“รถเข็นเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบเดินตามฯ” ตัวช่วยผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียง ไอเดียเด็ด จาก รั้ว มทร.พระนคร

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ จากโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือ พาร์กินสัน ในอัตราผู้ป่วย 63,000 คน ต่อประชากร 1 ล้านคน และเนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จึงจำเป็นต้องมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เช่น รถเข็นคนพิการ และต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด ด้วยเหตุนี้ นักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล หลักสูตรอุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) พระนคร ได้แก่ นายสุกฤษฎิ์ ชม้ายกลาง และ นายอิศรา จันทปัญญา จึงมีแนวคิดในการออกแบบ “รถเข็นเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบเดินตาม สำหรับการควบคุมระยะไกล” เพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระผู้ดูแลผู้ป่วย ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเตียง ในพื้นที่โรงพยาบาล หรือสถานดูแลผู้ป่วย โดยไม่จำเป็นต้องใช้แรงเข็นรถ และช่วยให้ผู้ที่ดูแลมีความสะดวกสบายมากขึ้น โดยเฉพาะกรณีผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวมาก โดยมี ดร.วิชชา อุปภัย และ อาจารย์ไกรศักดิ์ โพธิ์ทองคำ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ

นายอิศรา จันทปัญญา กล่าวว่า การออกแบบรถเข็นเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฯ มีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้ในสถานพยาบาลที่จำเป็นต้องดูแลผู้ป่วย เพื่อเป็นการลดภาระหน้าที่ของทีมงานในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เนื่องจากข้อจำกัดของรถเข็นทั่วไปต้องใช้แรงคนในการเข็น หรือตัวผู้ป่วยเองต้องใช้มือในการออกแรงผลักล้อเพื่อบังคับทิศทางเคลื่อนที่ไปยังจุดหมายต่าง ๆ อีกทั้ง รถเข็นไฟฟ้าในท้องตลาดราคาค่อนข้างสูง และการใช้งานค่อนข้างยาก ยังไม่ตรงกับความต้องการการใช้งานที่แท้จริง ทั้งนี้ รถเข็นผู้ป่วยทำงานแบบควบคุมอัตโนมัติ (Automatic Control) โดยใช้กล้อง Kinect Xbox 360 ร่วมกับ เซ็นเซอร์อัลตราโซนิค ในการตรวจจับการเคลื่อนไหว หรือ สิ่งกีดขวาง ทำหน้าที่เปรียบเสมือนดวงตาของมนุษย์ในการวัดระยะห่างในการเดินตามระหว่างตัวรถเข็น กับ ผู้ดูแลผู้ป่วย ส่วนตัวควบคุมเป็นชนิดฟัซซีลอจิก (Fuzzy Logic Controller) ทำหน้าที่เปรียบเสมือนสมอง เพื่อทำการตัดสินใจให้รถเข็นผู้ป่วยขับเคลื่อนไปยังจุดหมายที่ต้องการ ประมวลผลผ่านโปรแกรม LabVIEW และส่งสัญญาณควบคุมไปยังบอร์ด Arduino เพื่อทำการขับเคลื่อนล้อในการเดินตาม

ด้าน นายสุกฤษฎิ์ ชม้ายกลาง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงสร้างตัวรถเข็นกว้าง 500 มิลลิเมตร ยาว 658 มิลลิเมตร สูง 305 มิลลิเมตร รูปแบบการขับเคลื่อนเป็นแบบสองล้ออิสระต่อกัน น้ำหนักตัวรถรวม 50 กิโลกรัม ใช้แหล่งพลังงานจากแบตเตอรี่ 12 โวลต์ จำนวน 2 ก้อน ทั้งนี้ การทดลองได้ทำการทดสอบการเก็บข้อมูล ได้แก่ การทดสอบการเคลื่อนที่ในแนวเส้นตรง การทดสอบการเลี้ยวหมุน 360 องศา การทดสอบการเคลื่อนที่ขึ้นทางลาดชัน และการทดสอบการเคลื่อนที่ผ่านสิ่งกีดขวาง โดยจากการทดสอบการทำงาน พบว่า รถเข็นผู้ป่วยสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ที่ 3 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นทางลาดชันได้ 17 องศา และข้ามสิ่งกีดขวางสูงสุด 3 เซนติเมตร มีระยะการควบคุมไม่เกิน 120 เมตร รับน้ำหนักผู้ป่วยได้สูงสุด 120 กิโลกรัม โดยผลสรุปการทดสอบปรากฏว่า รถเข็นผู้ป่วยสามารถเดินตามได้ดี การเคลื่อนที่ทางตรงของรถเข็นผู้ป่วยในระยะ 10 เมตร ใช้เวลา 17 วินาที ความเร็วของคนเดินและรถเข็นอยู่ที่ 0.58 เมตร/วินาที และสามารถหยุดรถเข็น โดยผู้เดินนำเพียงลดความเร็วในการเดินจนรถหยุดนิ่ง

ทางด้าน ดร.วิชชา อุปภัย ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวเสริมว่า รถเข็นผู้ป่วยนี้ยังเป็นตัวต้นแบบที่จะต้องมีการพัฒนาให้มีความสมบูรณ์ ทันสมัย แม่นยำ และรองรับการใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น โดยในอนาคตจะทำการปรับปรุงตัวรถเข็นให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น ด้วยการนำคอมพิวเตอร์อุตสาหกรรม หรือ คอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก มาใช้ควบคุมแทนคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คที่ใช้ในการทดสอบ และเพิ่มขีดความสามารถของรถเข็นให้สามารถสร้างแผนที่ และมีระบบการนำทางด้วยตัวเอง รวมทั้งนำระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาช่วยในการควบคุมการสั่งการ เพื่อให้รถเข็นเดินทางไปในจุดต่าง ๆ ที่ต้องการได้ โดยไม่ต้องอาศัยผู้เดินนำทาง หรือ ผู้ดูแล

ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มทร.พระนคร โทร. 089-663-0472

RANDOM

“มวยไทยซอฟต์พาวเวอร์” เห็นผลทันตา “ค่ายมวยไทยปารีส” สุกคึกคัก “รองต่อ” เผยพร้อมผลักดันต่อเนื่อง ส่งครูมวยไทยมาช่วยสอน ด้าน “ลุมพินี” วางแผนร่วมมือ ค่ายไหนเจ๋ง เล็งรับรองคุณภาพให้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!