสาร Greater Britain ค.ศ.1891 จอห์น แอสเลย์ คูเปอร์ (John Astley Cooper ชาวอังกฤษ) ได้เสนอการจัด “Anglo-Saxon Olympiad” เป็นประจำด้วยสาขาหลากหลายเช่น วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ศิลปะและกีฬา ซึ่งเป็นไปได้ว่า คูเบอร์แต็งอาจได้รับแรงบันดาลใจจากข้อเสนอนี้
ช่วงเวลานั้นกำลังเหมาะสม เนื่องจากความเป็นนานาชาตินิยมทางสังคมและวัฒนธรรมในช่วงปลายของคริสต์ศตวรรษสิบเก้าทำให้ความเป็นสากลของการกีฬาเป็นข้อสรุปที่ไร้ข้อโต้แย้ง การค้นพบและการพัฒนาคมนาคมและการสื่อสารต่างๆเอื้ออำนวยต่อกระแสดังกล่าว สื่อมวลชนค้นพบว่า การกีฬาคือหัวข้อที่ได้รับความนิยม งานแสดงสินค้านานาชาติกระตุ้นการเปรียบเทียบระหว่างประเทศต่างๆ
โดยเหตุดังนั้น คูเบอร์แต็งจึงพร้อมที่จะนำเสนอแนวคิดของการรื้อฟื้นโอลิมปิกเกมส์ต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกในการบรรยายสรุปเรื่องการกีฬาสมัยใหม่ ณ อาคารซอร์บอนน์ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1892 ในครั้งนี้ คูเบอร์แต็งได้นำสู่ปลายทางอุดมคติซึ่งไม่ใช่แค่เพียงสิ่งที่ปฏิบัติได้เท่านั้น โดยมีนัยถึงดุลยภาพในอดีตกาลระหว่างร่างกายและจิตใจซึ่งระบบการศึกษาตะวันตกได้หลงลืมภายหลังการล่มสลายของวัฒนธรรมโบราณ คูเบอร์แต็งมีความชื่นชมในประวัติศาสตร์โดยบุรพกาลจะช่วยนำทางหากปัจจุบันกาลจะมีความประสงค์เช่นนั้น
ความสำคัญเร่งด่วนประการแรกของคูเบอร์แต็งคือ แนวคิด “สันติภาพระหว่างประเทศ” โดยในงานนิพนธ์ระยะแรกของเขานั้น ได้กล่าวถึงการแข่งขันกีฬานานาชาติในลักษณะ “ความร่วมมือทางการค้าในอนาคต” (หน้า 297) และนักกีฬาที่เข้าร่วมคือ “ฑูตสันติภาพ” และแม้ว่าเขาจะไม่ขยายความมากนักระหว่างการจัดตั้ง IOC ใน ค.ศ.1894 เพื่อไม่ต้องการเรียกร้องมากเกินไปต่อนักกีฬาหรือทำให้นักสันติภาพนิยมต้องตื่นตระหนก แต่ด้วยแนวคิดต่างๆด้านสันติภาพ คูเบอร์แต็งจึงได้เชื่อมโยงพันธกิจด้านจริยธรรมซึ่งเป็นหัวใจของยุทธศาสตร์โอลิมปิกทั้งในอดีตและปัจจุบันซึ่งต้องนำไปสู่การเมืองศึกษาเพื่อการบรรลุผล โดยคูเบอร์แต็งพยายามจุดประกายความเป็นนานาชาตินิยมด้วยการปลูกฝังความเป็นชาตินิยมที่ไม่สุดโต่งเมื่อก้าวเข้าสู่คริสต์ศตวรรษยี่สิบ
การรณรงค์โอลิมปิกของคูเบอร์แต็ง (ค.ศ.1894-1914)
ข้อเสนอเบื้องต้นของการรื้อฟื้นโอลิมปิกเกมส์นี้ ไม่ได้รับความเข้าใจจากผู้รับฟังบางส่วน ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดถึงความจำเป็นในการเตรียมความพร้อมของสาธารณชนสำหรับแนวปฏิบัติใหม่ แต่คูเบอร์แต็งก็ไม่ล้มเลิก โดยโอกาสมาถึง ณ การประชุมนานาชาติที่จัดโดยสหภาพสมาคมกีฬาแห่งชาติฝรั่งเศส (U.S.F.S.A) ซึ่งมีเป้าประสงค์ต่อการสร้างบรรทัดฐานร่วมของความเป็นสมัครเล่นของสมาคมกีฬาในฝรั่งเศสและต่างประเทศเพื่อส่งเสริมสัมพันธภาพของนักกีฬานานาชาติ ในฐานะเลขาธิการของ U.S.F.S.A คูเบอร์แต็งได้กำหนดวาระด้านการกีฬาไว้ด้านหน้าและวางการรื้อฟื้นโอลิมปิกเกมส์ไว้ด้านหลังซึ่งแม้จะเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในใจของคูเบอร์แต็ง ทั้งนี้ เขาเปิดเผยเป้าหมายแท้จริงในช่วงท้ายสุดด้วยการกำหนดหัวข้อใหม่กล่าวคือ “การประชุมนานาชาติ ณ กรุงปารีส เพื่อสถาปนาโอลิมปิกเกมส์”
ในการประชุมเตรียมการต่างๆช่วงปลายปี ค.ศ.1893 ที่มหานครนิวยอร์กและต้นปี ค.ศ.1894 ที่กรุงลอนดอน คูเบอร์แต็งได้ร้องขอในเรื่องนี้ต่อผู้นำกีฬาชาติต่างๆและแม้ด้วยความพยายามดังกล่าวนี้ ผู้อำนวยการจำนวนหนึ่งยังคงสงสัยต่อแผนงานโอลิมปิกของคูเบอร์แต็งใน ค.ศ.1894 อย่างไรก็ตาม ผู้แทนจำนวน 78 ท่านของ 37 สหภาพกีฬาจาก 9 ประเทศได้ลงคะแนนเห็นชอบต่อการสถาปนาโอลิมปิกเกมส์ พวกเขาบรรลุข้อตกลงในวิธีการสู่เป้าหมายและรับรองรายนามสมาชิกที่จะจัดตั้งคณะกรรมการนานาชาติแห่งโอลิมปิกเกมส์ ตามคำแนะนำของคูเบอร์แต็ง
