วิศวะ จุฬาฯ จับมือ บริษัท น้ำตาลมิตรผล และบริษัทในเครือ สร้างคนดิจิทัลสมรรถนะสูง ป้อนอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมลงนามความร่วมมือกับ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด และ บริษัทในเครือ เพื่อผลิตวิศวกรคอมพิวเตอร์ในหลักสูตรใหม่ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล ที่สามารถผลิตบัณฑิตจำนวนมากถึง 300 คนต่อรุ่น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยี รวมถึงอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ โดยการทำหลักสูตรแบบ Co-Creation ที่บริษัทเอกชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาหลักสูตรอย่างใกล้ชิด ทั้งในเรื่องของการฝึกงานในทุกชั้นปี การสอนและการอบรมโดยบริษัท และการร่วมพัฒนาโครงงาน เพื่อให้นิสิตได้ฝึกประสบการณ์จากปัญหาจริงในภาคอุตสาหกรรม และได้รับคำแนะนำจากภาคอุตสาหกรรมโดยตรง

ในการลงนามครั้งนี้ ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ พร้อมด้วย ศ.ดร.ธวัชชัย ชรินพาณิชกุล รองคณบดี (วิชาการ) ผศ.ดร.อรรถวิทย์ สุดแสง หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ โดย ศ.ดร.สุพจน์ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล จะเป็นรากฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน สถานประกอบการต้องการกำลังคนด้านดิจิทัลจำนวนมาก ที่มีความรู้หลากหลายและสามารถผสมผสานทักษะการทำงานเข้ากับเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และก้าวทันเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวจะสามารถผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงตามความต้องการของประเทศจำนวนมากได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้าน ดร. ศรายุธ แสงจันทร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานการเงินและบริหาร บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด และ คุณอธิคม กาญจนวิภู ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กลุ่มงาน Digital & Technology Transformation กล่าวว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ เนื่องจากในปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมยังขาดแคลนบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัลจำนวนมาก เชื่อว่าหลักสูตรจะสามารถผลิตบัณฑิตคุณภาพสูงจำนวนมาก และปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปได้อย่างรวดเร็ว โดยบัณฑิตเหล่านี้จะเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญต่อองค์กรภาคเอกชนต่อไป

ผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรนี้ จะมีความเชี่ยวชาญในการออกแบบ วิเคราะห์ และสร้างโปรแกรมประยุกต์ของระบบซอฟต์แวร์ การวิเคราะห์ข้อมูล ระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายกลุ่มเมฆ รวมถึงระบบปัญญาประดิษฐ์ และสามารถประยุกต์หลักการทางวิศวกรรมเพื่อการแก้ปัญหาในสาขาอาชีพอื่นด้วยคอมพิวเตอร์ได้เป็นอย่างดี

สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ https://www.cp.eng.chula.ac.th/cedt และ https://www.facebook.com/cedtengchula

RANDOM

NEWS

สสส. ร่วมกับ สคล. เชิญชวนโรงเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “มารู้จักเจ้าชายภูมิพลกันเถอะ” ดาวน์โหลดรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ ‘โรงเรียนคำพ่อสอน.com’ พร้อมรับเกียรติบัตรจากทางโครงการฯ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกวดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “ASEAN-IPR Cybersecurity Youth Essay Competition” ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-IPR Regional Conference on Cybersecurity และมีโอกาสนำเสนอเรียงความในที่ประชุมดังกล่าว สมัครด่วน หมดเขต 22 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!