นักวิจัยจุฬาฯ ค้นพบ “แอนติบอดี้ประสิทธิภาพสูงต้านเชื้อโควิด-19” ต่อยอดสู่นวัตกรรม “สเปรย์พ่นจมูกโควิแทรป” สกัดโรคที่ต้นทาง

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

ทีมนักวิจัยศูนย์ชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ค้นพบ “แอนติบอดี้ประสิทธิภาพสูงต้านเชื้อโควิด-19” จากร่างกายมนุษย์ ต่อยอดเป็นนวัตกรรม “โควิแทรป” สเปรย์พ่นจมูกดักจับและยับยั้งเชื้อโควิด-19 ด้วยแอนติบอดี้ที่ผ่านการรับรองเป็นเครื่องมือแพทย์ครั้งแรกในโลก มั่นใจช่วยรับมือการแพร่เชื้อโควิดร่วมกับมาตรการการป้องกันอื่น ๆ

ปัจจุบันมาตรการการป้องกันโรคโควิด-19 ได้รับการผ่อนปรนขึ้นมาก จนสามารถถอดหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะบางพื้นที่ได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เชื้อโควิด-19 หายไปจากโลกนี้แล้ว อันที่จริง ยังคงมีผู้ป่วยและการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 อยู่ การเฝ้าระวังและป้องกันไม่ให้ติดเชื้อจึงยังเป็นเรื่องจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรักษาสุขภาพ การฉีดวัคซีน รวมถึงการสวมใส่หน้ากากอนามัย แต่จะดีแค่ไหน หากเรามีตัวช่วยที่สามาถยับยั้งเชื้อโควิด-19 ได้ตั้งแต่โพรงจมูก ก่อนที่เชื้อจะเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจในร่างกาย

อ.นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล หัวหน้าศูนย์ชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการทำงานวิจัยและการค้นพบ “แอนติบอดี้ประสิทธิภาพสูงต้านเชื้อโควิด-19” ซึ่งต่อมาได้ถูกนำมาพัฒนาเป็นสเปรย์พ่นจมูกดักจับและยับยั้งเชื้อโควิด-19 ด้วยแอนติบอดี้ ว่า ช่วงการระบาดโรคโควิด-19 ระลอกแรก เดือนเมษายน 2563 เรากังวลกันว่าจะรับมือการระบาดไหวไหม มีคนไข้ที่อาการรุนแรงและเสียชีวิตด้วย ก็เลยหารือกัน ขณะนั้นทางทีมวิจัยของศูนย์ฯ กำลังศึกษาและทำยารักษามะเร็งอยู่ เราจึงเห็นว่า องค์ความรู้และความสามารถที่เรามีในการพัฒนายาจากแอนติบอดี้ น่าจะช่วยรับมือโรคโควิดได้

และด้วยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและเอกชน ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) องค์การเภสัชกรรม และ บริษัท ไฮไบโอไซ จำกัด ทีมนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้นำองค์ความรู้จากการค้นพบ “แอนติบอดี้ประสิทธิภาพสูงต้านเชื้อโควิด-19” มาต่อยอด และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ “โควิแทรป – สเปรย์พ่นจมูกดักจับและยับยั้งเชื้อโควิด-19 ซึ่งนับว่าเป็นนวัตกรรมแรกในโลก ที่นำแอนติบอดี้มาสร้างเป็นสเปรย์พ่นจมูกที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจาก อย. ให้เป็นเครื่องมือแพทย์ประเภทที่ 4 เพื่อดักจับและยับยั้งเชื้อโควิด-19 ในโพรงจมูก

แอนติบอดี้ประสิทธิภาพสูงต้านเชื้อโควิด-19 ทีมวิจัยได้เก็บตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่หายดีแล้ว จำนวนกว่า 300 คน แล้วนำเลือดที่ได้มาตรวจหาบีเซลล์ (B cells) เพื่อค้นหาเซลล์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ที่สามารถสร้างแอนติบอดี้ที่จัดการเชื้อโควิด-19 ได้
“จากบีเซลล์นับล้านตัว สามารถนำมาผ่านกระบวนการ High-Throughput Screening จนพบบีเซลล์ที่ผลิตแอนติบอดี้ที่สามารถต้านเชื้อโควิด-19 ได้อย่างดีเยี่ยม จากนั้นก็นำบีเซลล์นี้ไปทำการถอดรหัสพันธุกรรมของยีนแอนติบอดี้ (Immunoglobulin Gene) แล้วนำเข้าสู่การผลิตแอนติบอดี้โดยกระบวนการทางอุตสาหกรรม เพื่อให้ได้แอนติบอดี้ปริมาณมาก”