ประเทศกรีซไม่ประสงค์ที่จะพลาดการได้รับเกียรติของประเทศแรกในการจัดโอลิมปิกเกมส์สมัยใหม่และทำให้ผู้แทนต่างๆเสนอการจัดโอลิมปิกเกมส์ใน ค.ศ.1896 โดยไม่รองานแสดงสินค้าโลก ค.ศ.1900 ณ กรุงปารีส ในวาระนี้ ผู้แทนกรีกคือ ดิมิเทรียส บิเคราส (Dimitrios Bikelas นักวรรณกรรมที่อาศัยในกรุงปารีส) ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการนานาชาติที่เพิ่งเลือกตั้งนี้ในฐานะตัวแทนประเทศเจ้าภาพ โดยคูเบอร์แต็งในตำแหน่งเลขาธิการก็ปฏิบัติแผนงานต่างๆของเขาด้วยความทุ่มเทและแรงบันดาลใจ สิ่งนี้มีความจำเป็นเนื่องจากการต่อต้านอย่างเข้มแข็งที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศกรีซต่อการจัดโอลิมปิกเกมส์ด้วยเหตุผลต่างๆทางการเงิน
ท้ายสุดแล้ว ภารกิจก็ประสบผลสำเร็จ โอลิมปิกเกมส์ครั้งแรกของยุคสมัยใหม่ได้รับการจัดในกรุงเอเธนส์ ค.ศ.1896 ความสำเร็จใหญ่หลวงนี้ทำให้ประเทศกรีซมองว่า โอลิมปิกเกมส์คือสินทรัพย์เชิงประวัติศาสตร์ของตนเองและมีความประสงค์ให้โอลิมปิกเกมส์เกิดขึ้นบนแผ่นดินตนเองตลอดกาล
สิ่งที่คูเบอร์แต็งประสบผลกลับได้รับความสนใจน้อยมากในประเทศกรีซ ด้วยเกียรติภูมิชาติ จึงละเลยชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งผู้ให้กำเนิดรายการยิ่งใหญ่นี้ นับเป็นครั้งแรกของประเทศกรีซตั้งแต่การได้รับเอกราชใน ค.ศ.1829 ที่สามารถแสดงออกถึงความรุ่มรวยของโอลิมปิกเกมส์และเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาโลก อย่างไรก็ตาม คูเบอร์แต็งไม่ละทิ้งหลักการของเขาโดยโอลิมปิกเกมส์ต้องเปลี่ยนสถานที่จัดซึ่งเป็นไปตามการยืนยันอีกครั้งหนึ่งจากที่ประชุมสมาชิก IOC ในกรุงเอเธนส์ บทความหลายชิ้นในภาคนี้เชื่อมโยงรายละเอียดของข้อโต้แย้งนี้
ขั้นตอนแรกของการรื้อฟื้นโอลิมปิกเกมส์ได้แล้วเสร็จ โอลิมปิกเกมส์ครั้งถัดไปถูกกำหนดให้จัดขึ้นในกรุงปารีส ค.ศ.1900 คำถามสำหรับคูเบอร์แต็งและเหล่าสมาชิก IOC คือ ภารกิจในระหว่างเกมส์ งานควรหยุดชะงักหรือไม่? คณะกรรมการควรสิ้นสุดลงหรือไม่? สถานการณ์นี้เปิดโอกาสสู่ความปรารถนาในการจัดประชุมสภาโอลิมปิก (Olympic Congress) ณ เมืองลูอาวา (Le Havre) ค.ศ.1897 ภายในหนังสือ Olympic Memoirs นั้น คูเบอร์แต็งเสนอเหตุจำเป็นแก่คณะกรรมการดังนี้ “ณ กรุงเอเธนส์ ความพยายามทั้งหมดได้รวมศูนย์ที่ภารกิจด้านกีฬาในบริบทเชิงประวัติศาสตร์ โดยไม่มีการประชุมสภา ไม่มีการประชุมทั่วไป และไม่มีสัญลักษณ์ใดของเป้าประสงค์ด้านการศึกษาหรือจริยธรรม การเดินหน้าสู่ทิศทางนั้นในทันทีภายหลังโอลิมปิกเกมส์จะเป็นการย้ำเตือนผู้คนถึงแนวคิดของข้าพเจ้าเชิงปรัชญาและการศึกษา และการวางบทบาทตั้งแต่เริ่มต้นของ IOC นอกเหนือจากสมาคมกีฬาทั่วไปแห่งหนึ่ง”
ในระหว่างการอภิปรายต่างๆนี้ คูเบอร์แต็งตั้งใจหลีกเลี่ยงประเด็นต่างๆของเทคนิคกีฬาและองค์กรเช่น โอลิมปิกเกมส์ เพื่อมุ่งความสนใจโดยเฉพาะที่ประเด็นต่างๆของกีฬาศึกษา
อองรี ดิดอน (Henri Didon) บาทหลวงชาวโดมินิกัน เป็นเพื่อนที่เสมือนญาติผู้ใหญ่ของคูเบอร์แต็งและเป็นผู้บรรยายหลักหัวข้อ “อิทธิพลด้านจริยธรรมของการกีฬา” สัมพันธภาพใกล้ชิดและความเป็นตัวแบบของดิดอนที่มีต่อคูเบอร์แต็งเป็นที่เด่นชัดตลอดคริสต์ทศวรรษ 1890 การประชุมสภาโอลิมปิกที่เมืองลูอาวาก็มีความพยายามเรียกร้องความสนใจของชาวฝรั่งเศสต่อการทำงานของคณะกรรมการโอลิมปิกที่เกี่ยวข้องต่อโอลิมปิกเกมส์ครั้งที่สองซึ่งจะได้รับการจัดขึ้นในกรุงปารีส ค.ศ.1900
