มจธ. เปิดหลักสูตรปรับปรุงใหม่ ป.เอก ด้านพลังงาน ปั้นบุคลากรรองรับการเปลี่ยนผ่านระบบพลังงานของโลก

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

รศ.ดร.บัณฑิต ฟุ้งธรรมสาร ที่ปรึกษาอธิการบดีด้านวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยในฐานะประธานกรรมการปรับปรุงหลักสูตรปริญญาเอกสายพลังงาน ของ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) ว่า สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ climate change ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทั่วโลก จึงต้องมีมาตรการเร่งด่วนในการแก้ปัญหา สิ่งสำคัญ คือ การเปลี่ยนผ่านพลังงาน (energy transition) จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล มาใช้พลังงานที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ เช่น พลังงานหมุนเวียน และเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ องค์กรสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ภายในปี ค.ศ. 2030 รวมถึงเป้าหมายของประเทศไทยในการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission ภายในปี ค.ศ. 2065 ทำให้การสร้างบุคลากรในด้านนี้จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในยุคปัจจุบัน

“การเปลี่ยนผ่านระบบพลังงานของโลก ด้วยการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน จะนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะ SDG7 ที่ว่าด้วยการสร้างหลักประกันให้ทุกคนเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ เชื่อถือได้ และยั่งยืน โดยองค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ SDGs เป็นกรอบให้ทุกประเทศทำการเปลี่ยนผ่านทั้งด้านพลังงาน เศรษฐกิจ และสังคม อย่างเป็นรูปธรรม จึงเป็นที่มาของความต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในทุกระดับ โดยเฉพาะระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ทั้งด้านเทคนิค การบริหารจัดการ และการวางแผน”

ด้วยเหตุนี้ JGSEE มจธ. จึงได้ปรับปรุงหลักสูตรระดับปริญญาเอกอย่างมีนัยสำคัญ ให้พร้อมรับการทำงานในสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตมากยิ่งขึ้น จากหลักสูตร Ph.D. in Energy Technology เดิม ที่เน้นเทคโนโลยีพลังงาน มาเป็น “หลักสูตร Ph.D in Sustainable Energy Systems (SES) หรือ ระบบพลังงานที่ยั่งยืน” เน้นการมองปัญหาเชิงระบบ โดยการบูรณาการเทคโนโลยีหลาย ๆ ด้าน เป็น ‘สหวิทยาการ’ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะบุคลากรรองรับการเปลี่ยนผ่านระบบพลังงานของโลก ทั้งด้านเทคนิค การบริหารจัดการ และการวางนโยบายและแผน ซึ่งในหลักสูตรที่ปรับปรุงใหม่นี้ดำเนินการสอน โดยคณาจารย์ประจำ JGSEE และอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากภายในและภายนอก มจธ. ร่วมทั้งความร่วมมือกับ องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID)

รศ.ดร.บัณฑิต กล่าวต่อว่า เหตุผลอีกประการหนึ่งของการปรับปรุงหลักสูตรครั้งนี้ เพราะต้องการพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ที่มีความเข้าใจด้านระบบพลังงาน และเศรษฐศาสตร์พลังงาน เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมมากขึ้นในช่วงที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงระบบพลังงาน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการทำงานในด้านการวางแผนและออกแบบระบบ ทั้งในหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลด้านพลังงาน อาทิ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เช่น กฟผ. กฟน. กฟภ. และบริษัทที่ประกอบธุรกิจด้านพลังงาน เช่น ปตท. และ บริษัทธุรกิจพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ เป็นต้น โดยการเรียนการสอนในหลักสูตรปรับปรุงใหม่นี้ จะเน้นการพัฒนาทักษะด้านการประกอบวิชาชีพมากขึ้น อาทิ ทักษะด้านการสื่อสาร ด้านดิจิทัล การบริหารโครงการ และทักษะการเป็นผู้ประกอบการ หรือ Entrepreneurship

