ตอนที่ 10 : การศึกษาเพื่อสันติภาพ : หนังสืออุดมการณ์โอลิมปิกของคูเบอร์แต็ง : แปลโดย : ดร.นิพัทธ์ อึ้งปกรณ์แก้ว

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

การศึกษาเพื่อสันติภาพ

            ในงานแสดงสินค้าโลก ค..1889 ที่ซอร์บอนน์ คูเบอร์แต็งใช้ที่ประชุมสหพันธ์สันติภาพซึ่งมี จูเลส ซิมอง เพื่อนสูงวัยของท่านเป็นประธาน เพื่อพิจารณาสันติภาพนานาชาติในฐานะผลผลิตของการศึกษาในระดับรากหญ้าซึ่งหมายถึง โรงเรียน

            การปกครองตนเองโดยเด็กนักเรียนเช่น การจัดการข้อโต้แย้ง ได้ถูกอ้างถึงในฐานะตัวแบบของการศึกษาเพื่อสันติภาพนี้ แต่คูเบอร์แต็งมีความเห็นว่า การกีฬาโรงเรียนก็สามารถสร้างคุณประโยชน์มหาศาลและได้ใช้ตัวอย่างจากกีฬามวยเพื่อขยายความ

            ท่านเป็นหนึ่งในบรรดาผู้สงสัยที่ยักไหล่และดูแคลนคำประกาศจำนวนมากของสมาชิกสหพันธ์สันติภาพเนื่องจากไม่เชื่อเรื่องการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการผ่อนคลาย” การต่อสู้แข่งขันของมนุษยชาติ ใช่หรือไม่? หากใช่ ข้าพเจ้าก็เห็นใจท่าน ด้วยเหตุว่า คำประกาศเหล่านี้คือต้นธารแห่งความหวังต่ออนาคต แม้บางท่านจะเคยและอาจยังฝันถึงการจบสิ้นของสงคราม แต่ความผิดหวังก็ไม่ไร้ซึ่งประโยชน์ บุคคลกลุ่มนี้หาได้น้อยและความฝันของพวกเขาก็ไม่ทำร้ายใคร แต่สิ่งนี้ก็ไม่ใช่เป้าหมายที่ต้องการของผู้มีชื่อเสียงที่เกี่ยวข้องด้วยความปรารถนากับประเด็นสำคัญของอนุญาโตตุลาการ

            พวกเขาไม่ได้แสวงหาการเปลี่ยนโลกให้เป็นคอกแกะเหมือนในภาพวาดของวัตถุ พวกเขาไม่ได้ก่นด่าการกระทำดีที่ประสบผลจากแรงกายซึ่งไม่ยุติธรรมและเป็นอาชญากรรม แต่ผู้กระทำกลับเป็นพระเอก สิ่งแน่ชัด ที่คอยหลอกหลอนพวกเขาคือ ภาพของนานาประเทศที่ไม่ใยดีต่อสงครามที่คาดการณ์ได้เสมอ ภาพของเหล่าอัจฉริยะ การทำงานและความทุ่มเทยามสันติที่ถูกหันเหไปสู่การทำลายล้างและการผลิตเครื่องจักรฆ่ามนุษย์ด้วยกัน และภาพของงบประมาณหลายพันล้านที่ถูกกลืนหาย รวมทั้งชีวิตที่ต้องหยุดนิ่งจากคำสั่งของทรราช ปรากฏการณ์นี้เป็นเรื่องเศร้าใจและน่าละอายมากพอที่พวกเราจะช่วยกันพิจารณาข้อเสนอของผู้รวมกลุ่มเพื่อแสวงหาแนวทางกำจัดมะเร็งร้ายในทวีปยุโรป

