มหาวิทยาลัยศรีปทุม (SPU) ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตแบบก้าวกระโดด กระจายโอกาส กระจายรายได้ และนำความมั่งคั่งไปสู่ชุมชนในท้องถิ่นอย่างทั่วถึง จึงมุ่งผลิตนักศึกษาที่มีคุณภาพในการประกอบอาชีพ ผ่านการเรียนรู้จากการลงมือทำจริง โดยมีคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญครอบคลุมทุกองค์ความรู้เกี่ยวกับวิศวกรรมไฟฟ้า และได้รับการยอมรับจากภาครัฐและเอกชน ทั้งยังมีผลงานวิจัยและมีการพัฒนาการเรียนการสอน เพื่อต่อยอดองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง
ผศ.ดร.ภรชัย จูอนุวัฒนกุล อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เป็นผู้ที่ศึกษาและทำงานจริงด้านวิศวกรรมไฟฟ้า รวมถึงเชี่ยวชาญด้านการเรียนการสอน โดยจบการศึกษาสูงสุดระดับปริญญาเอก ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ จาก มหาวิทยาลัยเคอร์ติน ประเทศออสเตรเลีย และเป็นผู้ที่เข้าใจระบบโซลาร์ฟาร์ม (solar farm) จนได้รับคัดเลือกเป็นกรรมการร่าง TOR ระบบโซลาร์ฟาร์มของกองทุนหมู่บ้าน โดย สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (สทบ.)
ผศ.ดร.ภรชัย เปิดเผยว่า วิศวกรไฟฟ้า เป็นสาขาที่สามารถทำงานในสิ่งที่จับต้องได้ และใกล้ชิดกับการใช้ชีวิตของทุกคน ซึ่งสาขานี้เติบโตอย่างมาก ตั้งแต่มีการเริ่มใช้ไฟฟ้าในศตวรรษที่ 19 จนถึงปัจจุบัน หลากหลายอุตสาหกรรมใช้ประโยชน์จากวิศวกรรมไฟฟ้า เช่น การสื่อสาร สาธารณูปโภค เทคโนโลยี การขนส่ง และงานภาครัฐบาล วิศวกรรมไฟฟ้า เป็นสาขาวิศวกรรมสมัยใหม่ที่ใช้ฟิสิกส์ อิเล็กทรอนิกส์ และแม่เหล็กไฟฟ้า ในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้ หรือ ผลิตกระแสไฟฟ้า ที่สำคัญ การได้ทำงานด้านวิศวกรรมไฟฟ้า มีประโยชน์ทั้งส่วนบุคคลและสังคม เพราะช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีผลกระทบเชิงบวกโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนและสังคม ทำให้วิศวกรไฟฟ้ามีโอกาสก้าวหน้าในสายงานสูง เป็นได้ทั้งพนักงานในองค์กร หรือ เป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ และยังเป็นอาชีพที่มีค่าตอบแทนที่แข่งขันได้
สำหรับ หลักสูตรวิศวกรรมไฟฟ้าที่ ม.ศรีปทุม ได้รับการรับรองจาก สภาวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย นักศึกษาจบแล้วสามารถไปยื่นสอบ กว. หรือ ใบประกอบวิชาชีพทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ได้ และการเรียนสาขานี้ไม่ได้ยากอย่างที่หลายคนคิด เพราะอาจารย์จะสอนให้เห็นภาพ และเข้าใจได้ง่าย แถมใช้งานได้จริง
“ผมเน้นสอนโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem Based Learning) ผ่านแนวคิดและหลักการ IPO ประกอบด้วย 1. กระบวนการ I เป็นการเตรียมร่างกาย ให้มีความอดทน จิตใจมีสมาธิ และสติปัญญามีวิธีคิด 2. กระบวนการ P มี 5 ขั้นตอน คือ 1. เรียนรู้ให้สามารถอธิบายได้ 2. เข้าใจจนสามารถเขียนได้ 3. นำไปใช้นำเสนอได้ 4. ฝึกฝนจนสามารถสอนผู้อื่นได้ 5. สร้างวิธีคิดที่เป็นของตนเองได้ และ 3. กระบวนการ O คือ ภารกิจให้ผู้เรียนสอนผู้เรียนด้วยกันเอง ผ่านกิจกรรมและภารกิจ”
นอกจากนี้ ผมยังได้เป็นกรรมการร่าง TOR ระบบโซลาร์ฟาร์มของกองทุนหมู่บ้าน ภายใต้ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (สทบ.) โดยมีเป้าหมายของโครงการ คือ ภาครัฐต้องการยกระดับรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิต เพราะบางหมู่บ้านในพื้นที่ห่างไกลนั้น น้ำประปาและไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง ดังนั้น การมีระบบโซลาร์ฟาร์ม ก็สามารถผลิตไฟฟ้าในพื้นที่นั้น ๆ และใช้ที่นั่นได้ นอกจากนั้น รัฐบาลวางเป้าผลิตไฟฟ้าในหมู่บ้านให้ได้ 1 เมกะวัตต์ ต่อ 1 ชุมชน เป้าหมายผลิตติดตั้งรวม 800 เมกะวัตต์ ใน 800 หมู่บ้าน เพราะต้องการผลักดันให้มีโรงไฟฟ้าชุมชนขนาดเล็กเกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงและเป็นเจ้าของโครงการได้ ซึ่งผมต้องการมีส่วนส่งเสริมการยกระดับชุมชน และให้คนในหมู่บ้าน มีความสามารถในการดูแลระบบโซลาร์ฟาร์มด้วยตนเองได้ ผ่านการให้คำแนะนำด้านเทคโนโลยีและแบตเตอรี่
ม.ศรีปทุม ให้ความสำคัญกับเรื่องพลังงานสีเขียว อาทิ โซล่าเซลล์ มีการสอนตั้งแต่การออกแบบระบบโซลาร์ฟาร์ม โซลาร์รูฟท็อป หรือ แม้กระทั่งโซลาร์ปั๊ม มุ่งเน้นโอกาสงานใหม่ ๆ ให้กับนักศึกษา ซึ่งการออกแบบระบบโซลาร์ 3 ส่วนนี้ อยู่ในรายวิชา Problem–based Learning เอาโจทย์ที่เป็นปัญหาของประเทศไทยจริง ๆ เป็นตัวตั้งต้น ให้นักศึกษาได้วิเคราะห์ และมีการเชิญวิทยากรจากสภาวิชาชีพวิศวกร บริษัทเอกชน เช่น บริษัท สยาม โซล่าร์ เซลล์ จำกัด มาให้คำแนะนำ และให้นักศึกษาจับกลุ่มทำงานเป็นทีม เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์
“ผู้ที่สนใจอยากเรียนวิศวกรรมไฟฟ้า ต้องเริ่มจากความตั้งใจ มีวินัย อดทน และมีความพยายาม หมั่นฝึกฝนสิ่งที่เรียนตั้งแต่ต้นจนจบด้วยตนเอง และทำซ้ำ ๆ จนเกิดความเชี่ยวชาญ อย่าลืมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เทคโนโลยีใหม่ ๆ ปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ข้อสำคัญที่สุด คือ ไม่เข้าใจอะไร ติดขัดอะไร ขอให้กล้าถามอาจารย์ หรือ ผู้สอน เสมอ” ผศ.ดร.ภรชัย กล่าวทิ้งท้าย