สำหรับหลักสูตร Ph.D. in SES เป็นหลักสูตรนานาชาติ แบ่งเป็น 2 แผน ได้แก่ Plan A สำหรับผู้เรียนจบปริญญาโท ระยะเวลาเรียน 3 ปี จำนวน 55 หน่วยกิต (วิชาบังคับ 11 หน่วยกิต วิชาเลือก 6 หน่วยกิต วิทยานิพนธ์ 38 หน่วยกิต) และ Plan B สำหรับผู้จบปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับ 1 ระยะเวลาเรียน 4 ปีครึ่ง จำนวน 75 หน่วยกิต (วิชาบังคับ 11 หน่วยกิต วิชาเลือก 15 หน่วยกิต วิทยานิพนธ์ 49 หน่วยกิต)

ในส่วนของวิชาบังคับ (หรือวิชาแกน) 4 วิชา ได้แก่ 1. Research Methodology 2. Research Communication 3. Energy, Environment and Sustainability และ 4. Entrepreneurship for Energy and Environment ส่วนวิชาเลือก แบ่งเป็น 4 สาขาย่อย ตามสาขาวิทยานิพนธ์ที่จะเลือกทำ ได้แก่ สาขาย่อยที่ 1 Energy Policy and Planning เน้นการวางฉากทัศน์ในอนาคต การวางนโยบายและแผน เศรษฐศาสตร์ การตลาด และการบริหารโครงการ สาขาย่อยที่ 2 เทคโนโลยีพลังงาน และเทคโนโลยีโรงไฟฟ้า เช่น โซล่าเซลล์ ชีวมวล เป็นต้น สาขาย่อยที่ 3 Energy Systems Integration เน้นการบูรณาการรูปแบบพลังงานใหม่ ๆ เข้ามาในระบบไฟฟ้าสมัยใหม่ (smart grid) เช่น ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนที่แปรผันและกระจาย และรูปแบบการใช้ไฟฟ้าใหม่ ๆ เช่น การจัดการด้านโหลด (demand response) ทั้งระดับโรงงาน อาคาร และระดับครัวเรือน รวมทั้งทักษะการใช้ big data กับการจัดการพลังงาน และ สาขาย่อยที่ 4 ประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน เน้นการจัดการพลังงานในอาคาร ในอุตสาหกรรม และในภาคขนส่ง และยังมีวิชาเลือกในหลักสูตรด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และความยั่งยืน ที่จะทำให้ผู้เรียนมีมุมมองทั้งด้านสิ่งแวดล้อมกับพลังงานที่รอบด้านมากยิ่งขึ้น

ด้าน ศ.ดร.นวดล เหล่าศิริพจน์ ผู้อำนวยการ JGSEE ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักสูตรนี้เปิดกว้างสำหรับผู้จบสายวิทยาศาสตร์ สายวิศวกรรมศาสตร์ และสายเศรษฐศาสตร์ หรือที่เกี่ยวข้อง โดยผู้เรียนส่วนใหญ่จะได้รับทุนการศึกษาตลอดหลักสูตร ซึ่งปัจจุบันเปิดรับสมัครไปแล้ว 2 รุ่น โดยเปิดรับสมัครทุกภาคการศึกษา ภาคการศึกษาที่ 1 เปิดรับสมัครช่วง ม.ค. – มิ.ย. (เปิดภาคการศึกษา ส.ค.) ภาคการศึกษาที่ 2 เปิดรับสมัครช่วง ส.ค. – พ.ย. (เปิดภาคการศึกษา ม.ค.) ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายบริการการศึกษา บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม โทร. 02-470-8338 อีเมล adisorn.jeu@kmutt.ac.th

RANDOM

ม.เทคโนโลยีบรูไน เชิญชวนน้อง ๆ นักเรียน นักศึกษา ส่งผลงานเข้าร่วมแข่งขันในรายการ The Crown Prince CIPTA Award 2025 หัวข้อ “นวัตกรรมสีเขียว (Green Innovations)” ชิงทุนการศึกษา หมดเขตสมัครและส่งผลงาน 27 ม.ค. 2568

NEWS

สสส. ร่วมกับ สคล. เชิญชวนโรงเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “มารู้จักเจ้าชายภูมิพลกันเถอะ” ดาวน์โหลดรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ ‘โรงเรียนคำพ่อสอน.com’ พร้อมรับเกียรติบัตรจากทางโครงการฯ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกวดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “ASEAN-IPR Cybersecurity Youth Essay Competition” ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-IPR Regional Conference on Cybersecurity และมีโอกาสนำเสนอเรียงความในที่ประชุมดังกล่าว สมัครด่วน หมดเขต 22 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!