            พวกเขาค้นพบว่า หนึ่งในการรณรงค์การใช้อนุญาโตตุลาการทั่วไปเกี่ยวข้องกับการศึกษา ที่ประชุมสหพันธ์สันติภาพเพิ่งจัดทำแนวปฏิบัติดังนี้ รัฐทุกแห่งจะนำวิธีการนี้สู่การปฏิบัติในมหาวิทยาลัย วิทยาลัย โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย กล่าวคือ ข้อสงสัยและข้อโต้แย้งทั้งปวงที่เกิดขึ้นระหว่างนักเรียนจะถูกส่งไปยังคณะอนุญาโตตุลาการซึ่งประกอบด้วยนักเรียนที่ผ่านการเลือกตั้งโดยอิสระจากเพื่อนร่วมชั้นเรียน” แนวคิดนี้ได้เริ่มต้นเบ่งบานในประเทศเสรีคือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งนับเป็นความฉลาดล้ำและสอดคล้องต่อหลักการยิ่งใหญ่ที่มักถูกละเลยคือ การเปลี่ยนคนอยู่ที่ตัวเด็ก อย่างไรก็ตาม ข้อคัดค้านจำนวนมากอาจถูกหยิบยกขึ้นมา ประการแรก เด็กนักเรียนต้องยอมรับอนุญาโตตุลาการอย่างสมัครใจ หากเป็นการบังคับพวกเขา เป้าหมายจะไม่ลุล่วง ทั้งนี้ ก็อาจกริ่งเกรงว่า เฉพาะคนไม่กล้าพอที่จะแลกหมัดหรือเท้ากับผู้อื่นเท่านั้นที่จะยอมรับอนุญาโตตุลาการ โดยคณะอนุญาโตตุลาการนี้จะเป็นที่ลี้ภัยของคนขี้ขลาด” และไม่ได้การยอมรับในไม่ช้า

            อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า การใช้กำปั้นและชก (โดยเฉพาะการต่อย) ไม่เป็นสิ่งไร้ประโยชน์เสียทีเดียวในโรงเรียนมัธยมศึกษา ครูต้องไม่ยอมรับพฤติการณ์นี้แต่หากไหวตัวทัน ก็จะรู้จังหวะที่ควรมองข้ามเรื่องนี้ในบางกรณี การต่อสู้แบบนี้ไม่อะไรที่เหมือนกับอาวุธทำลายล้าง ปืนกลและจรวดใต้น้ำ ในทางตรงข้าม การต่อสู้แบบนี้กลับนำมาซึ่งสันติภาพที่ยั่งยืนกว่าและมั่นคงกว่า ชาวอังกฤษเรียกนวมชกมวยว่า “ผู้พิทักษ์สันติภาพ” เด็กต่างได้รับอนุญาตให้สวมนวมเพื่อฝึกซ้อมเนื่องเพราะพวกเขาคงจะได้ต่อสู้ด้วยมือเปล่าในบางครั้งอย่างแน่นอน

            อันตรายอยู่ที่ไหนเล่า? อันตรายมีไม่มากหากเราระมัดระวัง ท่านจะมีวิธีการใดที่จะแนะนำการพัฒนาความกล้าหาญในตัวเด็ก สอนพวกเขาให้เคารพผู้อื่น และช่วยให้เด็กเข้าใจกฎยิ่งใหญ่ที่ว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”? คงเป็นเรื่องดีและยุติธรรมในการปรับกฎนี้แต่หลักพื้นฐานจะไม่เคยเปลี่ยนแปลง ขอย้ำอีกครั้งว่า ในความเป็นจริงแล้ว การต่อสู้เหล่านี้จะส่งผลกระทบใหญ่หลวงแน่นอนแก่สังคมหรือไม่? การต่อสู้จะกระตุ้นความคิดไปสู่สงครามหรือไม่? ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง โปรดฟังอีกครั้ง สิ่งสำคัญไม่ใช่ประเด็นที่จะหยุดยั้งการต่อสู้นี้อย่างไร แต่จะยับยั้งฝูงชนโง่เขลาที่เป็นส่วนหนึ่งของสงครามสมัยใหม่นี้อย่างไร

            การใช้มีดทิ่มแทงมนุษย์ย่อมเป็นสิ่งที่น่าเสียใจยิ่งกว่าการสาดกำปั้นเข้าหากันของเยาวชนเป็นพันเท่า ซึ่งอนุญาโตตุลาการโดยธรรมเนียมปฏิบัติจะมีค่าในสถานการณ์เช่นนี้ เนื่องเพราะพวกเราไม่ยอมรับในสิ่งปรกติมากของเพื่อนบ้านซึ่งผ่อนปรนการตัดสินโดยศาลเกี่ยวกับคดีทำร้ายและสามารถชดเชยค่าเสียหายได้ ทำไมลูกขุนผู้ทรงเกียรติซึ่งเป็นสุภาพชนผู้ได้รับการนับถือจึงไม่สิทธิว่าความด้วยศักดิ์ศรีและตัดสินการนองเลือดว่าจำเป็นหรือไม่? ข้าพเจ้าอาจจะเสี่ยงที่เปิดเผยมากเกินไปแต่ก็ขอเสริมว่า หากไม่จำเป็นต้องถึงขั้นนองเลือดแล้ว ธรรมเนียมชกต่อยก็เป็นเรื่องสมควรตลอดไป แต่คงเป็นดังที่ ดร.ลาแกรนจ์ เคยกล่าวว่า มีผู้คนจำนวนมากที่ไม่เกรงความตาย แต่ “กลัวจะถูกเปิดเผยที่ซ่อน”?

