จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับ ภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ ปล่อยแคมเปญ “หวานน้อยลงหน่อย” ชวนคุมอาหาร ห่วงคนไทยกว่า 4 ล้านคน ป่วยเบาหวาน ระดมเครือข่ายสตาร์ทอัพเร่งสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มการแพทย์แม่นยำ เสริมภารกิจกรมควบคุมโรค
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 16 เปิดโครงการรณรงค์หวานน้อยลงหน่อย เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ณ ห้อง 202 อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีจุฬาฯ เป็นประธานในงาน ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย ทพญ.ดร.ศิริวรรณ ทิพยรังสฤษฏ์ รองผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข , ศ.นพ.กำธร พฤกษานานนท์ อุปนายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ในพระบรมราชูถัมภ์ , ดร.วรกันต์ บูรพาธนะ Head of Technology & Innovation , บริษัท อินโนบิค เอเชีย จำกัด , รศ.ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ , ผศ.ดร.สถาพร งามอุโฆษ อาจารย์ภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ และ CEO & Co-founder บริษัท ทานดี อินโนฟูด จำกัด
ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดี ด้านการติดตามและประเมินผลยุทธศาสตร์ แผน การงบประมาณ และสุขภาวะ จุฬาฯ เปิดเผยว่า จุฬาฯ มีเป้าหมายในการเป็นมหาวิทยาลัยยั่งยืน หนึ่งในยุทธศาสตร์ของจุฬาฯ มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ เพราะเราเล็งเห็นถึงปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นกับประชาคมจุฬาฯ อย่าง “โรคเบาหวาน” สถานการณ์น้ำหนักโดยรวมของประชาคม น้ำหนักเกินเกณฑ์ปกติกว่า 40 ตัน น้ำหนักเกินเฉลี่ยคนละ 5.2 กิโลกรัม และมีผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นกว่า 10%
จากกรณีศึกษาของโรคโควิด-19 เป็นตัวอย่างที่ดีของการจัดการด้านสุขภาวะที่ประสบความสำเร็จ โดยอาศัยความร่วมมือกันในหลายภาคส่วน ตั้งแต่การตรวจวินิจฉัยอย่างรวดเร็ว ด้วย Rapid Antigen Test “กล่องรอดตาย” และระบบดูแลผู้ป่วย Home isolation นำแพลตฟอร์มเข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยที่เป็นนิสิต คณาจารย์ บุคลากร และครอบครัวให้หายจากโควิด-19 ในสถานการณ์ที่โรงพยาบาลไม่มีเตียงรองรับเพียงพอ โดยได้รับการสนับสนุนจากสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ รวมถึงการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามของจุฬาฯ และการจัดตั้งศูนย์บริการวัคซีนจุฬาฯ การดูแลด้านสุขภาวะในเรื่อง “โรคเบาหวาน” ก็เช่นกัน จำเป็นต้องได้รับการร่วมมือและนำนวัตกรรมต่าง ๆ จากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาช่วย เพื่อให้เกิดการพัฒนาแพลตฟอร์มที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนคนไทยในวงกว้าง
ด้าน ศ.นพ.กำธร พฤกษานานนท์ อุปนายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ในพระบรมราชูถัมภ์ กล่าวว่า ความสำเร็จของการดำเนินงาน “กล่องรอดตาย” ทำให้มีผู้ป่วยเข้าลงทะเบียนในระบบประมาณ 85,000 คน อัตราการเสียชีวิตที่บ้าน 0% เวลาตอบสนองที่รวดเร็วเพียง 45 นาที เวลาตอบสนอง 6 ชม. ลด Admission ที่ไม่จำเป็น 83.3% ประหยัดงบประมาณของรัฐได้ถึง 29,000 บาทต่อคน หรือ คิดเป็นเงินประมาณ 2,500 ล้านบาท โดยได้อาสาสมัครเครือข่าย 400 คน มีทุกกลุ่มอายุและความเชี่ยวชาญ และมี International Ward ที่ได้นิสิตต่างชาติของจุฬาฯ มาเป็นอาสาสมัครในการประสานงาน ตลอดจนมีหน่วยเคลื่อนที่เร็วในพื้นที่ และมีคณะนักวิจัยจาก Bill & Melinda Gates Institute, Johns Hopkins University สหรัฐอเมริกา เข้าเยี่ยมชมการปฏิบัติงาน ทำให้เป็นแม่แบบสำคัญในการสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มการแพทย์แม่นยำในการป้องกัน วินิจฉัย และรักษา “โรคเบาหวาน” ในครั้งนี้