เมื่อแอนติบอดี้ดังกล่าว เข้าไปอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายแล้ว ก็จะช่วยดักจับและยับยั้งเชื้อโควิด-19 ที่เข้ามาในบริเวณนั้น ๆ กรณีที่ใช้วิธีฉีดแอนติบอดี้เข้าไปในร่างกาย แอนติบอดี้ก็จะเข้าไปป้องกันส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น กระแสเลือด ปอด ลำไส้ เยื่อบุต่าง ๆ ส่วนวิธีการพ่นแอนติบอดี้เข้าไปในจมูก แอนติบอดี้ก็จะเคลือบอยู่บนผิวเยื่อบุของโพรงจมูก ป้องกันไม่ให้ไวรัสจับกับเซลล์เยื่อบุโพรงจมูกแล้วเข้าไปในร่างกาย จนเกิดการติดเชื้อในร่างกาย

แอนติบอดี้และวัคซีน แม้จะเป็นสิ่งที่สามารถใช้รับมือกับเชื้อโควิด-19 ได้ทั้งคู่ แต่ก็มีคุณสมบัติและการทำงานที่ต่างกัน ไม่สามารถใช้ทดแทนกันได้ การทำงานของวัคซีนเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี้ และเซลล์เม็ดเลือดขาวขึ้นมา กำจัดเชื้อโรคที่อาจเข้ามาในร่างกาย ซึ่งการสร้างภูมิคุ้มกันให้สำเร็จต้องใช้เวลาระยะหนึ่งหลังการฉีดวัคซีน เมื่อภูมิคุ้มกันขึ้นแล้ว ภูมิคุ้มกันนี้จะอยู่กับร่างกายได้นาน แต่การกระตุ้นภูมิคุ้มกันก็อาจทำให้บางคนเกิดอาการแพ้ได้ ส่วนแอนติบอดี้ที่อยู่ในโควิแทรปนั้น เป็นเสมือน “ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป” ที่ถูกผลิตจากโรงงาน เมื่อพ่นเข้าในโพรงจมูกแล้ว จะสามารถยับยั้งเชื้อโควิดในบริเวณนั้นได้เลย โดยที่แอนติบอดี้จะไม่เข้าไปในร่างกาย และไม่มีการกระตุ้นให้ร่างกายผลิตแอนติบอดี้ขึ้นมา ทำให้มีโอกาสเกิดอาการแพ้ต่ำกว่าการฉีดวัคซีน แต่ก็มีข้อเสีย คือ อยู่ได้ไม่นาน (ราว 6 ชั่วโมง) เนื่องจากร่างกายไม่ได้ถูกกระตุ้นให้ผลิตแอนติบอดี้ออกมาเหมือนวัคซีน ทำให้แอนติบอดี้สำเร็จรูปที่เข้าไปในโพรงจมูกถูกขับทิ้งไปตามธรรมชาติ โดยไม่มีการผลิตเพิ่ม

ถึงแม้ว่าเราจะได้รับวัคซีนแล้ว สวมใส่หน้ากากแล้ว แต่เรายังควรใช้สเปรย์พ่นจมูก เพราะโควิแทรปและหน้ากากอนามัยทำหน้าที่เสริมกัน ถ้านำทั้งสองอย่างมาใช้ร่วมกันก็จะมีประสิทธิภาพในการรับมือกับเชื้อโควิด-19 มากกว่าการใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ใช้อะไรปกป้องเลย

“หากเราอยู่ในพื้นที่แออัดแล้วต้องถอดหน้ากากอนามัย การป้องกันของเราก็หายไป การใช้โควิแทรปจะช่วยทำหน้าที่ปกป้องเราจากเชื้อโรคได้ โควิแทรปเหมาะกับคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ เช่น อยู่ในพื้นที่แออัด พื้นที่ปิด หรือ อยู่ในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องถอดหน้ากากอนามัยในที่ ๆ มีคนเยอะ ๆ”

