สาหร่ายเกลียวทอง หรือ สาหร่ายสไปรูลิน่า (Spirulina) มีจุดเด่น คือ มีกรดอะมิโนจำเป็น (essential amino acid) ครบทั้ง 9 ชนิด ร่างกายสามารถย่อยและดูดซึมไปใช้ในร่างกายได้ดี ใกล้เคียงกับกรดอะมิโนจากถั่วหลือง สาหร่ายชนิดนี้ยังมีโปรตีนสูงถึงร้อยละ 55-70 และสารจำพวกกรดไขมันจำเป็นอีกหลายชนิด เช่น กรดลิโนเลอิก และกรดแกมมาลิโนเลนิค (GLA) อีกทั้งมีสารที่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระอีกหลายชนิด เช่น ไฟโคไซยานิน และแคโรทีนอยด์ ทำให้ปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงสาหร่ายสไปรูลิน่าในระดับอุตสาหกรรม เพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและผสมในเครื่องสำอางจำหน่ายในท้องตลาดกันอย่างแพร่หลาย แต่ทราบหรือไม่ว่า กระบวนการนำสาหร่ายไปทำแห้งด้วยความร้อน จะทำให้สารสำคัญที่มีคุณค่าทางโภชนาการมีปริมาณและคุณภาพลดลง หรือ สูญหายไป โดยเฉพาะสารไฟโคไซยานิน ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ต้านการอักเสบ และช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ มีปริมาณลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ดังนั้น “การรับประทานสาหร่ายสไปรูลิน่า” แบบสด ๆ จะทำให้ผู้บริโภคได้รับคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนมากกว่าการรับประทานสาหร่ายแห้งอัดเม็ด หรือ แคปซูล ด้วยเหตุนี้ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพสาหร่าย (Algal Biotechnology) สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ (สรบ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสาหร่ายสไปรูลิน่ามากว่า 30 ปี ทั้งด้านการพัฒนาเทคนิคการคัดเลือกและการพัฒนาสายพันธุ์ และพัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยงสาหร่าย เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่ผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพตรงความต้องการของตลาด และให้ผลผลิตชีวมวลสาหร่ายสูง การศึกษาด้าน OMICS: genomics transcriptomics proteomics metabolomics systems biology และ bioinformatics อีกทั้งการพัฒนาเทคนิคการสกัดและการแยกสารมูลค่าสูงจากสาหร่าย ทั้งไฟโคไซยานิน ลิปิด และโพลีแซคคาไรด์ รวมทั้งการพัฒนาด้าน Bioactive-peptide เพื่อตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุของประเทศ ล่าสุด กลุ่มวิจัยได้พัฒนาเครื่องผลิตสาหร่ายระดับครัวเรือน ที่เหมาะกับคนทั่วไป ที่ต้องการบริโภคแบบสด เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพ สามารถเลี้ยงสาหร่ายสไปรูลิน่าไว้บริโภคได้เอง โดยนำไปผสมอาหาร ขนม หรือ เครื่องดื่ม ได้ตามต้องการ
รศ.รัตนา ชัยกล้าหาญ นักวิจัยสังกัดกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพสาหร่าย สรบ. มจธ. กล่าวว่า เครื่องเลี้ยงสาหร่ายได้รับการออกแบบ โดย ดร.ชีวิน อรรถสาสน์ สังกัดห้องปฏิบัติการวิจัย Aquaculture Engineering (ACE) สรบ. มีขนาดที่สามารถตั้งไว้ในบ้าน หรือ ห้องพักได้ ส่วนประกอบของเครื่อง คือ โหลเลี้ยงสาหร่าย (ความจุน้ำ 10 ลิตร) ที่ภายในติดตั้งหลอด LED พร้อมทั้งมีระบบปั๊มอากาศ ด้านบนเป็นช่องเปิดสำหรับนำสาหร่ายออกมารับประทาน รวมถึงไว้เปิดสำหรับเติมน้ำและปุ๋ย
รศ.รัตนา กล่าวต่อว่า นอกจากการนำข้อมูลที่จำเป็น ทั้งปริมาณสารอาหาร ความเข้มข้นเซลล์สาหร่าย ความเข้มแสง และการกวนด้วยปั๊มให้อากาศที่เหมาะสม มาใช้ในการออกแบบเครื่องนี้แล้ว ทางกลุ่มวิจัยได้จัดทำคู่มือการเลี้ยง การดูแล และข้อควรสังเกตในการเลี้ยง ผู้บริโภคสามารถเลี้ยงและเก็บผลผลิตสาหร่ายที่สะอาดและมีคุณภาพได้เป็นประจำทุกวัน ซึ่งการตักสาหร่ายในโหลขึ้นมาวันละ 1.5 ลิตร เมื่อผ่านการล้างปุ๋ยออกจะได้สาหร่ายสดประมาณ 10 กรัมเปียก หรือ 1 กรัมแห้ง ที่อุดมด้วยโปรตีน กรดไขมันโอเมก้า 6 ที่มีความสำคัญต่อร่างกาย รวมถึงได้รับสารอื่น ๆ อีกหลายชนิด โดยเฉพาะไฟโคไซยานิน
สำหรับค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงนั้น รศ.รัตนา กล่าวว่า เครื่องต้นแบบนี้ มีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 8,000 บาท มีค่าหัวเชื้อสาหร่ายประมาณลิตรละ 1,000 บาท และค่าอาหารลิตรละ 1.5 บาท ค่าไฟฟ้าประมาณ 1.31 บาทต่อกรัมสาหร่าย โดยหากมีความร่วมมือในการพัฒนาและต่อยอดสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ในอนาคต ก็จะเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรม ที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถมีเมนูสุขภาพที่เลี้ยงได้ด้วยตัวเอง ในราคาจับต้องได้ ผู้ประกอบการหรือนักลงทุนที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพสาหร่าย สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ (สรบ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ. บางขุนเทียน) โทร. 02-470-7469 , 02-470-7471