คูเบอร์แต็งและเพื่อนๆเริ่มเตรียมการสำหรับโอลิมปิกเกมส์เหล่านี้ช้าเกินควร โดยคณะกรรมการจัดการแข่งขันเพิ่งได้รับการจัดตั้งใน ค.ศ.1898 และคณะกรรมการต่างทำงานไม่หยุดหย่อนและจัดส่งกำหนดการของโอลิมปิกเกมส์แก่ทุกประเทศ อย่างไรก็ตาม แรงต่อต้านจากผู้จัดงานแสดงสินค้าโลกก็เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด ผู้จัดเหล่านี้วางแผนการแสดงอุปกรณ์กีฬาและการสาธิตกีฬาตามกำหนดการตลอดปีซึ่งจะทำให้กีฬานิยมต่างๆได้รับการชมในรูปแบบของตนเองที่รวมถึงรายการแข่งขันสำหรับทั้งนักกีฬาอาชีพและสมัครเล่น โดย U.S.F.S.A ตกลงสนับสนุนโปรแกรมกีฬาของงานแสดงสินค้าโลกที่จัดโดยรัฐบาลฝรั่งเศส คูเบอร์แต็งถอนตัวจากงานของสหภาพสมาคมนี้เนื่องจากการจู่โจมนี้ จนกระทั่ง ค.ศ.1899 ซึ่งเขาตระหนักถึงความไม่มีประสิทธิผลของทัศนคตินี้และเข้าร่วมการตกลงกับผู้จัดงานแสดงสินค้าโลก คูเบอร์แต็งขอให้บรรจุ “การแข่งขันโอลิมปิก” ในโปรแกรมกีฬาของงานแสดงสินค้าโลกโดยเขาและเพื่อนสมาชิก IOC ต่างเคี่ยวเข็ญการประชาสัมพันธ์เพื่อรณรงค์การมีส่วนร่วมกับรายการเหล่านี้ คูเบอร์แต็งรับผิดชอบรายการลู่และลานด้วยตนเอง เขากล่าวถึงความล้มเหลวของโอลิมปิกเกมส์ 1900 ไว้เพียงภายในหนังสืออัตตชีวประวัติสองเล่มคือ La Campagne de vingt-et-uns และ Memoires Olympiques ว่า นับเป็นความอัศจรรย์ที่ยุทธศาสตร์โอลิมปิกอยู่รอดปลอดภัยจากการทดลองนี้
ภายหลังการพิพาทระหว่างเมืองชิคาโกและเซนต์หลุยส์ โอลิมปิกเกมส์ครั้งที่สาม ค.ศ.1904 ก็ได้รับการจัดขึ้นที่เมืองเซนต์หลุยส์ภายในงานแสดงสินค้าโลกอีกครั้งและความยากในการแยกแยะระหว่างโปรแกรมสาธิตกีฬากับโอลิมปิกเกมส์ก็ปรากฎขึ้นเหมือนครั้งก่อน อย่างไรก็ตาม ด้วยการสืบสวนอย่างเป็นระบบของแหล่งข้อมูลต่างๆแสดงให้เห็นว่า โอลิมปิกเกมส์เหล่านี้ได้รับความเสียหายจากความสับสนที่เกี่ยวเนื่องกับงานแสดงสินค้าโลกน้อยกว่าที่นักประวัติศาสตร์ของยุทธศาสตร์โอลิมปิกเคยกล่าวถึง การเข้าร่วมของชาวยุโรปลดน้อยลงมาก อย่างไรก็ตาม การตัดสินต่างๆของ IOC ก็ได้รับการปฏิบัติตาม มาตรวัดเมตริกถูกใช้งานเป็นครั้งแรกในอเมริกา คูเบอร์แต็งไม่ได้เดินทางไปเซนต์หลุยส์ด้วยตนเองแต่มีผู้แทนจาก IOC คือ เคเมนี (Kemeny) และ เก็บฮาร์ด (Gebhardt) ในช่วงเวลานั้น คูเบอร์แต็งใส่ใจในประเด็นที่ก่อความกังวลแก่เขาในฐานะนักเขียนและผู้จัดงานกล่าวคือ การสร้างยุทธศาสตร์กีฬานิยมในฝรั่งเศสซึ่งเป็นหัวข้อในภาคสามของฉบับภาษาฝรั่งเศส
การประชุม IOC ค.ศ.1904 ในกรุงลอนดอนก่อให้เกิดการเริ่มต้นของการประชุมประจำปี การจัดโอลิมปิกเกมส์ ค.ศ.1908 มอบแก่กรุงโรมโดยคูเบอร์แต็งรู้สึกว่า การคัดเลือกครั้งนี้จะนำไปสู่การแสดงศิลปะคุณภาพระดับสูงโดยเฉพาะ ซึ่งในขณะนั้น โอลิมปิกเกมส์กลายเป็นงานสำหรับสมาคมกีฬาของประเทศเจ้าภาพโดยใช้ข้อบังคับของประเทศ เนื่องเพราะยังไม่มีข้อบังคับนานาชาติ
โดยการเป็นภาพลักษณ์ของ IOC นั้น คูเบอร์แต็งไม่ได้แสดงอิทธิพลมากต่อรูปแบบภายนอกของโอลิมปิกเกมส์ กีฬาน้อยชนิดที่มีสหพันธ์กีฬานานาชาติ จึงมีการคาดหวังถึงความขัดแย้งจำนวนน้อยเกี่ยวกับผลงานกีฬาในขณะนั้น
ค.ศ.1901 IOC เรียกประชุมสภาโอลิมปิกสำหรับพลศึกษา ณ กรุงบลัสเซลส์ แต่การประชุมไม่ได้เกิดขึ้นจนกระทั่ง ค.ศ.1905 โดยแทนที่จะเป็นการเรียกร้องถึงบูรณาการของโปรแกรมโอลิมปิกตามเป้าประสงค์เดิม การประชุมครั้งนี้กลับตรวจสอบแต่เพียงโอกาสต่างๆที่ปรากฎขึ้นจากการออกกำลังกายในรูปแบบหลากหลายของการศึกษาและชีวิตเท่านั้น
จากมุมมองของพวกเราในปัจจุบัน พวกเราต้องพิจารณาประเด็นของการอภิปรายเหล่านี้ต่อความรุดหน้าของการกีฬาจากการแก้ไขและความผิดพลาด ข้อเสนอแนะต่างๆที่ได้รับยังมีที่เกี่ยวข้องกับมาตรการระยะยาวสำหรับกีฬายานยนต์ ในขณะเดียวกัน ประเทศอิตาลีสนทนาเกี่ยวกับการแข่งขันรถยนต์จากกรุงโรมถึงเมืองมิลานสำหรับโอลิมปิกเกมส์ ค.ศ.1908 ซึ่งเป็นแนวคิดหนึ่งที่คงไม่มีใครในปัจจุบันจะนำมาเชื่อมโยงกับโอลิมปิกเกมส์อีกแล้ว
ขอบเขตของการมีส่วนร่วมนานาชาติในสภาโอลิมปิกที่กรุงบรัสเซลส์เป็นที่น่าประหลาดใจ โดย IOC สามารถกล่าวอ้างอย่างสมเหตุผลต่อการเป็นมากกว่าผู้จัดโอลิมปิกเกมส์ ด้วยการสนับสนุนจากกษัตริย์เบลเยียม การตบแต่งสถานที่ของสภาโอลิมปิกได้ถูกจัดเตรียมอย่างชำนาญการและสร้างความประทับใจอย่างยิ่ง ซึ่งคูเบอร์แต็งต้องการความสำเร็จนี้โดยเฉพาะเมื่อโอลิมปิกเกมส์สองครั้งก่อนหน้าไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในทวีปยุโรปและปัญหาการเงินกำลังเริ่มก่อตัวขึ้นในกรุงโรมสำหรับโอลิมปิกเกมส์ ค.ศ.1908
