นักวิจัยจุฬาฯ พบสารเคมีในกลิ่นเหงื่อ บ่งบอก “เครียดจัด – ซึมเศร้า” ได้ นำร่องคัดกรองสุขภาพจิตนักผจญเพลิง สำเร็จเป็นครั้งแรก

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter
ทีมนักวิจัยคณะแพทยศาสตร์ และ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ พบสารเคมีในกลิ่นเหงื่อบ่งบอกภาวะความเครียดสูง และซึมเศร้าได้ นำร่องศึกษานักผจญเพลิงในกรุงเทพฯ ผลทดสอบแม่นยำถึง 90% พร้อมเดินหน้าตรวจคัดกรองสุขภาพจิตในกลุ่มอาชีพเครียดจัด และเสี่ยงสูงอื่น ๆ หวังลดปัญหาสุขภาพจิต และความรุนแรงในสังคม 
.
 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชฎิล กุลสิงห์
.
กลิ่นเหงื่อบอกอะไรได้มากกว่าที่คิด 
ในช่วงการระบาดโรคโควิด-19 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชฎิล กุลสิงห์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ และ ทีมวิจัยจากทั้งภายในจุฬาฯ และภาคเอกชน ประสบความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 จากกลิ่นสารเคมีในเหงื่อ จนถึงขั้นลงพื้นที่ไปตรวจคัดกรองให้ชุมชน ตลาด และ โรงเรียนบางแห่งในกรุงเทพมหานคร มาในครั้งนี้ อาจารย์ชฎิล ต่อยอดงานวิจัยและร่วมมือกับ แพทย์หญิงภัทราวลัย สิรินารา ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ศึกษาหา “สารเคมีบ่งชี้ถึงความเครียดจากกลิ่นเหงื่อ” โดยนำร่องวิจัยกับนักผจญเพลิง 1,084 คน จาก สถานีดับเพลิง 47 แห่ง ทั่วกรุงเทพมหานคร และเป็นครั้งแรกที่พบสารเคมีในกลิ่นเหงื่อที่สามารถบ่งชี้สภาวะความเครียดของกลุ่มประชากรในกรุงเทพได้
.
ความสำคัญของการพบสารเคมีความเครียดจากกลิ่นเหงื่อ
.
ที่ผ่านมา เราคงเคยได้ยินข่าวผู้ก่อเหตุความรุนแรง “คลั่งกราดยิงผู้คน” โดยไม่มีเหตุขัดแย้งรุนแรงมาก่อน หลายรายเป็นบุคคลที่มีอาชีพที่ต้องดูแลความปลอดภัยให้กับคนในสังคม ในรายงานข่าวยังเผยด้วยว่า มูลเหตุของการก่อเหตุความรุนแรงมาจากภาวะความเครียดจากการทำงาน และปัญหาสุขภาพจิตที่สะสมมายาวนาน 
.
เรื่องนี้ดูจะสอดคล้องกับสถิติล่าสุด จาก กรมสุขภาพจิต ที่ระบุว่า คนไทยราว 1.5 ล้านคน มีปัญหาสุขภาพจิต และแนวโน้มดูจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดย 49.36% หรือ ครึ่งหนึ่งในจำนวนดังกล่าว มีภาวะเครียด และซึมเศร้า อันเกิดมาจากการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้มีอาชีพเสี่ยงสูง ต้องรับผิดชอบความปลอดภัยของสาธารณะ หรือ ต้องตัดสินใจภายใต้แรงกดดัน และความเร่งด่วน เช่น ตำรวจ ทหาร นักผจญเพลิง ฯลฯ
.
 แพทย์หญิงภัทราวลัย สิรินารา
.
“โดยปกติผู้ที่มีอาชีพที่ต้องรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของสาธารณะ จะได้รับการตรวจสุขภาพกายและจิตประจำปีอยู่แล้ว แต่การตรวจสุขภาพจิตปีละครั้งนั้น ไม่น่าจะเพียงพอ เพราะบางรายอาจมีอาการเครียด หรือ ซึมเศร้าระหว่างปี และการที่ทุกคนจะเข้าถึงและพบจิตแพทย์ก็ยาก เนื่องจากข้อจำกัดด้านจำนวนบุคลากรด้านจิตเวชในประเทศไทย นอกจากนี้ แนวทางการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยด้วยการสัมภาษณ์ยังขึ้นกับดุลยพินิจของจิตแพทย์ และ นักจิตวิทยา ทำให้ผลการวินิจฉัยอาจแตกต่างกัน และไม่อาจสรุปได้อย่างแม่นยำ” แพทย์หญิงภัทราวลัย ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงข้อจำกัดในการดูแลสุขภาพจิตในกลุ่มผู้มีอาชีพเสี่ยงสูง
.
