“AICute” เว็บแอปตรวจประเมินโรคหลอดเลือดสมองที่มีสาเหตุจากโรคหัวใจ รักษาตรงจุด ลดเสียชีวิตและพิการ ฝีมือนักวิจัยจุฬาฯ

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

ทีมวิจัยคณะแพทยศาสต​ร์​ และคณะวิศวกรรมศาสตร์​ จุฬา​ฯ​ ร่วมพัฒนา​ AICute​ นวัตกรรรม​ตรวจประเมินโอกาสของการเป็นโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากโรคหัวใจ​ มุ่งช่วยโรงพยาบาลที่ขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจ เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง​ ลดความแออัดในโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงเรียนแพทย์

ในแต่ละปี คนไทยจำนวนมากป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) หลายคนเสียชีวิต และอีกจำนวนมากต้องพิการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แม้โรคนี้จะเป็นโรคที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน แต่ก็ใช่ว่าจะตรวจประเมินความเสี่ยงล่วงหน้าเพื่อป้องกันไว้ก่อนไม่ได้
ทีมวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงร่วมกันคิดค้นและพัฒนาเครื่องมือที่จะช่วยตรวจประเมินโอกาสในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยในลำดับแรก ทีมวิจัยประสบความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยตรวจประเมินความเป็นไปได้ในการเป็นโรคหลอดเลือดสมองที่มีสาเหตุมาจากโรคหัวใจ โดยให้ชื่อว่า “AICute” ซึ่งทีมวิจัยหวังให้นวัตกรรมดังกล่าวสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล ที่ขาดแคลนเครื่องมือและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ

แม้โรคหลอดเลือดสมองจะเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่หากรู้สาเหตุที่ก่อให้เกิดโรค และเข้ารับการรักษาได้เร็ว โอกาสหายจากโรคก็มีสูง ลดการเกิดโรคซ้ำได้ ดังนั้น การหาสาเหตุของโรคสำคัญต่อการให้แนวทางการรักษาที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ หากไม่หาสาเหตุ ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ซ้ำ และเมื่อเป็นซ้ำครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 โอกาสที่จะพิการก็มีมากขึ้น ทำให้ต้องอยู่ในภาวะพึ่งพิง เป็นภาระของผู้ดูแล และค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาก็เพิ่มขึ้นด้วย โรคหลอดเลือดสมองเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งแต่ละสาเหตุก็มีแนวทางการรักษาที่ต่างกัน ทั้งนี้ ในปัจจุบัน พบว่า 18% ของโรคหลอดเลือดสมองมาจากโรคหัวใจ ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักเป็นผู้ป่วยโรคหัวใจ ชนิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ และชนิดลิ้นหัวใจผิดปกติ หรือ ภาวะหัวใจโต ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดที่หัวใจ และลอยไปอุดตันที่สมอง ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้

นพ. วสันต์ อัครธนวัฒน์ จาก ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อธิบายว่า ในการหาสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองที่มาจากโรคหัวใจนั้น จำเป็นต้องมีการตรวจหัวใจอย่างละเอียด และอาศัยความชำนาญของแพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ยังขาดแคลนในโรงพยาบาลชุมชน​ และโรงพยาบาลขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล โรงพยาบาลเหล่านี้คงไม่สามารถส่งตัวผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทุกคนไปตรวจโรคหัวใจได้ เพราะการตรวจโรคหัวใจมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง อีกทั้ง การส่งตัวผู้ป่วยไปตรวจที่โรงพยาบาลศูนย์ หรือโรงเรียนแพทย์ ก็จะทำให้เกิดปัญหาความแออัดในโรงพยาบาล นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทีมวิจัยเลือกที่จะพัฒนานวัตกรรมเพื่อการตรวจประเมินโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากหัวใจ​ก่อนเป็นอันดับแรก​ “นวัตกรรม AI​Cute” หากพูดเร็ว ๆ เสียงของ AICute จะคล้ายกับคำว่า acute ซึ่งหมายถึง ลักษณะอาการที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันใดของโรคหลอดเลือดสมองที่ต้องรีบรับการรักษา
นอกจากศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ แล้ว นวัตกรรม AICute เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และกลุ่มนิสิตจุฬาฯ ภายใต้การสนับสนุนของศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม​ จุฬาฯ​ (Chula UTC)