            โดยเหตุนี้ ขั้นตอนการดำเนินงานที่เสนอโดยที่ประชุมสหพันธ์สันติภาพอาจล้มเหลวหรือบรรลุผลอย่างงดงาม ในกรณีแรก อนุญาโตตุลาการจะถูกรังเกียจเดียดฉันท์จากเด็กนักเรียน อีกกรณีหลัง พวกเขาจะใช้อนุญาตโตตุลาการกับภัยทุกชนิดของการแก้ไขความรุนแรงหรือการใช้กำลังขะมักเขม้น ผลจะกลายเป็นการสร้างมนุษย์ที่ต่อต้านอนุญาโตตุลาการหรือลดทอนความเป็นชาย ทั้งนี้ ข้าพเจ้าขอย้ำว่า โครงการนี้มีความสำคัญมากพอที่พวกเราจะต้องติดตามผลกันต่อไป

            ระบบการศึกษาอังกฤษจัดเตรียมอนุญาโตตุลาการไว้ล่วงหน้ากล่าวคือ กัปตัน ซึ่งเป็นนักเรียนที่คู่ควรการเป็นผู้นำของเพื่อนร่วมชั้นเนื่องด้วยสถานภาพด้านอายุ ประวัติ ชื่อเสียง ความแข็งแรงและทักษะเกมกีฬา การยับยั้งโดยเขาเกิดขึ้นบ่อยครั้ง คำพูดของเขามีน้ำหนัก และอำนาจของเขาก็ไม่มีใครคัดค้าน กัปตันจัดการข้อทะเลาะเบาะแว้งและข้อโต้แย้งจำนวนมากกว่าที่คนคาดคิด ยามที่การต่อสู้เป็นสิ่งจำเป็น เขาจะอำนวยการด้วยเชาน์ปัญญาที่อาจสร้างความประหลาดใจแก่คนจำนวนมาก ข้าพเจ้าเชื่อว่า คำชี้ขาดของเขาจะถูกท้าทายน้อยครั้งมาก เมื่อกัปตันตัดสินว่า กำปั้นเป็นสิ่งไม่สมควร นักเรียนจะยอมฟังและปฏิบัติตาม ทั้งหมดนี้คือสถานการณ์ที่น่ายินดีของเด็กนักเรียน แนวโน้มความสงบที่มากกว่านี้อาจเป็นสัญญาณของความอ่อนแอ

            นอกจากนี้ ข้าพเจ้าเชื่อว่า การสาธิตที่ปรากฏขึ้นที่การเปิดงานในซอร์บอนน์มีความเหมาะสมยิ่งกับการรณรงค์แนวคิดสันติภาพและความปรองดองนานาชาติ นักเรียนวัยเยาว์ที่เดินทางมาจากทั่วโลกสวมเครื่องหมายมหาวิทยาลัยและบนใบหน้าแสดงถึงอุปนิสัยของเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่ยิ่งใหญ่” แถบป้ายของศัตรูรายเดิมติดอยู่ข้างกันติดสอยห้อยตามวิทยาศาสตร์ ณ งานเลี้ยงในเมืองมิวดอน มร.ลาวิสส์ กล่าวสุนทรพจน์แก่แขกผู้มีเกียรติชาวฝรั่งเศสว่า “ทุกแห่งหนที่มนุษย์ยอมรับการอยู่ร่วมกันด้วยกฎหมาย ความรู้สึกและแรงปรารถนาเดียวกันแล้ว การดำรงอยู่ร่วมกันนี้เป็นสิ่งชอบธรรม ความสลักสำคัญ ความศักดิ์สิทธิ์ และก้าวล่วงไม่ได้ เยาวชน เธอจะสร้างโลกแห่งอนาคต สำหรับโลกที่ถักทอระหว่างความคิดเก่าและใหม่ ที่ซึ่งปรากฏการณ์ของความป่าเถื่อนในอดีตกาลสามารถส่งต่อสู่ความเจริญล้ำยุคของอารยธรรมได้อย่างน่าประหลาด จงยึดหลักนี้ อาชญากรรมร้ายแรงที่สุดต่อมนุษยชาติคือ การทำลายหรือบั่นทอนประเทศชาติ” ผู้ฟังของ มร.ลาวิสส์ จะส่งมอบหลักคิดนั้นแก่โลกผ่านสหพันธ์นักเรียนสากลที่พวกเขาได้สถาปนาขึ้น องค์กรของพวกเขาไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักอุดมคติของการหลอมรวมประชากร แต่เป็นหลักยุติธรรมแห่งความเคารพต่อประเทศชาติ พวกเขาจะปรับปรุงกิจกรรมให้ทันสมัย พวกเขาจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อค้นพบ พวกเขาจะพบปะกันเพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบที่ยิ่งใหญ่ และข้าพเจ้าเชื่อว่า พวกเขาจะทำงานให้เกิดดอกออกผลแห่งสันติภาพด้วยแนวทางดังกล่าวนี้