“เราจึงพยายามหาวิธี หรือ นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์และมีประสิทธิภาพสูง ราคาไม่แพง เพื่อใช้ในการคัดกรองสภาวะทางจิตก่อนพบจิตแพทย์ ซึ่งเราพบว่า วิธีการตรวจหาสารเคมีจากกลิ่นเหงื่อเป็นวิธีที่น่าสนใจศึกษา เพราะเป็นวิธีที่ไม่จำเป็นต้องเจาะเลือดให้เจ็บตัว และสามารถวัดผลจากสิ่งที่จับต้องได้จริง ๆ และ มีความคลาดเคลื่อนน้อย” 
.
นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการความร่วมมือระหว่าง ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ และ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ในการวิจัยหาสารเคมีความเครียดจากกลิ่นเหงื่อในกลุ่มอาชีพนักผจญเพลิงทั่วกรุงเทพมหานคร ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัย จาก แพทยสภา และได้รับการสนับสนุนเครื่องมือจาก บริษัทซายน์ สเปค จำกัด โดยมี ดร.ณัฐนี ตั้งกิจอนันต์สิน เป็นผู้ทำการทดลองวิเคราะห์สารเคมีในเหงื่อ 
.
อุปกรณ์เก็บตัวอย่างเหงื่อ
.
กลิ่นเหงื่อเผยภาวะเครียด และ ซึมเศร้า
.
ผศ.ดร.ชฎิล กล่าวว่า โครงการวิจัยนี้เป็นครั้งแรกที่มีการตรวจพบกลุ่มสารเคมีความเครียด (แบบระเหยง่าย) ในเหงื่อของคนกลุ่มใหญ่ที่ประกอบอาชีพเดียวกัน และเป็นความเครียดสะสมที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติจากการทำงานและในชีวิตประจำวันจริง ๆ ไม่ได้เป็นความเครียดที่เกิดจากการควบคุม หรือ จำลองสถานการณ์ขึ้น เหมือนการศึกษาอื่น ๆ ที่ผ่านมา
.
“โดยหลักการ ผู้ที่เป็นโรคเดียวกันมักจะมีสารเคมี หรือ กลุ่มสารเคมีที่เหมือนกันอยู่ คล้ายกันกับกรณีนี้ หากตรวจพบว่า ใครที่มีสารเคมีกลุ่มนี้ในปริมาณที่เกินเกณฑ์ หรือ ต่ำกว่าเกณฑ์ ทั้งหมดก็น่าจะระบุได้ว่า คน ๆ นั้นมีความเครียดสูง หรือ อาจเป็นซึมเศร้าได้ โดยความแม่นยำในการระบุผลจากกลุ่มตัวอย่างที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 90%”  
.
วิธีการตรวจคัดกรองภาวะเครียดจัดและซึมเศร้าจากเหงื่อ เป็นวิธีที่สะดวก รวดเร็ว สามารถตรวจได้ครั้งละหลาย ๆ คน และใช้เวลาไม่นาน 
.
ผศ.ดร.ชฎิล อธิบายขั้นตอนการเก็บตัวอย่างเหงื่อ ว่า เราใช้ก้านสำลีที่สะอาดผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว 2 ก้าน เหน็บใต้รักแร้ซ้าย – ขวา ทิ้งไว้ 10-15 นาที แล้วนำก้านสำลีที่มีเหงื่อไปใส่ในขวดปลอดเชื้อที่มีฝาปิด จากนั้น ส่งตัวอย่างมาห้องแล็บ เพื่อตรวจด้วยเครื่องวิเคราะห์กลิ่นสารเคมี โดยฉีดอากาศในขวดเข้าไปในเครื่อง แล้วรอเครื่องวิเคราะห์ผลประมาณ 10-20 นาที ซึ่งผลจะแสดงออกมาในลักษณะบาร์โค้ดของสารเคมีในแต่ละตัวอย่าง
.
เครื่องวิเคราะห์ตัวอย่างกลิ่นเหงื่อ
.
ตรวจจับความเครียดก่อนเกิดปัญหา ส่งต่อกระบวนการบำบัดทันท่วงที 
.