คูเบอร์แต็งจัดทำวุฒิบัตรโอลิมปิกและใช้สภาโอลิมปิกที่กรุงบรัสเซลส์ในการมอบแก่ธีโอดอร์ โรซเวลต์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นบุคคลแรกที่ได้รับ คูเบอร์แต็งมีความเห็นว่า โรซเวลต์คือตัวอย่างของการบรรลุดุลยภาพด้านร่างกาย สติปัญญาและจิตใจ ซึ่งเป็นการย้ำเตือนของคูเบอร์แต็งต่อพันธกิจคณะกรรมการของเขาที่มีมากกว่าโอลิมปิกเกมส์
โอลิมปิกเกมส์รองได้ถูกจัดขึ้นใน ค.ศ.1906 ณ กรุงเอเธนส์ ด้วยชาวกรีกต้องการใช้เหตุการณ์นี้เพื่อยืนยันความตั้งใจของพวกเขาในการรักษาโอลิมปิกเกมส์รองในประเทศกรีซสองปีนับจากโอลิมปิกเกมส์หลัก คูเบอร์แต็งไม่ได้เข้าร่วมโดยเขาเล็งเห็นว่า เกมส์รองนี้เป็นภัยต่อจังหวะรอบสี่ปีที่ได้กำหนดไว้ นอกจากนี้ เขาอาจจะสงวนท่าทีเนื่องจากไม่ใด้รับการยกย่องจากชาวกรีก แม้ IOC จะสนับสนุนเกมส์รองเหล่านี้ แต่คูเบอร์แต็งเห็นประโยชน์ประการเดียวแก่ชาวกรีกกล่าวคือ การฟื้นฟูการติดต่อระหว่างนักกีฬา ผู้ชมและจิตวิญญาณของประเทศกรีซ
ทั้งนี้ คูเบอร์แต็งมีสิ่งจูงใจที่สำคัญกว่าการเดินทางไปประเทศกรีซ ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1906 คูเบอร์แต็งจัดการประชุมเชิงปรึกษาด้านศิลปะในกรุงปารีสด้วยคำร้องขอจาก IOC ในช่วงเริ่มต้นยุทธศาสตร์ของเขานั้น คูเบอร์แต็งตั้งใจปล่อยแผนงานนี้ไว้เบื้องหลังเพื่อขับเคลื่อนรุดหน้าพร้อมกับการดำเนินงานขั้นต่างๆในระยะยาวของเขา
การประชุมสภาโอลิมปิกที่เมืองลูอาวาและกรุงบรัสเซลส์เชื่อมโยงกีฬาและวิทยาศาสตร์ แต่ล้มเหลวกับศิลปะ สิ่งที่คูเบอร์แต็งมองเห็นคือ โอลิมปิกเกมส์ต้องบรรจุองค์ประกอบต่างๆที่จะนำไปสู่การแข่งขันนานาชาติและควรเน้นย้ำถึงความหมายแท้จริงของโอลิมปิกเกมส์ด้วยการรื้อฟื้นตัวแบบอดีต
ค.ศ.1904 คูเบอร์แต็งเขียนในวารสาร Le Figaro ว่า “ถึงเวลาสมควรแก่การดำเนินงานขั้นต่อไปและการฟื้นฟูโอลิมปิกสู่ความสวยงามดั้งเดิม ในช่วงรุ่งเรืองของเมืองโอลิมเปีย บูรณาการระหว่างวรรณกรรม ศิลปะและกีฬานำมาซึ่งความอลังการของโอลิมปิกเกมส์ สิ่งเหล่านี้จักต้องปรากฎขึ้นจริงในอนาคต”
การประชุมที่ปรึกษาหยิบยกประเด็น “ขอบเขตและรูปแบบใดของศิลปะและวรรณกรรมที่จะสอดคล้องกับการเฉลิมฉลองรอบปีโอลิมปิกสมัยใหม่” และ “กีฬาที่จะนำมาซึ่งความรื่นเริงหากมีเครื่องแต่งกายที่สวยงาม” ปรากฎในงานนิพนธ์ของคูเบอร์แต็งใน ค.ศ.1911 ว่าด้วยกรีฑาแนวรัสกินนิยม โดยจอห์น รัสกิน (John Ruskin ค.ศ.1819-1900) คือ นักวิจารณ์ศิลปะชาวอังกฤษผู้นำเสนอทฤษฎีว่า ความสวยแสดงจิตวิญญาณของจักรวาล เป็นที่ประทับใจและแรงบันดาลใจสำคัญของคูเบอร์แต็ง โอลิมปิกเกมส์ในฐานะประจักษ์พยานของเยาวชนจะปรากฎขึ้นใหม่ทุกสี่ปีและการแสดงถึงรูปแบบใหม่ของ “ลัทธิแก่นมนุษย์” จำเป็นต้องการรูปแบบเอกลักษณ์ โดยพิธีเปิดและปิด การประกาศชัยชนะ ห่วงโอลิมปิก ธงโอลิมปิก รวมทั้งคำปฏิญาณโอลิมปิกและเปลวไฟโอลิมปิกจะสร้างกรอบงานเฉลิมฉลอง งานสร้างสรรค์ที่น่าประทับใจตั้งแต่มิติสุนทรียภาพจะประกันถึงคุณค่าที่ยั่งยืนของโอลิมปิกเกมส์เนื่องเพราะเป็นการสะท้อนความสำคัญที่บุรพกาลมีความยึดโยงต่อศิลปะและการเฉลิมฉลองพิธีการต่างๆ
จากจุดเล็กนี้ทำให้เข้าใจรสนิยมดนตรีของคูเบอร์แต็งต่อแว็กเนอร์ซึ่งทำให้เขาเข้าร่วมเทศกาลไบรอยท์อยู่หลายคราว อย่างไรก็ตาม งานศิลปะของคูเบอร์แต็งไม่ใช่ “The Ring of the Nibelungen” แต่เป็น “โอลิมปิกเกมส์”
การประชุมปารีส ค.ศ.1906 ลงมติให้นำเสนอการแข่งขันศิลปะโอลิมปิกห้าชนิดคือ สถาปัตยกรรม ประติมากรรม การวาดภาพ วรรณกรรม และดนตรี พร้อมข้อแนะนำต่างๆเกี่ยวกับรูปแบบศิลปะของผลงานกีฬาที่เป็นไปได้อย่างกว้างขวางที่สุด
