ทำความรู้จัก…ไซยาไนด์ (Cyanide) สารเคมีอันตรายถึงชีวิต อาการ และวิธีรับมือเบื้องต้น

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

Cyanide หรือ ไซยาไนด์ คือ สารเคมีอันตรายที่ออกฤทธิ์ได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเข้าไปยับยั้งการทำงานของเซลล์จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ไซยาไนด์เป็นสารเคมีที่มีพันธะคาร์บอนไนโตรเจน (CN) มักนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตกระดาษ สิ่งทอ และพลาสติก สามารถปนเปื้อนได้ทั้งในอากาศ ดิน น้ำ และ อาหาร Cyanide สามารถเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยพบในพืชบางชนิด อย่าง อัลมอนด์ แอปเปิ้ล และยังเกิดได้จากกระบวนการเผาผลาญภายในร่างกายมนุษย์ อย่างไรก็ตาม Cyanide ปริมาณเพียงเล็กน้อยที่พบในพืช และกระบวนการเผาผลาญนั้น ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต

Cyanide สารเคมีอันตรายชนิดนี้ มีรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งในรูปแบบของแข็ง ของเหลว และแก๊ส โดยแต่ละชนิดมีแหล่งที่มา และคุณสมบัติที่แตกต่างกันไป ดังนี้

Sodium cyanide (NaCN) เป็นของแข็งสีขาว อาจอยู่ในรูปแบบผลึก แท่ง หรือ ผง พบได้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ใช้ในการเคลือบเงา หรือ เคลือบสีเหล็ก และเป็นส่วนประกอบในยาฆ่าแมลง สามารถเข้าสู่ร่างกายจากการสัมผัสบริเวณปากแผล การสูดดม หากรับประทานอาจเป็นพิษถึงตายได้
Potassium cyanide (KCN) มีลักษณะเป็นก้อนผลึก หรือ ผงสีขาว เมื่อเป็นของเหลวจะใส ไม่มีสี กลิ่นคล้ายแอลมอนด์ มักนำมาใช้ในการสกัดแร่ อย่างทองหรือเงิน และยังพบได้ในยาฆ่าแมลง เมื่อ Potassium cyanide เจอกับความร้อนจะทำให้เกิดควันพิษ หากได้รับเข้าสู่ร่างกายอาจรบกวนการทำงานของอวัยวะภายในจนเป็นอันตรายถึงชีวิต
Hydrogen cyanide (HCN) อาจมาในรูปของของเหลว หรือ แก๊สที่ไม่มีสี พบในควันจากท่อไอเสีย ควันบุหรี่ และควันจากโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อสูดดมอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาทส่วนกลาง รวมทั้งยังอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองตามผิวหนัง และดวงตา
Cyanogen chloride (CNCl) มีลักษณะเป็นของเหลว หรือ แก๊สที่ไม่มีสี มีกลิ่นฉุน และเป็นพิษอย่างรุนแรงเมื่อเผาไหม้ อาจทำให้ระคายเคืองเมื่อสูดดม

อันตรายจาก Cyanide
Cyanide สามารเข้าสู่ร่างกายได้หลายวิธี ในเบื้องต้นอาจทำให้เกิดอาการ เช่น ระคายเคืองบริเวณที่สัมผัสอย่างผิวหนัง หรือ ดวงตา ร่างกายอ่อนแรง เวียนศีรษะ คลื่นไส้ หายใจติดขัด หมดสติ และหัวใจหยุดเต้น เป็นต้น โดยความรุนแรงของอาการนั้นอาจขึ้นอยู่กับชนิดของ Cyanide ปริมาณ และ ระยะเวลาในการได้รับ

ผลกระทบจากการได้รับ Cyanide แบ่งได้ 2 ประเภท ดังนี้

1. ภาวะเป็นพิษจาก Cyanide แบบเฉียบพลัน เป็นอาการที่พบได้ยาก เกิดขึ้นในทันที อาจทำให้เกิดอาการ เช่น หายใจติดขัด เลือดไหลเวียนผิดปกติ ภาวะหัวใจหยุดเต้น สมองบวม ชัก และหมดสติ เป็นต้น

