ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มณฑกานติ ชุบชูวงศ์ คณบดีคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า เมื่อสาธารณรัฐประชาชนจีนประกาศเปิดประเทศ ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 คาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะเริ่มเดินมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทย และคาดว่าในไตรมาศแรกจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาจำนวนมาก เนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมของชาวจีน แต่เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระยะเวลากว่า 3 ปี ทำให้ภาคการท่องเที่ยวขาดแคลนแรงงานไม่น้อย ต่อปัญหาดังกล่าวจึงเสนอ 4 แนวทางหลักในการแก้ปัญหาแรงงานขาด ในช่วงเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจีน โดยประกอบด้วย 1.) การเพิ่มแรงงานเสริม (Additional Non-permanent Staff) การรับนักศึกษาฝึกงานแบบสหกิจศึกษา และการฝึกงานแบบปกติ เพื่อเสริมทีมพนักงานประจำ โดยเน้นนักศึกษาที่มีทักษะการบริการและสามารถใช้ทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษได้
หรือ การรับนักศึกษามาทำงานแบบรายวัน (Casual) สำหรับวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือ ระหว่างสัปดาห์แล้วแต่ความต้องการสถานประกอบการ หรือ ทำงานแบบรายชั่วโมง โดยวิธีการนี้สามารถรับนักศึกษาด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรมระดับปริญญาตรีหรือสายอาชีวศึกษา ขึ้นอยู่กับระดับของสถานประกอบการว่าต้องการทักษะภาษาจีนหรือภาษาอังกฤษระดับใด หากเป็นโรงแรม 4-5 ดาว อาจเน้นความสามารถด้านภาษามากขึ้น การจ้างแบบนี้จะเป็นการสนับสนุนการฝึกทักษะให้แก่นักศึกษาในระหว่างเรียน และยังเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองด้วย นอกจากนี้ ยังสามารถรับผู้เคยมีประสบการณ์ด้านโรงแรม การท่องเที่ยว ที่ลาออกไปแล้ว และมีอาชีพอื่น แต่ยังสามารถมาช่วยงานแบบรายวัน หรือรายชั่วโมงเมื่อต้องการ
2.) การอบรมทักษะเพิ่มเติมหรือเพิ่มทักษะใหม่ (Upskill and New skill) หลังจากการระบาดของโควิด-19 เกือบ 3 ปี ทำให้พนักงานเก่าอาจลาออก หรือ ย้ายงาน ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรมและบริการ จำเป็นต้องจัดอบรมทักษะภาษาจีน อบรมความรู้พื้นฐานวัฒนธรรมจีน การสื่อสารที่ถูกต้อง เช่น อะไรควร หรือ ไม่ควรทำ (dos and don’ts) และประเด็นละเอียดอ่อนต่าง ๆ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และควรบริการชาวจีนอย่างไร เป็นต้น
3.) การเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารและการบริการ (Effective Communication and Service) ควรมีการสื่อสารและให้ข้อมูลเรื่องการบริการต่าง ๆ ด้วยภาษาจีนในโรงแรม ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว อย่างครบถ้วน และเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้นักท่องเที่ยวจีนสามารถศึกษาด้วยตนเอง และลดการสอบถามพนักงาน ข้อมูลที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์ผ่านทางเว็บไซต์ และสื่อโซเชียลอื่น ๆ ควรถูกต้อง และตรงกับความเป็นจริง เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาตามมา และควรเพิ่มการบริการด้วยตัวเอง (Self service) มากขึ้น โดยอาจวางสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์ที่จำเป็นไว้ และใช้ภาษาจีนแบบสั้น ๆ หรือ สัญลักษณ์ที่เข้าใจง่ายแทน พร้อมด้วยการจัดเตรียมอุปกรณ์ในการบริการต่าง ๆ ให้พร้อมตามจุดต่าง ๆ โดยคาดคะเนความต้องการล่วงหน้า เพื่อลดการขอบริการเพิ่มเติมจากพนักงาน
นอกจากนี้ ควรมีการจัดระบบคิว (Queueing system) การกำหนดเส้นทางการเดินเข้าและออก เพื่อลดความสับสน การเดินสวนทาง และลดปัญหาการแซง จะทำให้บริการง่ายขึ้น และไม่ส่งผลกระทบกับนักท่องเที่ยวทั่วไป หรือ จัดแยกโซน หากคาดว่าจะรับนักท่องเที่ยวเป็นกรุ๊ป ขณะเดียวกัน ในจุดที่มีนักท่องเที่ยวจีนจำนวนมาก เช่น จุดขายบัตรเข้าชมแหล่งท่องเที่ยว สถานบันเทิง จุดขายคูปองตาม food courts ควรมีล่าม หรือ นักศึกษาฝึกงานที่สามารถใช้ภาษาจีนได้ดี มาช่วยเป็นล่ามเสริม และให้คำแนะนำแก่นักท่องเที่ยว
4.) การใช้เทคโนโลยีมากขึ้น (Use more IT) การใช้เทคโนโลยีมาช่วยด้าน check-in/check-out การตรวจสอบยอดการชำระเงินล่วงหน้า วิธีการชำระเงิน ก็สามารถช่วยลดความต้องการติดต่อผู้ให้บริการในโรงแรมได้ ส่วนในจุดท่องเที่ยว หรือร้านอาหารควรมีระบบ card หรือ QR code มาช่วยในการให้ข้อมูล และการชำระเงิน
ผศ.ดร. มณฑกานติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การวางแผนการจัดการนักท่องเที่ยวจีนจำนวนมากมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะลดปัญหาการขาดพนักงานแล้ว ยังสามารถลดค่าใช้จ่ายการจ้างงานประจำ และสามารถบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ภาคธุรกิจควรมีการประสานงานกับสถาบันการศึกษาในท้องถิ่น เพื่อรับนักศึกษามาฝึกงาน และทำงานแบบรายวัน และรายชั่วโมง โดยมีค่าตอบแทนตามความเหมาะสม ขณะเดียวกัน ในแต่ละธุรกิจก็ต้องจัดระบบพี่เลี้ยง เพื่อให้เกิดประโยชน์และให้ความรู้แก่นักเรียนและนักศึกษาด้วย การทำงานแบบนี้จะก่อให้เกิด win-win ทั้ง 2 ฝ่าย และทำให้ธุรกิจสามารถบริหารจัดการได้ในช่วงหลังโควิด- 19 ที่ลูกค้าต่างชาติกลับมาแล้ว
“แม้รัฐบาลจะพร้อมเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจีน แต่ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ขนส่ง ร้านอาหาร และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ควรเน้นการบริการโดยใช้ระบบ SHA+ ต่อไป โดยจะต้องยึดแนวทางการดำเนินงานเพื่อป้องกันความเสี่ยงเรื่องการติดเชื้อ เช่น มีเจลแอลกอฮอล์ไว้ล้างมือ การใช้ช้อนกลาง หรือ เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวใส่แมสก์เมื่ออยู่ในที่ที่อากาศปิด และพนักงานรวมทั้งแรงงานเสริมควรได้รับการฉีดวัคซีนตามข้อกำหนด”