เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาและส่งเสริมความก้าวหน้าของครูอาชีวศึกษา (พนักงานราชการครู และครูอัตราจ้าง) โดยมี นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กระทรวงแรงงาน และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารระดับสูง พนักงานราชการครู และครูอัตราจ้าง สังกัด สอศ. เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมอินทนิล สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา
นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากนโยบายของ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สั่งการให้พัฒนาครูอย่างเป็นระบบ เพื่อยกระดับครูและบุคลากรอาชีวศึกษา โดยเร่งผลักดันเรื่องการปรับบรรจุ เลื่อนวิทยฐานะ และเงินเดือนครู เพื่อแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตครูอาชีวศึกษา ให้มีความก้าวหน้าในสายอาชีพ โดยเป็นการหารือแนวทางร่วมกัน รับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการคัดเลือกบรรจุครูผู้ช่วยจากพนักงานราชการครูและครูอัตราจ้าง
ด้าน ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติงานครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อหาแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมความก้าวหน้าในอาชีพของพนักงานราชการครู และครูอัตราจ้าง ร่วมกันหารือแนวทางการบริหารอัตรากำลังครูผู้สอน และบุคลากรอาชีวศึกษา และวางแนวทางปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ กำหนด ที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการครู และบุคลากรอาชีวศึกษา โดยพนักงานราชการครู และครูอัตราจ้าง ที่มีประสบการณ์และผลงานโดดเด่น มีโอกาสเข้าบรรจุรับราชการ มีการเติบโตในสายอาชีพ สอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วนข้อที่ 1 ของ สอศ. เรื่องการบริหารงานบุคคล และวิทยฐานะของข้าราชการครู บุคลากรทางการศึกษา และข้าราชการพลเรือน (จาก 9 นโยบายเร่งด่วน (Quick win) และ 5 นโยบายหลัก (Policy) เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนการปฏิบัติราชการของ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566)
ทั้งนี้ การพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เป็นหัวใจสำคัญของการยกระดับการบริหารอาชีวศึกษา เพื่อให้บุคลากรมีการเติบโตก้าวหน้า เพิ่มโอกาสในการพัฒนาสมรรถนะ ซึ่งส่งผลดีต่อนักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษา ที่เป็นกำลังคนสำคัญของการพัฒนาประเทศในอนาคต สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “ผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง เพื่อการพัฒนาประเทศ”