มธบ. ร่วม สดช. เวิร์คช้อป จำลองใช้คูปอง-เงินสนับสนุน หนุนคนพิการเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียม

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

สดช. เวิร์คช้อปเดินหน้าจำลองการให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับคนพิการใน 2 รูปแบบ การใช้คูปอง และเงินสนับสนุน คนพิการต้องการมากสุด ด้าน มธบ. ทีมที่ปรึกษาโครงการ เตรียมสรุปผลการจำลอง ข้อเสนอแนะ ปัญหาและอุปสรรคในการใช้งาน เพื่อจัดทำเนื้อหาสาระใน (ร่าง) แนวทางและรูปแบบการให้บริการเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับคนพิการ คาดใช้เวลาแล้วเสร็จ 1-2 เดือน ก่อนเสนอ ครม.ต่อไป

สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดประชุมอบรมเชิงปฎิบัติการเพื่อจำลองการใช้บริการตามแนวทางและรูปแบบการให้บริการเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับคนพิการ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ โรงแรม ทีเค.พาเลช แอนด์ คอนเวนชั่น โดยมี นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เป็นประธานเปิดงาน และ น.ส.รัตนา จรูญศักดิ์สิทธิ์ ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อสังคม กล่าวรายงาน พร้อมด้วย ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU หน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการ และตัวแทนผู้พิการเข้าร่วมมากกว่า 150 คน จาก 50 กว่าจังหวัดทั่วประเทศ

นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.)  กล่าวว่า การสนับสนุนให้ผู้พิการได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลนั้น ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้มีการดำเนินการมาอยู่แล้ว เพียงแต่ในอดีตการจะจัดสรรอุปกรณ์ให้คนพิการต่าง ๆ กว่าจะนำไปสู่การปฏิบัติจริง อุปกรณ์ที่ได้มาอาจจะตกรุ่น ไม่ทันสมัย อีกทั้งขั้นตอนการดำเนินการก็อาจจะไม่สะดวกติดข้อจำกัดทางกฎระเบียบและกฎหมายต่าง ๆ

ดังนั้น ทางกระทรวงฯ จึงได้มีมอบหมายให้ทาง สดช. ที่มีคณะทำงานจากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ ศึกษาบริบทจากต่างประเทศว่า มีกระบวนการอย่างไร ให้กลุ่มผู้พิการทุกคนได้เข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้เท่าเทียมกับคนปกติ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุง (ร่าง) แนวทางและรูปแบบการให้บริการเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับคนพิการ

การประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ เป็นการจำลองการให้บริการใน 2 รูปแบบ จาก 4 รูปแบบ ที่คนพิการมองว่าเป็นแนวทางที่จะช่วยให้พวกเขาเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้ นั่นคือ การสนับสนุนคูปอง และการสนับสนุนเงินช่วยเหลือ ซึ่งทั้ง 2 แนวทางนี้ หลังจากตัวแทนผู้พิการทั้ง 150 กว่าคนได้ทดลองใช้แล้ว ทีมที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์จะสรุปผลเพื่อจัดทำร่างดังกล่าว ซึ่งเป็นร่างที่จัดทำขึ้นโดยได้รับความคิดเห็นและประชาพิจารณ์จากผู้พิการในทุกกระบวนการ คาดว่าร่างดังกล่าวจะแล้วเสร็จเร็ว ๆ นี้ ก่อนจะนำเสนอต่อรัฐบาลชุดถัดไป พี่น้องคนพิการจึงเชื่อมั่นได้ว่า ร่างดังกล่าวจะช่วยให้คนพิการได้เข้าถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเท่าเทียมแน่นอน” นายภุชพงค์ กล่าว

ด้าน ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) ในฐานะหัวหน้าที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า จากการประชุมครั้งแรกที่คนพิการได้เลือกการสนับสนุนคูปอง และการสนับสนุนเงินช่วยเหลือ เพื่อให้พวกเขาได้เข้าถึงการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งการจำลองในครั้งนี้ ทำให้ได้เห็นถึงรูปแบบการปฏิบัติที่สามารถทำได้จริง รวมถึงมุมมอง ปัญหา และอุปสรรคของผู้พิการในการใช้คูปอง และเงินสนับสนุน ว่าควรจะต้องดำเนินการอย่างไร

