กระทรวงพาณิชย์ ปั้นผู้ประกอบการหน้าใหม่ จัดทัพหลักสูตรสุดเข้มข้น ‘ปั้น Gen Z สู่การเป็นซีอีโอ’ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ อบรมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดย สถาบัน NEA (สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่) เดินหน้าสานฝันคนรุ่นใหม่ ภายใต้โครงการ From Gen Z to be CEO ประจำปี 2566 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยจัดหลักสูตรอบรมสุดเข้มข้น รวม 6 หลักสูตร ถ่ายทอดผ่านวิทยากรมากความสามารถและเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ เพื่อร่วมส่งต่อประสบการณ์ สร้างแรงบันดาลใจ เสริมความรู้ให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ให้พร้อมก้าวสู่การเป็น CEO ที่สามารถต่อยอดสู่การค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ

นางอารดา เฟื่องทอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า หลักสูตรของโครงการ From Gen Z to be CEO ปีนี้ มีทั้งหมด 6 หลักสูตร โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การปูเส้นทางให้เด็กรุ่นใหม่ก้าวไปสู่การเป็นผู้ประกอบการในประเทศ และต่อยอดสู่การทำการค้าระหว่างประเทศ ทั้งนี้ หลักสูตรต่าง ๆ ได้ผ่านกระบวนการคิดมาอย่างถี่ถ้วนจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญโดยตรง และในทุกปีเราจะนำคำแนะนำจากผู้เรียนในรุ่นก่อน ๆ มาพิจารณา และปรับปรุงกระบวนการและเนื้อหาให้เหมาะสมมากที่สุด รวมถึงการคัดเลือกวิทยากรอย่างพิถีพิถัน เน้นว่าเป็นผู้ประกอบการตัวจริง มีประสบการณ์จริง เคยผ่านอุปสรรคต่าง ๆ และประสบความสำเร็จมาแล้ว มาถ่ายทอดแนวคิดและวิธีการให้กับผู้เรียน ซึ่งก่อนการสอนวิทยากรทุกท่านจะต้อง workshop ร่วมกับกรม เพื่อสร้างความเข้าใจและทราบเป้าหมายที่แท้จริงของโครงการ พร้อมทั้งเข้าใจบริบทของผู้เรียนในพื้นที่ที่แตกต่างกัน เพื่อนำไปสู่การยกตัวอย่าง หรือ case study ที่ใกล้ตัว ให้ผู้เรียนได้มองเห็นภาพ

สำหรับหลักสูตรแรก คือ “ประสบการณ์จาก CEOs สู่แรงบันดาลใจ” เราให้ความสำคัญกับหลักสูตรนี้มาก เพราะเชื่อว่าการสร้างแรงบันดาลใจ ถ้าเราจุดติด จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะพาไปถึงจุดหมาย ฉะนั้นวิทยากรสำหรับหลักสูตรนี้ จึงต้องเฟ้นหาผู้ที่เหมาะสม เราจะดูก่อนว่าผู้รับสารในแต่ละครั้งคือใคร เช่น ในพื้นที่ภาคเหนือหรือภาคใต้ มีอะไรเป็นเทรนด์ เป็นที่สนใจของคนในพื้นที่นั้น นำสิ่งใกล้ตัวมายกตัวอย่าง ให้ผู้ฟังรู้สึกว่าเข้าถึงได้ เป็นคนในกระแส และจับต้องได้ วิทยากรในหลักสูตรนี้จึงมีความหลากหลายมากที่สุด ที่สำคัญต้องเป็นคนที่มีทั้งองค์ความรู้และประสบการณ์จริงที่จะนำมาถ่ายทอดเรื่องราวและประสบการณ์การลองผิดลองถูก ปัญหา อุปสรรค และจุดเปลี่ยนที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ทั้งแบรนด์ระดับประเทศ อย่าง คุณนาฑีรัตน์ บุญรัตน์ บริษัท Food Passion ผู้บริหารร้านอาหารบาร์บีคิวพลาซ่า, คุณเฟิร์น นัทธมน พิศาลกิจวนิช ผู้บริหารสุกี้ตี๋น้อย ผศ.ดร.คณน ไตรจันทร์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ชาพะยอม, คุณวิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ WISHULADA, คุณพีท-คุณพอท มิตรดนัย สถาวรมณี ผู้ก่อตั้ง CORO Brothers Co., Ltd., และ Plante เป็นต้น