2. ภาวะเป็นพิษจาก Cyanide แบบเรื้อรัง เกิดจากการได้รับ Cyanide ปริมาณเล็กน้อยต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ในเบื้องต้นอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ง่วงซึม คลื่นไส้ อาเจียน เกิดผื่นแดง และอาจมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นตามมา เช่น รูม่านตาขยาย ตัวเย็น อ่อนแรง หายใจช้า เป็นต้น นอกจากนี้ หากไม่ได้รับการรักษาเป็นเวลานาน อาจทำให้หัวใจเต้นช้า หรือ เต้นผิดปกติ ผิวหนังบริเวณใบหน้าและแขนขากลายเป็นสีม่วง โคม่า และเสียชีวิตในที่สุด

หากสัมผัสกับ Cyanide ควรรับมืออย่างไร 
Cyanide เป็นสารเคมีอันตราย หากสัมผัสกับสารชนิดนี้ ควรรีบลดปริมาณสารดังกล่าวให้ได้มากที่สุด ซึ่งวิธีการรับมือกับ Cyanide ทำได้ ดังนี้

การสัมผัสทางผิวหนัง หากร่างกายสัมผัสกับ Cyanide ให้ถอดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนออก ด้วยการใช้กรรไกรตัดเสื้อผ้าออกเป็นชิ้น ๆ และนำออกจากลำตัว วิธีนี้จะช่วยให้เสื้อผ้าที่ปนเปื้อน Cyanide ไม่ไปสัมผัสกับผิวหนังส่วนอื่น เช่น ศีรษะ และไม่ควรให้ผู้อื่นสัมผัสร่างกาย หรือ เสื้อผ้าโดยตรง เพราะอาจได้รับพิษจาก Cyanide ไปด้วย จากนั้นจึงทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำ และสบู่ เพื่อลดปริมาณสารพิษให้ได้มากที่สุด ก่อนรีบนำส่งโรงพยาบาล

การสูดดมและรับประทาน หากสูดดมอากาศที่มี Cyanide ปนเปื้อน ควรออกจากพื้นที่บริเวณนั้น หากไม่สามารถออกจากสถานที่นั้นได้ ควรก้มต่ำลงบนพื้น ในกรณีที่ผู้ป่วยหายใจลำบาก หรือ หยุดหายใจ ต้องทำ CPR เพื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้นและรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่ห้ามใช้วิธีเป่าปาก หรือ วิธีผายปอด เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับพิษ

การสัมผัสทางดวงตา ควรถอดแว่นตา หรือ คอนแทคเลนส์ ออก จากนั้นให้ใช้น้ำสะอาดล้างตาต่อเนื่องกันอย่างน้อย 10 นาที และไปโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจรักษา

วิธีหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับ Cyanide
การหลีกเลี่ยงและลดโอกาสในการสัมผัสกับ Cyanide ทำได้ ดังนี้

– งดสูบบุหรี่
– เก็บภาชนะที่บรรจุสารเคมีภายในบ้านให้มิดชิด และเหมาะสม
– ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสารเคมี ควรใช้ภาชนะรองรับสารเคมีที่มีขนาดเล็กที่สุด ซึ่งอาจช่วยให้ได้รับสารพิษน้อยลง หากเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงลดโอกาสการสัมผัสและการสูดดมลงด้วย
– ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสารเคมี ไม่ควรนำเสื้อผ้า หรือ อุปกรณ์ที่อาจปนเปื้อน Cyanide ออกนอกสถานที่ทำงาน หรือ นำกลับบ้าน
– ติดตั้งเครื่องดักจับควัน เนื่องจาก Cyanide อาจมาในรูปแบบของควันได้
– สวมอุปกรณ์ป้องกันทุกครั้ง เมื่อต้องทำงานกับสารเคมี หรือ ต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของ Cyanide
– ผู้ที่มีความเสี่ยงได้รับสารพิษสูง เช่น เกษตรกร ช่างเหล็ก ช่างทอง พนักงานที่อยู่ในกระบวนการการผลิตกระดาษ สิ่งทอ ยาง และ พลาสติก ผู้ที่ทำงานกำจัดแมลง เป็นต้น ควรไปพบแพทย์ และเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ

อ้างอิงจาก https://bit.ly/40USN73

RANDOM

NEWS

คูโบต้า ร่วมกับ กรมส่งเสริมการเกษตร เชิญชวนเกษตรกรเข้าร่วมแข่งขันปลูกข้าวประเภททีม ในโครงการ “คูโบต้า กล้า ท้า ปลูก ปี 2 นารักษ์โลก” ชิงถ้วยพระราชทาน กรมสมเด็จพระเทพฯ และเงินรางวัลรวม 1 ล้านบาท หมดเขตสมัครเข้าร่วมโครงการ 31 ม.ค. 68

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!