            ท้ายสุดนี้ ข้าพเจ้ามีอีกหนึ่งความคิดที่ต้องการให้การสอนประวัติศาสตร์ไม่มีแต่เพียงการแบ่งกลุ่มสงครามเท่านั้น จงเลือกหนึ่งในผู้สมัครแข่งขันจำนวนหยิบมือสำหรับการสอบจบปริญญาซึ่งเตรียมพร้อมการตอบทุกข้อคำถามของประวัติศาสตร์ที่อาจมี เขาจะชี้แจงเหตุการณ์สงครามสามสิบปีได้ทั้งหมดอย่างถูกต้องและครบถ้วนแก่ท่าน แต่หากถามถึงจำนวนประชากรของทวีปยุโรปในรัชสมัยหลุยส์ที่สิบสี่และเขาจะเงียบ เว้นแต่จะเสี่ยงคาดเดาว่า 36 ล้านคน เมื่อเขาเป็นผู้ใหญ่ พวกเราจะคาดหวังได้อย่างไรว่า เขาจะเข้าใจคำถามเชิงสังคมหากเขาไม่รับรู้ปัญหาจากการเพิ่มขึ้นของประชากรที่เป็นพื้นฐานนี้? เขาไม่รู้เกี่ยวกับสถานภาพของอุตสาหกรรมและการค้าในช่วงระยะเวลาต่างๆในประวัติศาสตร์ของพวกเรา สำหรับเขาแล้ว สิทธิเสรีภาพของชุมชนเป็นการแสดงออกที่ไม่มีความหมายใด วันยิ่งใหญ่ของออเวิร์จ คงเพียงกระตุ้นภาพของตลาดวัวในใจของเขาเท่านั้น ริเชอลูแต่งตั้งเจ้าพนักงานแต่เขาเองก็ไม่ทราบเหตุผลเช่นกัน นับแต่อดีตกาล สนธิสัญญาสันติภาพได้รับการเจรจาต่อรองเพียงเพื่อจะถูกยกเลิกทิ้ง สิ่งสะกิดใจล่าสุดค่อนข้างสลับซับซ้อนจากแนวคิดที่ว่า สันติภาพคือความอปรกติ สงครามคือความปรกติ และจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป ด้วยแนวทางนี้ ความคิดของเด็กจะถูกเบี่ยงไปที่ความบ้าคลั่งที่จะทำให้เขาเรียนรู้ชื่อของสงครามแต่จะไม่มีอะไรที่มากไปกว่านั้น ในความจริง สงครามเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นข้อเท็จจริงเชิงประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญเป็นอันดับห้าหรือหก พวกเราต้องเชื่อว่า หากแต่เพียงมองจากสิ่งที่พวกเรากำลังสนใจในปัจจุบัน (ไม่ต้องเอ่ยถึงผลร้ายแรงอื่นที่อาจเกิดขึ้น) การสอนประวัติศาสตร์ต้องได้รับการทบทวนจากระดับบนสุดถึงล่างสุด 

RANDOM

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เปิดรับสมัคร “อาสาสมัครวัยเก๋า รุ่นที่ 2” ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ หนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้านวิทยาศาสตร์ เปิดรับสมัครแล้ว – 1 กันยายน นี้

NEWS

สสส. ร่วมกับ สคล. เชิญชวนโรงเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “มารู้จักเจ้าชายภูมิพลกันเถอะ” ดาวน์โหลดรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ ‘โรงเรียนคำพ่อสอน.com’ พร้อมรับเกียรติบัตรจากทางโครงการฯ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกวดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “ASEAN-IPR Cybersecurity Youth Essay Competition” ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-IPR Regional Conference on Cybersecurity และมีโอกาสนำเสนอเรียงความในที่ประชุมดังกล่าว สมัครด่วน หมดเขต 22 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!