กรุงโรมถอนตัวจากโอลิมปิกเกมส์ ค.ศ.1908 และกรุงลอนดอนเสนอตัวในนาทีสุดท้าย โดยเหตุนี้ การแข่งขันศิลปะจึงไม่เกิดขึ้นจนกระทั่งโอลิมปิกเกมส์ ค.ศ.1912 ที่กรุงสต็อกโฮล์ม คูเบอร์แต็งชนะเหรียญทองโอลิมปิกสำหรับวรรณกรรมภายใต้ชื่อแฝงคือ Hohrod/Eschbach (เยอรมนี/ฝรั่งเศส) สำหรับผลงาน “Ode to Sport” โดยเขาปกปิดการเข้าร่วมและชัยชนะเป็นความลับโดยไม่ระบุที่ใดในงานนิพนธ์ภายหลังการเสียชีวิต
การแข่งขันศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมโอลิมปิกจนถึงโอลิมปิกเกมส์ ค.ศ.1948 นับจากนั้น การแข่งขันเหล่านี้ได้รับการเสนอจากผลงานศิลปะจำนวนมากของเทศกาลโอลิมปิก
การประชุมที่ปรึกษาปารีส ค.ศ.1906 เกิดผลลัพธ์อีกประการหนึ่งคือ การแข่งขันสถาปัตยกรรมนานาชาติ ค.ศ.1910 ของ IOC และหัวข้อคือ การนำเสนอแบบจำลอง “เมืองโอลิมเปียสมัยใหม่” สภาสถาปนิกปารีสตกลงที่จะจัดตั้งคณะผู้ตัดสิน โดยสถาปนิกสองคนจากเมืองโลซานน์ชนะรางวัลอันดับหนึ่งสำหรับแบบจำลองเมืองโอลิมปิกรอบทะเลสาบเจนีวาของพวกเขา ความผูกพันระหว่างคูเบอร์แต็งกับเมืองโลซานน์จึงเกิดขึ้นอย่างมั่นคง
บทบาทของศิลปะในโอลิมปิกเกมส์และกีฬาประจำวันมีนัยสำคัญต่อคูเบอร์แต็งดังปรากฎอยู่จำนวนมากในฉบับนี้
รูปแบบสุดท้ายสำหรับโครงการโอลิมปิกของคูเบอร์แต็งเริ่มต้นที่กรุงลอนดอน ค.ศ.1908 และเจิดจรัสที่กรุงสต็อกโฮล์ม ค.ศ.1912 สมาคมกีฬาแห่งชาติต่างๆพร้อมด้วยนักกีฬาให้การยอมรับโอลิมปิกเกมส์เป็นจุดสูงสุดของโลกกีฬา โดย IOC ตระเตรียมแนวทางของจุดเปลี่ยนนี้ต่อรายการกีฬาที่การประชุมสภาโอลิมปิก ค.ศ.1914 ซึ่งสหพันธ์กีฬานานาชาติ (IF) มีความรับผิดชอบพิเศษด้านเทคนิคของโอลิมปิกเกมส์
คูเบอร์แต็งจัดประชุมสภาโอลิมปิกการศึกษาที่เมืองโลซานน์ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1913 เพื่อตรวจสอบอิทธิพลด้านจิตวิทยาและสรีระวิทยาของกีฬาต่อการกำหนดบุคลิกภาพ แนวคิด “จิตวิทยากีฬา” มีจุดเริ่มต้นจากการประชุมนี้ซึ่งคูเบอร์แต็งเน้นย้ำถึงความรับผิดชอบด้านการศึกษาที่หลากหลายของ IOC ในมิติต่างๆของแนวคิดโอลิมปิก
จาก “แนวคิดโอลิมปิก” สู่ “อุดมการณ์โอลิมปิก”
มิติปรัชญาและการศึกษาของอุดมการณ์โอลิมปิกได้รับการเน้นย้ำในหัวข้อ 5 ของฉบับนี้ คูเบอร์แต็งเขียนหัวข้อนี้จำนวนหลายครั้งในฐานะมิติประวัติของอุดมการณ์โอลิมปิก โดยบทความทั้งหมดเกิดขึ้นภายหลัง ค.ศ.1911 ยกเว้นเพียงชิ้นเดียว โดยเหตุนี้ พวกเราจึงอนุมานได้ว่า ในช่วงเวลานั้น ประเด็นต่างๆเกี่ยวกับการจัดโอลิมปิกเกมส์และยุทธศาสตร์โอลิมปิกมีความสำคัญน้อยกว่ามากสำหรับคูเบอร์แต็ง
เขาทุ่มเทพลังทั้งหมดเพื่อทำให้ “แนวคิดโอลิมปิก” เป็นจริงซึ่งเขาได้สร้างคำใหม่คือ “อุดมการณ์โอลิมปิก” สำหรับคูเบอร์แต็งแล้ว “อุดมการณ์โอลิมปิก” ไม่มีลักษณะสถาบันของระบบใด แต่เกี่ยวกับทัศนคติเชิงจริยธรรมของบุคคลและจากพื้นฐานนี้ก็รวมถึงมนุษยชาติด้วย สำหรับจุดหมายนี้ คูเบอร์แต็งรื้อฟื้นเป้าหมายเชิงศาสนาของโอลิมปิกเกมส์โบราณแก่โอลิมปิกเกมส์สมัยใหม่โดยไม่เปลี่ยนแปลงจิตวิญญาณของเกมส์แต่ประการใด
บทความต่างๆของ “อุดมการณ์โอลิมปิก” ที่พวกเราคัดเลือกมีนัยสำคัญยิ่งในภาคนี้ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ได้เปิดเผยความคิดของคูเบอร์แต็งเกี่ยวกับ “ปรัชญาโอลิมปิก” ของเขาในหลายแนวทาง คูเบอร์แต็งคือนักการศึกษาที่มีศรัทธาแรงกล้าและความเชื่อว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสังคมและเทคโนโลยีของอารยธรรมในต้นคริสต์ศตวรรษยี่สิบใฝ่หามนุษย์และการศึกษารูปแบบใหม่ ในมุมมองของคูเบอร์แต็งนั้น โอลิมปิกศึกษาตั้งอยู่ “บนลัทธิความพยายามและความเป็นหนึ่ง” และความรักต่อความหรูหราผสมผสานกับความรักต่อความพอเพียง
คูเบอร์แต็งพิจารณาผู้ชนะโอลิมปิกที่แท้จริงในลักษณะบุรุษเต็มวัย นักกีฬานี้คือภาพลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ที่ได้รับการแต่งโฉมในแต่ละรอบปีโอลิมปิก โดยเหตุดังนั้น คูเบอร์แต็งจึงมองโอลิมปิกเกมส์เป็น “เทศกาลยิ่งใหญ่รอบสี่ที่เบ่งบานของมนุษยชน” เขารู้สึกว่า ผู้มีส่วนร่วมและผู้รับชมควรได้รับการเตรียมที่เหมาะสมสำหรับเทศกาลนี้ การจัดเตรียมนี้จะประสบผลด้วยการจัดกีฬาศึกษาในระยะยาวแก่เยาวชนและสาธารณชนทั้งปวงเท่านั้น