ต่อเนื่องที่ หลักสูตรที่ 2 “ขั้นตอนการเริ่มต้นธุรกิจ : Road to Entrepreneurs” เป็นการให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดตั้งธุรกิจในรูปแบบบริษัท เพื่อให้รู้จุดเริ่มต้นก่อนที่จะเป็นผู้ประกอบการต้องทำอะไรบ้าง ตั้งแต่การจดทะเบียนบริษัท การบัญชีและการเงินเบื้องต้นสำหรับธุรกิจ วิธีทำการค้าภายในประเทศ แล้วต่อเนื่องไปยังหลักสูตรที่ 3 “ความรู้เบื้องต้นเรื่อง Logistics และ Supply Chain” โดยให้ผู้เรียนได้เข้าใจว่า เมื่อเราทำการส่งออก เราต้องมองหาช่องทางการส่งออก มีช่องทางไหนทั้งขนส่งทางบก ทางเรือ ทางอากาศ ขั้นตอนการส่งออกสินค้า การตั้งราคาและบริหารต้นทุนเพื่อการส่งออก รวมไปถึงปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออก ปัญหาและอุปสรรคของการส่งออกผ่านกรณีศึกษา โดยมีวิทยากร คือ คุณปณต บุณยะโหตระ อดีตผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของไทยในตลาดสำคัญ ๆ มามากกว่า 30 ปี

หลักสูตรที่ 4 “การวิเคราะห์การค้าระหว่างประเทศ” ได้วิทยากรอย่าง ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธาน และเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญการตลาดจีน ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองประธาน และเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน อดีตอัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) ณ กรุงปักกิ่ง และอดีตกงสุล (ฝ่ายการพาณิชย์) ณ นครเซี่ยงไฮ้ เป็นผู้สอนหลักสูตรนี้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนมองเห็นภาพองค์รวมของการส่งออก เทรนด์ของโลกในปัจจุบัน รวมไปถึงเรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศที่มีผลต่อการส่งออก เพื่อให้ผู้เรียนได้ตระหนักว่า ไม่ใช่แค่เราอยากขายอะไรก็ส่งออกได้ แต่ต้องรู้ว่าสินค้าเราเหมาะกับตลาดไหน และเข้าใจสถานการณ์และปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ด้วยว่าหากส่งสินค้าไปขายประเทศนี้ สินค้าอะไรจะได้รับความนิยม เป็นต้น

ในหลักสูตรที่ 5 “การตลาด E-commerce และแพลตฟอร์มออนไลน์” บรรยายโดยวิทยากร 3 ท่าน ได้แก่ คุณนพดา อธิกากัมพู เจ้าของธุรกิจกระเทียมดำ ภายใต้แบรนด์ B-Garlic มีประสบการณ์ด้านการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มออนไลน์ในการขยายตลาดในประเทศและต่างประเทศ และได้รับรางวัล PM Export Award 2021 คนที่ 2 คุณธเธียร อนุจรพันธ์ Head of Strategic Partnership & Business of Amazon Global Selling Thailand หนึ่งในหน่วยธุรกิจของ Amazon ซึ่งจัดตั้งขึ้น เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการทั่วโลกขยายฐานการค้าสู่ตลาดต่างประเทศ ผ่านการสร้างแบรนด์ เพื่อยกระดับสู่สากล และการเข้าถึงลูกค้าที่ซื้อสินค้าบนมาร์เก็ตเพลสของ Amazon ทั่วโลก และ คุณเจริญ หิรัญตระกูล Partnership Manager, Payoneer Inc. ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดหาโซลูชั่นสำหรับธุรกิจ B2B และอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซผ่านแพลตฟอร์มการชำระเงินระดับโลกที่เชื่อถือได้ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่นำประสบการณ์ตรงของผู้ส่งออกตัวจริงมาถ่ายทอดเป็น case study ให้ผู้เรียนได้เห็นภาพตั้งแต่เรื่องการส่งออก จนถึงการแนะนำแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่สามารถทำให้การส่งออกง่าย และสะดวกมากยิ่งขึ้น

