กรมการแพทย์ โดย สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เปิดเผยว่า ในฤดูร้อน นอกจากแสงแดดที่ร้อนแรงแล้ว ยังมีเชื้อโรคที่แพร่ระบาด และทำให้เด็ก ๆ เจ็บป่วยได้มากกว่าฤดูอื่น แนะผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด
นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูร้อนนอกจากอากาศร้อนอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังเป็นช่วงที่เด็ก ๆ ปิดเทอม ส่วนใหญ่มักพากันท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ต้องพบเจอแสงแดด อากาศร้อน และการรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้มากมาย ซึ่งเด็ก ๆ มีภูมิต้านทานไม่มากนัก จึงมักเจ็บป่วยได้ง่าย ผู้ปกครองจึงควรใส่ใจสุขภาพของบุตรหลาน หากพบความผิดปกติควรไปพบแพทย์ เพื่อได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
ด้าน นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวว่า “โรคไข้แดด” มีสาเหตุเกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ในช่วงหน้าร้อน ที่มีอุณหภูมิภายนอกสูง อาการของโรคจะถูกกระตุ้นจากอากาศที่ร้อน ร่วมกับ การรับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เข้าสู่ร่างกาย
อาการ
1. ไข้สูงอ่อนเพลีย
2. ปวดศีรษะ
3. คลื่นไส้
4. อาเจียน
5. เบื่ออาหาร
6. ครั่นเนื้อครั่นตัว
7. บางรายอาจมีตาแดง
วิธีการดูแลป้องกัน
1. ควรพักผ่อนให้เพียงพอ เด็ก ๆ ต้องนอนอย่างน้อยวันละ 8-10 ชั่วโมง
2. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำสะอาดต่อวันให้เพียงพอ เพื่อลดการสูญเสียน้ำจากเหงื่อ
3. หมั่นล้างมือบ่อย ๆ หรือ พกเจลล้างมือติดตัว เพื่อสะดวกในการล้างมือ
4. ออกกำลังกายเป็นประจำ
5. พยายามหลีกเลี่ยงไม่ไปใกล้ชิดปะปนกับคนที่เป็นหวัด ไอ น้ำมูก เพื่อลดโอกาสการรับเชื้อ
6. ผูัปกครองควรหมั่นทำความสะอาดบ้าน และของเล่นที่ลูกใช้อยู่เป็นประจำเพื่อลดการสะสมเชื้อโรค
7. ไม่เข้าไปในสถานที่ที่มีคนอยู่แออัด ระบบการถ่ายเทอากาศไม่ดี เช่น ตลาดนัด โรงภาพยนตร์
8. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ให้แก่เด็ก โดยเริ่มฉีดได้ตั้งแต่เด็กอายุ 6 เดือนเป็นต้นไป และฉีดกระตุ้นซ้ำทุกปี ดังนั้นเด็ก ๆ จึงควรหลีกเลี่ยงการเผชิญกับแสงแดด หรือ อยู่ในสถานที่อากาศร้อนจัด
อ้างอิงจาก https://bit.ly/43cQaQ4