ค.ศ.1918 คูเบอร์แต็งตอบคำถาม “อุดมการณ์โอลิมปิกคืออะไร?” ดังนี้ อุดมการณ์โอลิมปิกคือ จิตวิญญาณแห่งพลังซึ่งหมายถึง การบ่มเพาะพลังจิตที่พัฒนาผ่านการเล่นกีฬาหลายชนิดที่พร้อมด้วยสุขอนามัยเหมาะสม จิตสาธารณะ ศิลปะ และความคิด” ซึ่งดูเหมือนว่า คูเบอร์แต็งจะไม่สังเกตถึงบูรณาการของทิศทางนี้ว่า เป็นการเรียกร้องที่มากเกินควรสำหรับเพื่อนโอลิมปิก นักกีฬา และแม้กระทั่งยุทธศาสตร์โอลิมปิกของเขาเอง การหล่อหลอมแนวคิด “จิตวิญญาณกีฬา” สมัยใหม่นี้ คูเบอร์แต็งนำพายุทธศาสตร์ของเขาไปไกลกว่าเป้าหมายเดิมทางการศึกษาของตนเอง ระบบปรัชญาที่เขานำมาปะติดปะต่อกันนั้น ขาดความชัดแจ้งโดยเฉพาะการอ้างอิงเชิงจิตวิญญาณของมนุษย์สมัยโบราณและนักกีฬาซึ่งเป็นสมมติฐานที่ไม่ปรากฎ ตามหลักฐานทั้งหมดนั้น วิสัยทัศน์ของคูเบอร์แต็งต่อลัทธิกรีกนิยมและความไร้ระเบียบของการเมืองโลกทำให้เขามีความสุดโต่งเช่นนี้
WWI หยุดยั้งกิจกรรมต่างๆของคูเบอร์แต็งโดยทำให้กีฬานานาชาติชะงักลงแม้จะเพิ่งเริ่มต้นเผยแพร่ในขณะนั้นรวมทั้งการยกเลิกโอลิมปิกเกมส์ครั้งที่หก ค.ศ.1916 ความคิดอ่านของคูเบอร์แต็งเกี่ยวกับสันติภาพโอลิมปิกที่สืบทอดจากบุรพกาลพร้อมด้วยอุดมคติของความเป็นหนึ่งได้ถูกทำลายลง
คูเบอร์แต็งย้ายสำนักงานใหญ่ของ IOC ไปเมืองโลซานน์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ซึ่งเป็นกลางทางการเมืองใน ค.ศ.1915 เพื่อปกป้องยุทธศาสตร์ของเขา (อย่างน้อยในเชิงสถาบัน) จากเงื้อมมือชั่วร้ายของสงคราม คูเบอร์แต็งรู้จักและชื่นชอบเมืองโลซานน์จากการแข่งขันสถาปัตยกรรม ค.ศ.1910 และระหว่างการประชุมสภาโอลิมปิก ค.ศ.1913 โดยเขาอาจต้องการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ของ IOC ให้ใกล้กับคณะกรรมการนานาชาติของสภากาชาดซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในสวิสเซอร์แลนด์ งานนิพนธ์ของคูเบอร์แต็งเกี่ยวกับเมืองโลซานน์และประเทศสวิสเซอร์แลนด์ปรากฎในบท 6.4 ของฉบับนี้
ประวัติยุทธศาสตร์โอลิมปิกมักจะไม่กล่าวถึงงานของคูเบอร์แต็งในระหว่างเดือนมกราคม ค.ศ.1916 และการสิ้นสุดสงคราม ค.ศ.1918 ว่า เขาได้มอบตำแหน่งประธาน IOC เป็นการชั่วคราวแก่กู๊ดฟร็อย์ เดอ บลูเนย์ (Godefroy de Blonay ผู้แทนชาวสวิสใน IOC) คูเบอร์แต็งคือผู้รักชาติที่ปฏิบัติหน้าที่และเข้าร่วมกองทัพฝรั่งเศส ในขณะอายุ 52 เขาได้รับมอบหมายการสอนหน้าที่พลเมืองแก่เยาวชนฝรั่งเศส
อาจจะผิดพลาดที่จะวิพากษ์ว่า กิจกรรมเหล่านี้และแนวคิดโอลิมปิกของคูเบอร์แต็งเป็นสิ่งตรงข้ามกันซึ่ง “ความเคารพต่อนานาประเทศ” เป็นบัญญัติแรกแห่งศรัทธาของเขา โดยเหตุนี้ เป็นการสมควรหรือไม่ที่จะไม่ปฏิบัติตามบัญญัตินี้เมื่อเกี่ยวข้องกับประเทศตนเอง? คูเบอร์แต็งพิจารณารูปแบบชาตินิยมนี้ว่า เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้แม้อาจจะถูกหักล้างด้วยนานาชาตินิยมที่แท้จริง
หายนะของ WWI ภายหลัง ค.ศ.1917 ส่งอิทธิพลอย่างยิ่งต่อคูเบอร์แต็งในประเด็นพื้นฐานของกีฬาศึกษากล่าวคือ การกีฬาซึ่งเป็นสินค้าสาธารณะร่วมกันของทุกสังคมรัฐโดยเฉพาะในช่วงวิกฤตภายหลัง ค.ศ.1918 ควรเป็นจุดเริ่มต้นสันติภาพของสังคมและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์โอลิมปิกเพื่อสันติภาพของโลกทั้งมวล
