เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 ที่ห้องประชุมศรีอุบล นางสาวลฎาภา แสวงทรัพย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ตัวแทนครู นักเรียน นักศึกษา ให้การต้อนรับคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา นำโดย นายทรงเดช เสมอคำ รองประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา รองประธานคณะอนุกรรมาธิการการอาชีวศึกษา พลเอกอู๊ด เบื้องบน กรรมาธิการการศึกษา พลอากาศเอกชิตพล เกษมคุณ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการศึกษา และคณะอนุกรรมาธิการการอาชีวศึกษา เพื่อศึกษาดูงานด้านการศึกษา ประเด็นเกี่ยวกับสภาพปัญหาและอุปสรรคในการจัดการอาชีวศึกษาในปัจจุบัน การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาสมรรถนะครู บุคลากรและผู้เรียน แนวทางการ R-Skill , Up-Skill และ New-Skill ครูและบุคลากร การพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) สาขาวิชาการโรงแรม รวมทั้ง การพัฒนาองค์การนักวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย (อวท.) ของ นักศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี โดยมี นายธาตรี พิบูลมณฑา ผู้อำนวยการสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมต้อนรับและให้ข้อมูลในการบริหารสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี และ นางสาวลฎาภา แสวงทรัพย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี บรรยายสรุปให้ข้อมูลผลการดำเนินงานบริหารสถานศึกษาในประเด็นดังกล่าวให้กับคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ได้รับทราบในที่ประชุมด้วย จากนั้น คณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ได้ซักถามและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
จากนั้น คณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา โดย นายทรงเดช เสมอคำ รองประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา รองประธานคณะอนุกรรมาธิการการอาชีวศึกษา เป็นตัวแทนมอบเกียรติบัตรแก่วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ที่ให้การสนับสนุนภารกิจในการศึกษาดูงานของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา หลังจากนั้น ได้เยี่ยมชมการสาธิตการจัดการเรียนการสอนของสาขาวิชาการโรงแรม ที่ได้รับการยกระดับเป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) เช่น การสาธิตผสมเครื่องดื่ม การสาธิตนวดสปา พร้อมกับเยี่ยมชมห้องเรียน ห้องปฏิบัติการสาขาวิชาการโรงแรม รวมทั้งหอศิลป์ราชธานีศรีวนาไล และโรงแรมอาชีวะอุบล ซึ่งได้รับความชื่นชมในผลงานและการต้อนรับของวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานีเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ การลงพื้นที่ศึกษาดูงานในครั้งนี้ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา มีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บข้อมูลที่ได้รับจากการลงพื้นที่เข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์ สังเคราะห์ สรุปผล นำมาจัดทำรายงาน และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อฝ่ายบริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการขับเคลื่อนและพัฒนาการจัดการอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานต่อไป