รองศาสตราจารย์ ดร.พูลพงษ์ บุญพราหมณ์ รักษาการแทนคณบดีสำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ (มวล.) ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัย (MOA in Research Collaboration) ในหัวข้อ “Platform and Cultural Production in Asia” ร่วมกับ 4 มหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ ได้แก่ 1. University of Amsterdam (UvA) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในอันดับ 62 ของ Time Higher Education 2. University 17 Agustus 1945 Surabaya (UNTAG Surabaya) ประเทศอินโดนีเซีย 3. Xavier University-Ateneo De Cagayan ประเทศฟิลิปปินส์ 4. Tunku Abdul Rahman University of Management And Technology (TAR UMT) ประเทศมาเลเซีย
การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัย UNTAG Surabaya ประเทศอินโดนีเซีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการทำวิจัยร่วมกันในด้านการสื่อสารมวลชน และการจัดการเทคโนโลยีที่มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาคมโลกในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เดินหน้าพัฒนาและตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ในฐานข้อมูล Scopus Q1 ร่วมกันอย่างน้อย 4 ผลงาน ภายในระยะเวลา 2 ปี
รองศาสตราจารย์ ดร.พูลพงษ์ กล่าวว่า หลังจากที่ ม.วลัยลักษณ์ ได้รับการจัดอันดับโลก โดย Times Higher Education ให้อยู่ในอันดับที่ 1501+ ของโลก จากมหาวิทยาลัยทั้งหมด 26,000 แห่งทั่วโลก และเป็นอันดับที่ 11 ของประเทศไทย จากมหาวิทยาลัย 18 แห่ง ที่ผ่านเงื่อนไข และ ม.วลัยลักษณ์ได้เข้าไปอยู่ในกลุ่มมหาวิทยาลัยวิจัยแนวหน้าของโลก (Frontier Research University) ตามนโยบายของกระทรวง อว. คณาจารย์ทุกคนได้ร่วมกันขับเคลื่อนการวิจัยอย่างเข้มข้น ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนผลงานวิจัยมากขึ้นแบบก้าวกระโดด และเป็นผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ Scopus Q1,Q2 กว่า 92.1% อยู่ในอันดับ 2 ของประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของอาจารย์ผู้สอน และนักวิจัยของม.วลัยลักษณ์
ในส่วนของ สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ ได้ดำเนินการขับเคลื่อนงานวิจัยตามนโยบายของมหาวิทยาลัย มีการเตรียมการที่จะสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่อยู่ในอันดับโลก ทั้งในทวีปยุโรปและเอเชีย เช่น Grenoble INP ประเทศฝรั่งเศส Universiti Utara (UUM) , Universiti Pendidikan Sultan Idris (UPSI) ประเทศมาเลเซีย Murdoch University, University of Tasmania ประเทศออสเตรเลีย Harbin Engineering University ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และ National Dong Hwa University ไต้หวัน เป็นต้น โดยนอกเหนือจากการวิจัย จะเน้นความร่วมมือด้านอื่น ๆ อาทิ ด้านการเรียนการสอน การวิจัย การพัฒนาหลักสูตร การแลกเปลี่ยนนักศึกษาและการส่งนักศึกษาไปฝึกปฏิบัติสหกิจศึกษา ฯลฯ
ทั้งนี้ คาดว่าความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะสำเร็จเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองขับเคลื่อนการก้าวสู่อันดับโลกที่ดีขึ้นของมหาวิทยาลัย เชื่อว่าในอนาคตผลงานวิจัยของ ม.วลัยลักษณ์ จะมีจำนวนมากขึ้น มีคุณภาพสูงขึ้น และมีการอ้างอิงที่สูงขึ้นตามไปด้วย