ยามที่คูเบอร์แต็งกล่าวว่า “มีความจำเป็นต่อการสัมพันธ์กับมวลชน” นั้น เขาอธิบายได้ดีกว่าใครสำหรับแผนงานที่เขานำไปปฏิบัติภายหลัง ค.ศ.1918 โดยเป็นที่แน่ชัดว่า การที่โอลิมปิกเกมส์ให้ความสำคัญแก่บุคคลนั้น ไม่เพียงพอที่จะทำให้การกีฬาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันได้ คูเบอร์แต็งจึงเขียนใน ค.ศ.1918 ว่า โอลิมปิกศึกษาที่จำเป็นนั้นต้องมี “สถาบันถาวร” อย่างไรก็ตาม เขาทำได้เพียงข้อเสนอแนะและแนวคิดทฤษฎีต่างๆเท่านั้น ครั้งแล้วครั้งเล่าที่เขาเรียกร้องการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมเมืองควบคู่ไปกับ “ยิมเนเซียมโบราณ” และมอบตัวอย่างจริงของสถาบันนี้ด้วยการจัดตั้งสถาบันโอลิมปิกที่เมืองโลซานน์ ผลจากการฝึกงานของทหารเบลเยียมและฝรั่งเศส ค.ศ.1917-1918 คือปรากฎการณ์ที่ดียิ่ง ซึ่งความปรารถนาของเขาในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยมวลชนได้ปรากฎขึ้นจริงเป็นครั้งแรก ความใฝ่ฝันของเขาในการทำสิ่งนี้ไม่เคยสั่นไหวโดยมีตัวอย่างจำนวนมากในภาคแรกของฉบับนี้
เมื่อสิ้นสุด WWI แล้ว คูเบอร์แต็งเพิ่มบทบาทแก่อุดมการณ์โอลิมปิกกล่าวคือ “การเผชิญหน้ากับโลกใหม่ที่ต้องการระเบียบสอดคล้องต่อหลักพื้นฐานของโลกอุดมคติที่พร้อมปรับเปลี่ยน” โดยเขากล่าวว่า “มนุษยชาติต้องรวบรวมพลังอำนาจจากมรดกในอดีตเพื่อนำมาสร้างสรรค์อนาคต”
แต่ด้วยความนิยมของโอลิมปิกเกมส์ที่สูงขึ้น มุมมองของคูเบอร์แต็งต่อโอลิมปิกเกมส์เริ่มห่างไกลไปจากเป้าประสงค์เดิมเป็นอย่างมาก แม้ในระหว่างสงคราม เขายังคงจัดการโอลิมปิกเกมส์ 1920 ให้เกิดขึ้นที่เมืองแอนต์เวิร์ปเพื่อรักษาความต่อเนื่องของรอบสี่ปีโบราณ อย่างไรก็ตาม เขาได้รับการกล่าวอ้างว่า แม้โอลิมปิกเกมส์กลายเป็นปรากฎการณ์นานาชาติ แต่มวลชน “ยังคงสับสนต่อนัยสำคัญของเกมส์” ความหวังของเขาในการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เกิดผลเนื่องจากความอลหม่านใหญ่หลวงของ WWI ที่ติดตามมา
คูเบอร์แต็งคือนักอุดมคติที่ไม่หวังจะแลกเป้าหมายสูงส่งของมนุษยนิยมกับผู้ทรงภูมิที่มีตำแหน่งใน IOC หรือสหพันธ์กีฬานานาชาติที่ขยายตัวอย่างอิสระ
สหายทั้งหลายของเขาที่ IOC มอบความหวังที่จะเห็นกรุงปารีสกลายเป็นสำนักงานใหญ่ของโอลิมปิกเกมส์ ภายหลังความสำเร็จยิ่งใหญ่นี้ คูเบอร์แต็งปรารถนาจะถอนตัวจาก IOC
คูเบอร์แต็งกล่าวคำปราศรัยอำลาในที่ประชุมสภาโอลิมปิก กรุงปราก ค.ศ.1925 โดยย้ำเตือนถึงภารกิจชัดเจนของรัฐสมัยใหม่ทุกแห่งต่อการประกันว่า ทุกคนมีโอกาสเข้าร่วมเล่นกีฬา ทั้งนี้ มวลชนไม่จำเป็นต้องสรรเสริญตัวแบบกีฬาหากตนเองไม่เล่นกีฬา นอกจากนี้ เขายังประกาศแผนการศึกษาต่างๆนอกเหนือจากยุทธศาสตร์โอลิมปิก
แผนงานเหล่านี้ก่อให้เกิดการจัดตั้ง “สหภาพการศึกษาสากล” (Universal Educational Union: U.P.U.) ใน ค.ศ.1925 ตามคำแนะนำของคูเบอร์แต็งซึ่งนำเสนอแผนงานสากลของการศึกษาใน ค.ศ.1930 นอกจากนี้ ยังมีสิ่งพิมพ์ต่างๆขององค์กรกีฬาศึกษานานาชาติ (International Bureau of Sports Pedagogy: B.I.P.S.) ซึ่งเขาก่อตั้งใน ค.ศ.1926 และทำหน้าที่อำนวยการ
ความขัดแย้งราวจะเกิดขึ้นเมื่อคูเบอร์แต็งวิพากษ์สมาชิก IOC ต่อการแสดงบทบาท “ที่ปรึกษาด้านเทคนิค” มากกว่า “ผู้พิทักษ์” จิตวิญญาณโอลิมปิก แต่ก็กล่าวถึงความสำเร็จยิ่งใหญ่ของแนวคิดโอลิมปิกและยิ่งกว่านั้นคือ “ชัยชนะของอุดมการณ์โอลิมปิก”
ภายในบทความ “เมืองโอลิมเปีย” ในฉบับนี้ คูเบอร์แต็งเสนอความเห็นใน ค.ศ.1929 ดังนี้ “ข้าพเจ้าจะส่งมอบการควบคุมที่มีประสิทธิผลของอุดมการณ์โอลิมปิกที่ได้รับการรื้นฟื้นแก่ผู้สืบทอดของข้าพเจ้าก็ต่อเมื่อข้าพเจ้าประเมินงานรื้อฟื้นนี้ว่า ประสบผลในรายละเอียดทั้งหมดพร้อมการปรับตัวสู่ความจำเป็นต้องการปัจจุบัน”
หากคูเบอร์แต็งพิจารณาอุดมการณ์โอลิมปิกเสมือนเป็นอุดมคติสำหรับรูปแบบการศึกษาที่เน้นย้ำสมรรถนะร่างกาย สติปัญญา และจิตใจของบุคคลแล้ว ทำไมเขาจึงต้องอรรถาธิบายอีกแนวคิดหนึ่งเมื่อเขาออกจาก IOC? โดยเหตุที่คูเบอร์แต็งตระหนักดีถึงพันธกิจการศึกษาของตนเอง เขาจึงต้องต่อสู้กับสิ่งกีดขวางทั้งหลายแม้กระทั่งสภาพความเป็นจริงที่บังคับตัวเขาอยู่ ไม่มีใครปฏิเสธคุโณปการอันเป็นที่ประจักษ์ของเขาต่อความสำเร็จของโอลิมปิกเกมส์ แต่ทำใมเขาจึงต้องหักล้างผลงานที่สร้างชื่อให้แก่ตนเอง?