ขณะที่ ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวต้อนรับผู้ร่วมเสวนา โดยกล่าวว่าทุกท่านล้วนเป็นภาคีเครือข่ายที่ผนึกกำลังทำภารกิจสำคัญระดับชาติและนานาชาติกับจุฬาฯ ด้วยกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องการเจ็บป่วยของพี่น้องคนไทย ซึ่งชาวจุฬาฯ และภาคีเครือข่ายต้องมาขบคิดกันหาทาง แบ่งเบาภาระงานของกระทรวงสาธารณสุข ในส่วนของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ขออาสาเป็นอีกแรงหนึ่งในภารกิจครั้งนี้ จากการที่คณะฯ มีศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวช ที่กำลังทำงานวิจัยและสร้างนวัตกรรมด้าน Biomedical Engineering อย่างขะมักเขม้น การผนึกกำลังกันข้ามคณะ ทำงานแบบสหศาสตร์หลายสาขา มุ่งสร้างภาคีเครือข่าย จะเป็นอีกหมุดหมายหนึ่งที่สำคัญที่อยากให้ทุกท่านติดตามและเป็นกำลังใจให้คณาจารย์และนักวิจัยกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นนักวิจัยรุ่นใหม่ที่พร้อมพัฒนางานที่มีความหมายตอบโจทย์ความต้องการของสังคม เมื่อสังคมมีปัญหา จุฬาฯ มีคำตอบ” นั่นคือการสร้าง “Innovations” และเป็น “Innovations for Society”
ทางด้าน รศ.ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า เรามีพันธกิจสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ออกมารับใช้สังคมด้วยงานวิจัยหลากหลายสาขา ทั้งด้านอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ อวัยวะเทียม ระบบนำส่งยา และชีวสารสนเทศ (Bioinformatics) เพื่อให้การรักษาและป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ศูนย์วิจัยของเราให้ความสนใจกับกลุ่มโรคไม่ติดต่อที่คุกคามสุขภาวะคนทั่วโลก คือ โรคเบาหวาน ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ อีกมาก เราจึงได้ริเริ่มโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มการแพทย์แม่นยำแบบบูรณาการ เพื่อการป้องกัน วินิจฉัย และรักษาโรคเบาหวาน ที่ครอบคลุมระบบ Telemedicine, Non-invasive optical fiber sensor ตรวจคัดกรองผู้เสี่ยงเป็นโรคเบาหวานจากสารบ่งชี้ในลมหายใจ Bioinformatics and AI รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรม และการรักษาผู้ป่วย และนวัตกรรมในการรักษาโรค ทั้งระบบนำส่งอิซูลิน แผ่นปิดแผล และแผ่นรองรองเท้าลดแผลกดทับ ที่จะนำไปสู่การรักษาที่แม่นยำเฉพาะบุคคล และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานและกลุ่มเสี่ยง เสริมภารกิจ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คาดว่าจะสามารถพัฒนาได้เต็มรูปแบบแล้วเสร็จ ภายในปี 2570
ปิดท้ายที่ ผศ.ดร.สถาพร งามอุโฆษ อาจารย์ภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ และ CEO & Co-founder บริษัท ทานดี อินโนฟูด จำกัด กล่าวว่า แนวทางการใช้โภชนบำบัดมาบูรณาการเป็นแนวทางรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน ช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพ และยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานให้ดีขึ้นได้ โดยนักกำหนดอาหารจะทำงานร่วมกับทีมแพทย์ จำแนกกลุ่มผู้ป่วยตามการแปลผลระดับน้ำตาลในเลือด และจะจัดสรรวัตถุดิบ นำนวัตกรรมอาหารเส้นโปรตีนไข่ขาว ไร้แป้ง Eggday (เอ้กกี้เดย์) ที่ได้รับอนุสิทธิบัตรจาก กรมทรัพย์สินทางปัญญา มาใช้เป็นโซลูชั่นออกแบบเมนูอาหารสำหรับผู้ป่วยมากกว่า 30 เมนู ตามหลัก 3 ใช่ ห่างไกล “เบาหวาน” ได้แก่ ปริมาณที่ใช่ เมนูที่ใช่ และส่วนผสมที่ใช่ โดยนำมาใช้บนระบบ LINE Official “หวานน้อยลงหน่อย” เพื่อดูแล ติดตาม และเข้าถึงกลุ่มผู้ป่วยได้ง่ายขึ้น ผู้ที่สนใจสามารถแอดไลน์เข้าสู่ระบบได้ โดยคลิกที่ลิงค์ https://lin.ee/scwioDB
ภายหลังการเสวนา ศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “พัฒนาแพลตฟอร์มการแพทย์แม่นยำแบบบูรณาการ เพื่อการป้องกัน วินิจฉัย และรักษาโรคเบาหวาน” กับภาคีเครือข่าย โดยมี รศ.ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวช , นพ.ดร.สาครินทร์ บุญบรรเจิดสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ็นโฟสิส จำกัด , ดร.ธีรธร ธาราไชย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท เจ็นโฟสิส จำกัด , คุณกิตติศักดิ์ เพ็ชรหาญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะชาร์พเพ็นเนอร์ จำกัด , ดร.บารมี นวนพรัตน์สกุล กรรมการบริษัท พานาคูรา จำกัด , ผศ.ดร.สถาพร. งามอุโฆษ CEO & Co-founder บริษัท ทานดี อินโนฟูด จำกัด ร่วมพิธีลงนาม เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มการแพทย์แม่นยำแบบบูรณาการ เพื่อการป้องกัน วินิจฉัย และรักษาโรคเบาหวาน สร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายของโรคเบาหวาน และสร้างสุขภาวะที่ดีของประชากรไทย และเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการและงานวิจัยในสาขาวิศวกรรมชีวเวช โดยจะร่วมกันจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลชีวสารสนเทศที่เป็นประโยชน์ ตลอดจนสนับสนุนและส่งเสริมโครงการและกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคเบาหวานต่อไป