โควิแทรป เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์เช่นเดียวกับหน้ากากอนามัย ใช้งานง่าย ที่สำคัญ คือ ปลอดภัย โดยนวัตกรรมชิ้นนี้ได้ผ่านการทดสอบความปลอดภัยในกลุ่มอาสาสมัครอายุ 18-60 ปีแล้ว

“โควิแทรป เป็นสเปรย์พ่นจมูกที่มีแอนติบอดี้ประสิทธิภาพสูง ที่ค้นพบจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่หายดีแล้ว มีความปลอดภัยสูง การพ่นแอนติบอดี้เข้าไปไม่ใช่เพื่อกระตุ้นภูมิในร่างกาย และไม่ได้เข้าไปในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ตัวแอนติบอดี้จะเคลือบอยู่บนผิวเยื่อบุโพรงจมูกเท่านั้น สามารถดักจับและยับยั้งเชื้อโควิด-19 ได้ราว 6 ชั่วโมง ก่อนที่จะถูกขับทิ้งไปตามธรรมชาติ”

ในอนาคต อ.นพ.ไตรรักษ์ กล่าวว่า โควิแทรปเป็นนวัตกรรมที่มีความยืดหยุ่นสูง นอกจากการนำตัวแอนติบอดี้ประสิทธิภาพสูงต้านเชื้อโควิด-19 มาพ่นจมูกแล้ว ยังสามารถนำแอนติบอดี้ต่อเชื้อไวรัสทางเดินหายใจตัวอื่น ๆ มาพัฒนาต่อยอดเป็นสเปรย์พ่นจมูก เพื่อรับมือกับโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่น ๆ ได้อีก

อ.นพ.ไตรรักษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เราจะต้องอยู่กับโควิด-19 ไปตลอดชีวิต มันไม่มีทางที่จะหมดไปในปีสองปีนี้อย่างแน่นอน และในอนาคตอาจจะมีเชื้ออื่น ๆ เกิดขึ้นมาอีกก็ได้ ซึ่งเราต้องรับมือในระยะยาวให้ได้ โควิแทรป ผ่านการทดสอบตามมาตรฐานขององค์การอาหารและยา และขึ้นทะเบียนเป็นเครื่องมือแพทย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันมีวางจำหน่ายตามร้านขายยาชั้นนำทั่วไป

สามารถอ่านงานวิจัย นวัตกรรมสเปรย์พ่นจมูกดักจับและยับยั้งโควิด-19 ด้วยแอนติบอดี้ ได้ที่ https://www.medrxiv.org/content/10.1101/2022.10.04.22280574v1

RANDOM

สำนักงานวิจัยแห่งชาติ ประกาศรับข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ประจำปีงบประมาณ 2567 รุ่นที่ 26 ยื่นข้อเสนอการวิจัยได้ ตั้งแต่บัดนี้ – 25 กันยายน 2566

ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ชวนคนรุ่นใหม่ระเบิดไอเดีย ประกวดออกแบบลายเสื้อยืด ในหัวข้อ “Give Blood Give Lives…พลังเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่” ชิงทุนการศึกษารวม 18,000 บาท ส่งผลงานได้ ตั้งแต่บัดนี้ – 31 มี.ค. 67

สปอว. ร่วมมือ ม.ศรีปทุม และ สถาบันอุดมศึกษา 18 แห่ง เร่งขยายผลหลักสูตรพัฒนาบุคลากรตามแนวทาง CWIE+EEC Model Type A เน้นสหกิจศึกษา มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีศักยภาพและสมรรถนะสูง สามารถปฏิบัติงานได้จริง ตอบสนองความต้องการของตลาดงาน

NEWS

สสส. ร่วมกับ สคล. เชิญชวนโรงเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “มารู้จักเจ้าชายภูมิพลกันเถอะ” ดาวน์โหลดรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ ‘โรงเรียนคำพ่อสอน.com’ พร้อมรับเกียรติบัตรจากทางโครงการฯ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกวดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “ASEAN-IPR Cybersecurity Youth Essay Competition” ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-IPR Regional Conference on Cybersecurity และมีโอกาสนำเสนอเรียงความในที่ประชุมดังกล่าว สมัครด่วน หมดเขต 22 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!