อุดมคติชั้นสูงของคูเบอร์แต็งต่อยุทธศาสตร์โอลิมปิกไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้สืบทอดตำแหน่งประธาน IOC กล่าวคือ เบล์ยิต-ละทัวร์ (Baillet-Latour ชาวเบลเยียม) หรือคนอื่นในการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ย้ำเตือนคุณลักษณะเฉพาะด้านจริยธรรมของตำแหน่งนี้
“ข้อความถึงนักกีฬาเยาวชนทุกชาติ” ที่ส่งจากเมืองโอลิมเปีย ค.ศ.1927 และตีพิมพ์อีกครั้งในฉบับนี้ รวมทั้ง “ข้อความถึงนักกีฬาและผู้มีส่วนร่วมในโอลิมปิกเกมส์ อัมสเตอร์ดัม 1928” ตลอดจน “ข้อความถึงเยาวชนอเมริกัน” ค.ศ.1934 ในวาระครบรอบสี่สิบปีของ IOC คือ ประจักษ์พยานสำคัญของการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ของคูเบอร์แต็งต่อการเจริญเติบโตต่อเนื่องของยุทธศาสตร์โอลิมปิก
คูเบอร์แต็งกังวลต่อสุขภาพของลูกสองคน ตัวเขาเองก็มีความทุกข์จากความชราก่อนวัย นับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1930 พลังขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆของนักประชาสัมพันธ์ชั้นเลิศดับมอดลง โดยในช่วงแรก เขาวางแผนที่จะเขียนบันทึกความทรงจำห้าฉบับ แต่มีเพียงส่วนหนึ่งที่สำเร็จ ฉบับที่หนึ่งตีพิมพ์โดย B.I.P.S. ใน ค.ศ.1932 และ Olympic Memoirs ปรากฎขึ้นภายหลังการแปลเป็นภาษาเยอรมันไม่นานนัก
คูเบอร์แต็งไม่ได้เข้าร่วมโอลิมปิกเกมส์ อัมสเตอร์ดัม 1928 หรือโอลิมปิกเกมส์ ลอสแองเจลิส 1932 แม้จะได้รับการเชิญอย่างเป็นทางการ แรงบันดาลใจของคาร์ล ดีม (Carl Diem) ต่อการวิ่งคบไฟโอลิมปิกของโอลิมปิกเกมส์ 1936 สอดคล้องอย่างยิ่งกับความคิดของคูเบอร์แต็ง โดยข้อความบันดาลใจของเขาที่มีต่อนักวิ่งคบไฟโอลิมปิกสู่กรุงเบอร์ลินคือส่วนหนึ่งของหลักบัญญัติโอลิมปิกของคูเบอร์แต็ง
กิจกรรมโอลิมปิกในช่วงท้ายชีวิตของคูเบอร์แต็งที่สำคัญสุดคือ สุนทรพจน์ว่าด้วย “หลักพื้นฐานปรัชญาของโอลิมปิกสมัยใหม่” ผ่านการถ่ายทอดสัญญาณวิทยุ ค.ศ.1936 ด้วยรูปแบบแนวคิดกระชับสุดที่ตนเองพัฒนาตลอดหลายทศวรรษเกี่ยวกับอุดมการณ์โอลิมปิกสมัยใหม่ซึ่งสามารถสรุปย่อได้สามประการกล่าวคือ
- “การเฉลิมฉลองโอลิมปิกเกมส์คือ การสรรเสริญประวัติศาสตร์”
- “อุดมการณ์โอลิมปิกไม่ใช่ระบบ แต่เป็นทัศนคติเชิงจิตวิญญาณและจริยธรรม”
- “ตราบปัจจุบัน ศรัทธาไม่เสื่อมคลายของข้าพเจ้าที่มีต่อเยาวชนและอนาคตคือหลักขับเคลื่อนงานของข้าพเจ้า จากที่ห่างไกล คูเบอร์แต็งเฝ้าติดตามโอลิมปิกเกมส์ 1936 ด้วยความสนใจยิ่ง มิติศิลปะของเกมส์เหล่านี้แสดงถึงอิทธิพลของคูเบอร์แต็งเช่น การแสดง “Ode to Joy” ของบีโทเฟนในค่ำคืนพิธีเปิดโอลิมปิกเกมส์ เป็นต้น
ท่ามกลางการทะเลาะถกเถียงในขณะนั้นเกี่ยวกับการเมืองของโอลิมปิกเกมส์และการกีฬา แต่ความหวังของคูเบอร์แต็งที่มีต่ออนาคตของอุดมการณ์โอลิมปิกไม่เคยสั่นคลอนจวบจนลมหายใจสุดท้ายที่กรุงเจนีวาในวันที่ 2 กันยายน ค.ศ.1937 โดยหัวใจคูเบอร์แต็งสถิตย์ภายในศิลาหินอ่อนตามเจตนารมณ์ตนเองในวันที่ 26 มีนาคม ค.ศ.1938 ในเมืองโอลิมเปียซึ่งห่างไม่กี่ก้าวจากสนามแข่งขันโบราณเพื่อรำลึกถึงการฟื้นฟูโอลิมปิกเกมส์ ทั้งนี้ สถาบันวิทยาการโอลิมปิกนานาชาติ (International Olympic Academy: IOA) ซึ่งคาร์ล ดีม เป็นผู้เสนอ ณ พิธีการบรรจุหัวใจคูเบอร์แต็ง ก็ได้รับการจัดตั้งขึ้นภายในพื้นที่ใกล้กันโดยผู้ร่วมก่อตั้งคือ จอห์น เคทซีส (ประเทศกรีซ) และคาร์ล ดีม เพื่อสืบสานมรดกโอลิมปิกของปิแอร์ เดอ คูเบอร์แต็ง.