ในการจำลองการใช้คูปอง และการสนับสนุนเงินช่วยเหลือ พบว่า คนพิการได้มีข้อเสนอ และคำถามมากมาย เช่น การประชาสัมพันธ์ควรมีการดำเนินการให้ทั่วถึง หรือ การเขียนรายละเอียดว่ารูปแบบไหนสามารถใช้คูปองได้ และสามารถใช้คูปอง เงินช่วยเหลือซื้ออุปกรณ์ หรือ เครื่องมือ หรือ แพลตฟอร์มอะไรได้บ้าง ตอนนี้ผู้พิการส่วนหนึ่งอยากได้คูปองใช้สำหรับกลุ่ม หรือ ชมรมร่วมด้วย ตามหลักการให้ความช่วยเหลือทั้งในเรื่องคูปอง หรือการสนับสนุนเงินช่วยเหลือ จะเป็นไปในรูปแบบอุปกรณ์ส่วนบุคคล เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงการใช้เทคโนโลยีอย่างเท่าเทียม อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอทั้งหมดของคนพิการ จะนำไปสู่การสรุปเพื่อกำหนดใน (ร่าง) แนวทางและรูปแบบการให้บริการเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับคนพิการ

“ทุก ๆ ข้อสอบถาม ความคิดเห็นจากคนพิการ จะนำไปสู่การจัดทำ (ร่าง) แนวทางและรูปแบบการให้บริการเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับคนพิการ เพื่อให้ได้ข้อดี ข้อเสีย ที่ชัดเจนสำหรับคนพิการ ปัญหา อุปสรรค และแนวทางที่สามารถกระทำได้ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1-2 เดือนนี้ ก่อนจะเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ดังนั้น อยากให้คนพิการเชื่อมั่นว่า ร่างดังกล่าวจะช่วยให้คนพิการทุกกลุ่ม อาทิ กลุ่มคนพิการทางสายตา การได้ยิน การเคลื่อนไหว และสติปัญญา สามารถเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างทั่วถึง และเท่าเทียม” ดร.ชัยพร กล่าว

ขณะที่ นางต๋อย ไชยทอง เลขาชมรมการดำรงชีวิตอิสระคนพิการศรีสะเกษ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ตนและสามีเป็นผู้พิการ และได้เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ เพราะต้องการได้รับการสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เพื่อนำไปใช้ในชมรม ซึ่งปัจจุบันชมรมมีสมาชิกกว่า 200 คน แต่มีคอมพิวเตอร์เพียง 2 เครื่อง และเป็นคอมพิวเตอร์มือสอง เมื่อมีการจัดทำโครงการดังกล่าว และเปิดโอกาสให้ผู้พิการได้ใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์สมัยใหม่ ในการเข้าถึงแหล่งความรู้ หรือ การหางานจะช่วยเติมเต็มศักยภาพของผู้พิการมากขึ้น

“เบื้องต้นในการทดลองใช้ ต้องยอมรับว่า เรามีข้อจำกัดเรื่องการใช้คอมพิวเตอร์ เพราะไม่ได้ใช้บ่อย ยกเว้นในการหาองค์ความรู้ หรือ ใช้ทำกิจกรรมต่าง ๆ กันผู้พิการ อีกทั้งอุปกรณ์มือถือของเราก็เข้าระบบได้ค่อนข้างยาก โดยส่วนตัว เชื่อว่า ระบบการทดลองปัญหาหรืออุปสรรคในวันนี้ จะช่วยสะท้อนให้ทางทีมที่ปรึกษา คณะทำงานได้นำไปจัดทำ (ร่าง) แนวทางและรูปแบบการให้บริการเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับคนพิการ ที่เกิดจากความต้องการของผู้พิการอย่างแท้จริง” นางต๋อย กล่าว

 

RANDOM

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!