AICute เป็นเว็บแอปพลิเคชันที่มีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยวิเคราะห์และประเมินความเป็นไปได้ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ที่มีความเสี่ยงสูงจากโรคหัวใจ​ ช่วยให้แพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน ​และโรงพยาบาลขนาดเล็ก สามารถตัดสินใจและเลือกส่งผู้ป่วยตรวจหัวใจได้รวดเร็วขึ้น ทำให้การรักษาโรคหลอดเลือดสมองมีประสิทธิภาพมากขึ้น​

นพ.วสันต์ อธิบายถึงการใช้งาน AICute ว่า แพทย์ผู้ใช้อุปกรณ์เพียงล็อกอินผ่านเว็บแอปพลิเคชัน และกรอกข้อมูลเข้าไปในระบบ เป็นข้อมูลหลัก ๆ 2 อย่าง คือ อาการของผู้ป่วย กับ ประวัติบางส่วน และภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองจำนวน 30-32 รูป ซึ่งส่วนใหญ่โรงพยาบาลขนาดเล็กก็จะมีเครื่องมือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองอยู่แล้ว จากนั้นตัวแอปพลิเคชันจะนำข้อมูลมาประมวลผล ใช้เวลาประมาณ 3-5 นาที แล้วสรุปออกมาเป็นรายงานว่า ผู้ป่วยมีความเป็นไปได้กี่เปอร์เซ็นต์ ที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากโรคหัวใจ หลังจากนั้น แพทย์ผู้ใช้งานจะอ่านผลและตัดสินใจว่าจะส่งผู้ป่วยตรวจต่อหรือไม่ AICute มีความแม่นยำในการประมวลผลและตรวจพบความผิดปกติอยู่ที่ 92-94% อ้างอิงจากฐานข้อมูลภาพเอกซเรย์ความละเอียดสูงในการประมวลผลกว่า 40,000 ภาพ

ปัจจุบัน AICute ยังอยู่ในเฟสของงานวิจัย และได้เริ่มทดลองใช้งานแล้วภายในโรงพยาบาลจุฬาฯ ซึ่งได้ผลตอบรับดี เป็นที่น่าพอใจ ทางทีมวิจัยมีแผนว่า จะวิจัยต่อในกลุ่มคนไข้จริงเป็นกลุ่มใหญ่ และเก็บข้อมูลนอกโรงพยาบาลจุฬาฯ เพื่อปรับปรุง AI ให้ดีขึ้น อีกทั้งพัฒนา interface ให้ใช้งานง่าย สวยงาม โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางปีนี้ (2566) และเปิดให้โรงพยาบาลอื่น ๆ ที่สนใจได้ใช้งานและพัฒนาวิจัยร่วมกัน โดยในระยะยาวจะออกเป็นซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ ที่มีค่าใช้จ่ายในการใช้งาน ในอนาคตทีมวิจัยยังมีแผนการพัฒนา AI เพื่อตรวจหาสาเหตุโรคหลอดเลือดสมองอื่น ๆ ซึ่งอาจต้องมีการเพิ่มฐานข้อมูลภาพการเอกซเรย์หลอดเลือด และการฉีดสี เพื่อใช้ในการประมวลผลต่อไป

โรงพยาบาลที่สนใจ AICute สามารถติดต่อ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อาคารภูมิสิริ ชั้น 7 โซน C หรือ โทร. 02-256-4000 ต่อ 80724-5

RANDOM

ม.เทคโนโลยีบรูไน เชิญชวนน้อง ๆ นักเรียน นักศึกษา ส่งผลงานเข้าร่วมแข่งขันในรายการ The Crown Prince CIPTA Award 2025 หัวข้อ “นวัตกรรมสีเขียว (Green Innovations)” ชิงทุนการศึกษา หมดเขตสมัครและส่งผลงาน 27 ม.ค. 2568

NEWS

สสส. ร่วมกับ สคล. เชิญชวนโรงเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “มารู้จักเจ้าชายภูมิพลกันเถอะ” ดาวน์โหลดรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ ‘โรงเรียนคำพ่อสอน.com’ พร้อมรับเกียรติบัตรจากทางโครงการฯ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกวดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “ASEAN-IPR Cybersecurity Youth Essay Competition” ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-IPR Regional Conference on Cybersecurity และมีโอกาสนำเสนอเรียงความในที่ประชุมดังกล่าว สมัครด่วน หมดเขต 22 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!