หลักสูตรที่ 6 “แนวคิดการทำธุรกิจสู่สากล : Internationalization” เป็นหลักสูตรใหม่ของปีนี้ จากคำแนะนำของ คุณปณต บุณยะโหตระ อดีตผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ คุณอดุลย์ โชตินิสากรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท ซังโกะ ไดคาซติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และอดีตทูตพาณิชย์ในหลากหลายประเทศ ทั้งสองท่านเป็นที่ปรึกษาของโครงการ ซึ่งท่านได้มองเห็นความสำคัญของคำว่า Internationalization เพื่อเชื่อมโยงธุรกิจเข้ากับโลก มองความเป็นสากล มองให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก การตระหนักถึงพลังของ Soft Power ในการขยายอิทธิพลและส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน เรียนรู้ผ่านกรณีศึกษาต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่โอกาสการเปิดธุรกิจในต่างประเทศ จึงถือได้ว่าเป็นหลักสูตรที่จะจุดประกายความคิดให้ผู้เรียน ให้สามารถต่อยอดธุรกิจของตนเองในอนาคตต่อไป

และนี่คือทั้ง 6 หลักสูตร ของ โครงการในปีนี้ ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ อยากสนับสนุนและปูเส้นทางให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่และบุคคลทั่วไป เข้ามาร่วมโครงการ โดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐาน เพียงแค่มีความตั้งใจอยากทำธุรกิจเป็นของตนเอง มารับฟังแนวคิดและวิธีการเพื่อให้เกิดไอเดียนำไปประยุกต์กับสิ่งที่ตัวเองมีอยู่แล้ว ให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น สำหรับคนที่ยังไม่มีสินค้า ก็สามารถเรียนได้ เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจ และนำความรู้ที่ได้มาเริ่มต้นธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งหากเรียนจบจากโครงการนี้ไป สถาบัน NEA ก็ยังมีโครงการเสริมความรู้ด้านอื่น ๆ รองรับ พร้อมให้คำแนะนำกับผู้ที่สนใจอีกด้วย นางอารดา เฟื่องทอง กล่าวทิ้งท้าย

โดยหลังการอบรมจะมีการสอบประเมินผล เพื่อคัดเลือกผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ได้คะแนนสูงสุด หรือ ผ่านเกณฑ์ตามที่กำหนด มาต่อยอดพัฒนาศักยภาพ และปั้นให้เป็นผู้ประกอบการที่มีความพร้อม สำหรับผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 500 ลำดับแรก จะได้รับสิทธิ์เข้าร่วมอบรมโครงการต่าง ๆ ที่จัดขึ้นโดย สถาบัน NEA และ 100 ลำดับแรก จะได้รับสิทธิ์ในการพิจารณาเข้าร่วมฝึกงานกับองค์กรระดับประเทศ อาทิ True/ Huawei/ Bitkub/ EXIM Bank/ P&G/ SPVi/ DHL/ SVOA/ BOL รวมถึง สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ที่ตั้งอยู่ในทุกภูมิภาคทั่วโลก รวมถึงได้รับสิทธิ์เข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ที่จัดโดย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และพันธมิตรของโครงการ และที่สำคัญ ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดของประเทศ จะได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้เป็น Gen Z Ambassadors พร้อมรับสิทธิพิเศษและรางวัลมากมายจากพันธมิตร โดยทำหน้าที่ส่งต่อแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และประชาสัมพันธ์โครงการในปีต่อ ๆ ไป

ผู้สนใจเข้าร่วมอบรมสมัครได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย โดยลงทะเบียนได้ตั้งแต่บัดนี้ – มิถุนายน 2566 ได้ที่ https://fromgenztobeceo.com/ หรือติดตามกิจกรรมได้ที่ https://www.facebook.com/nea.ditp/

RANDOM

NEWS

สสส. ร่วมกับ สคล. เชิญชวนโรงเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “มารู้จักเจ้าชายภูมิพลกันเถอะ” ดาวน์โหลดรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ ‘โรงเรียนคำพ่อสอน.com’ พร้อมรับเกียรติบัตรจากทางโครงการฯ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกวดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “ASEAN-IPR Cybersecurity Youth Essay Competition” ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-IPR Regional Conference on Cybersecurity และมีโอกาสนำเสนอเรียงความในที่ประชุมดังกล่าว สมัครด่วน หมดเขต 22 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!