ของดี บอกต่อ “โจ๊กใบหม่อนและผักแพว” ช่วยชะลอวัย เพิ่มความจำ สร้างมวลกระดูก ฝีมือนักวิจัย มข.

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

สำหรับผลงานทรัพย์สินทางปัญญา เรื่อง “โจ๊กที่มีส่วนผสมสารสกัดใบหม่อนและผักแพว” นั้น ทีมนักวิจัย นำโดย ศ.ดร.จินตนาภรณ์ วัฒนธร รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสมรรถนะมนุษย์และการเสริมสร้างสุขภาพ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งใจพัฒนาสูตรขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุ ซึ่งมักจะมีปัญหาเรื่องความจำ และมีปัญหาเรื่องระบบกระดูก นอกจากนั้น ยังช่วยให้สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรในรูปแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ซึ่งมีมูลค่าสูงได้

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ทีมนักวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความมุ่งมั่นผลักดันผลงานวิจัยที่ดีและมีคุณภาพไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เพื่อยกระดับสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีผลการวิจัยรองรับ โดยใช้วัตถุดิบในประเทศ และช่วยลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ผลงานวิจัยครั้งนี้ ใช้ใบหม่อนและผักแพวเป็นวัตถุดิบ ซึ่งเป็นพืชที่มีแหล่งเพาะปลูกมากในท้องถิ่นของภาคอีสาน ถือเป็นความตั้งใจอย่างยิ่งของทีมนักวิจัยที่อยากจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับใบหม่อน และผักแพว

ด้าน ศ.ดร.จินตนาภรณ์ วัฒนธร รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสมรรถนะมนุษย์และการเสริมสร้างสุขภาพ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า เมื่อเราอายุมากขึ้น หรือ เข้าสู่วัยทอง สมดุลของการสร้างกระดูก และ การสลายกระดูก จะลดลงไป ทำให้มีการสลายกระดูกมากกว่าการสร้างกระดูก ฉะนั้นการแก้ปัญหาให้ตรงจุด จะต้องไปแก้ไขที่ตัวต้นตอ ซึ่งพบว่า ผักพื้นเมือง เช่น ผักแพว ใบหม่อน มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง โดยเฉพาะ สารฟีนอลิก และ ฟลาโวนอยด์ รวมทั้งมีปริมาณแคลเซียมสูงอีกด้วย

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ หรือสารสำคัญต่าง ๆ จำเป็นต้องมีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูงสุด การที่จะทำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ต้องดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งต้นน้ำ คือ Raw material หมายถึง วัตถุดิบ ต้องมีการคุมการปนเปื้อน ต้องเก็บในส่วนที่ดีที่สุด จึงต้องคุมในเรื่อง Good Agricultural Practices หลังจากนั้น คือ การเตรียมสารสกัด In Vitro โดยการทดลองในหลอดแก้ว เพื่อดูลักษณะของสารสำคัญ คือ การทำฤทธิ์ชีวภาพ ซึ่งหมายถึง เลือกตรวจสอบฤทธิ์ชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับพยาธิสภาพของโรคที่เราสนใจ เช่น การที่จะได้สารสกัดใบหม่อน ก็ต้องทำ solvent ต่าง ๆ  หมายถึง ตัวทำละลาย ๆ ต่าง ตัวไหนดีที่สุดจะเลือกตัวนั้นมา หรือ ผักแพว ก็จะเลือกอันที่ดีที่สุด พอได้ตัวที่ดีที่สุด ก็นำมาผสมกันในอัตราส่วนต่าง ๆ โดยจะเลือกเอาอัตราส่วนที่ดีที่สุด นำไปจำลองในสภาวะที่ใช้จริง โดยนำไปทดสอบในสัตว์ทดลอง หากอัตราส่วนไหนมีศักยภาพ เราก็จะนำมาทดลองในอาสาสมัครวัยทอง ซึ่งพบว่า อาสาสมัครวัยทองมีความจำขณะทำงานดีขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น พบว่า หนู หรือ สัตว์ทดลอง มีความหนาของกระดูกเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน หลังจากที่อาสาสมัครบริโภคแล้ว ทำให้เซลล์ที่ทำหน้าที่สร้างกระดูกมีเพิ่มขึ้น และเซลล์ที่ทำหน้าที่เป็นตัวสลายกระดูกลดลง ฉะนั้นจึงสอดคล้องกับการทดลองที่พบในสัตว์ทดลอง

ต่อจากนั้น จึงทำเป็นสาร functional ingredients หรือ สารสกัดทางธรรมชาติจากพืชและสัตว์ ที่นิยมนำมาใช้ในกลุ่มยา อาหารเสริม และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ และลองมาทำในรูปแบบ prototype product จำลอง เพื่อเก็บ Feedback ก่อนการสร้าง Product จริง โดยเอาสารตัวนี้มาผสมในโจ๊กสุขภาพ พบว่า มันดีขึ้น นำเอามาทำในเครื่องดื่มก็ดีขึ้น จะเห็นได้ว่า สาร functional ingredients ที่ทำนี้ สามารถเอาไปเพิ่มมูลค่าของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มได้

“โจ๊กที่มีส่วนผสมสารสกัดใบหม่อนและผักแพว” เป็นหนึ่งในงานวิจัยคุณภาพ โดยนักวิจัยไทย ที่นำพืชผักพื้นบ้านของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย มาเป็นวัตถุดิบหลัก คือ ใบหม่อน และผักแพว ที่มีคุณประโยชน์ เสริมสร้างความแข็งแรงของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ซึ่งเป็นระบบสำคัญที่มักแสดงความผิดปกติในกลุ่มผู้สูงอายุ สอดคล้องกับแนวโน้มของสังคมไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยวางแผนจะจำหน่ายช่วงแรกในรูปแบบซอง ตั้งเป้าออกสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ในไตรมาสที่ 4 ปี 2566 นี้ เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับคนไทย โดยเฉพาะผู้สูงวัย ได้รับประทานอาหารที่สะดวก และมีประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบในท้องถิ่น ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน โดยมีแผนที่ต่อยอดสารสกัดใบหม่อนและผักแพว เป็นสินค้าประเภทอื่น ๆ อีกในอนาคต

RANDOM

NEWS

สสส. ร่วมกับ สคล. เชิญชวนโรงเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “มารู้จักเจ้าชายภูมิพลกันเถอะ” ดาวน์โหลดรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ ‘โรงเรียนคำพ่อสอน.com’ พร้อมรับเกียรติบัตรจากทางโครงการฯ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกวดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “ASEAN-IPR Cybersecurity Youth Essay Competition” ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-IPR Regional Conference on Cybersecurity และมีโอกาสนำเสนอเรียงความในที่ประชุมดังกล่าว สมัครด่วน หมดเขต 22 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!