โครงการศึกษาวิจัยกลุ่มนักผจญเพลิง 1,084 คน ในกรุงเทพมหานคร ระหว่างกุมภาพันธ์ 2565 ถึง ธันวาคม 2565 ผลการตรวจพบแนวโน้มสุขภาพจิต ว่า มีปัญหาความเครียด และการนอนหลับจำนวนมาก
.
พญ.ภัทราวลัย กล่าวว่า กลุ่มนักผจญเพลิงที่อยู่ในเกณฑ์มีความเสี่ยงปานกลาง ถึง รุนแรง และจะเข้าสู่กระบวนการยืนยันผล โดยอาจารย์จิตแพทย์อีกครั้ง โดยในโครงการวิจัยนี้ ได้รับเกียรติจาก Professor Dr. Michael Maes, MD, Ph.D. ดร.นายแพทย์ ชาวิท ตันวีระชัยสกุล จาก ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นที่ปรึกษาโครงการ เพื่อตรวจวินิจฉัยยืนยันผลการศึกษารอบสุดท้าย 
 .
“ผู้เข้าร่วมโครงการจะทราบผลตรวจของตัวเอง ซึ่งในรายที่มีความเครียดสูง สามารถพบจิตแพทย์ ของ รพ.จุฬาฯ ได้เลย โดยผลตรวจและข้อมูลการพบแพทย์ทุกอย่างจะถูกเก็บเป็นความลับ ทีมวิจัยจะไม่เปิดเผยข้อมูล หรือ แจ้งผู้บังคับบัญชา เพื่อพิทักษ์จิตใจของคนที่ตรวจว่าอาจจะกระทบกับงาน” พญ.ภัทราวลัย กล่าว
.
นอกจากนี้ ทางทีมวิจัยยังได้สะท้อนผลโดยภาพรวมให้ผู้บริหารของหน่วยงานนั้น ๆ ทราบว่า พนักงานในหน่วยงานมีความเครียดจัดกี่เปอร์เซ็นต์ เพื่อที่หน่วยงานจะได้ออกนโยบาย หรือ หาวิธีดำเนินการเพื่อลดความเครียดของพนักงานต่อไป
.
แจกแบบสอบถาม และอุปกรณ์เก็บเหงื่อ
.
พร้อมต่อยอดคัดกรองสุขภาพจิตกลุ่มอาชีพเครียดจัด 
.
นักผจญเพลิงที่เข้าร่วมวิจัยในโครงการนี้ กล่าวพ้องกันว่า โครงการนี้ดี และเป็นประโยชน์ ทำให้พวกเขาเข้าถึงการตรวจคัดกรองสุขภาพจิต และทราบสภาวะจิตใจของตัวเอง บางคนให้ความเห็นว่า การตรวจสุขภาพจิตแบบที่พวกเขาเคยทำเป็นแบบทดสอบทางจิตวิทยาที่ดูรูปภาพและเขียนตอบตามความเข้าใจ ซึ่งเมื่อพวกเขาทำบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ ก็จะจำได้ว่า ควรต้องตอบอะไร หรือ บางทีพวกเขาก็เข้าไปดูเฉลยในอินเทอร์เน็ต ส่งผลให้ผลทดสอบคลาดเคลื่อน ไม่สะท้อนความจริง ในขณะที่การวัดด้วยสารเคมีได้ผลเที่ยงตรง และแม่นยำกว่า
.
จากความสำเร็จในการวิจัยกับกลุ่มนักผจญเพลิง ทีมวิจัยมีแผนที่จะขยายการตรวจคัดกรองกับกลุ่มพยาบาลทั่วประเทศ เบื้องต้นได้มีการเริ่มเก็บตัวอย่างเหงื่อจาก โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา แล้ว โดยงานวิจัยนี้ ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัย จาก สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
.
ทีมวิจัย
.
“ต่อไปเราจะขยายการตรวจคัดกรองความเครียดไปในกลุ่มอาชีพอื่น ๆ ที่ต้องทำงานภายใต้ความกดดันสูง มีความเสี่ยงต่อปัญหาภาวะสุขภาพจิต เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการตรวจคัดกรองสุขภาพจิตให้รวดเร็ว ซึ่งจะทำให้ผู้ที่มีภาวะเครียดจัด หรือ อาจมีอาการซึมเศร้า ได้รับการดูแลบำบัดทันท่วงที” ผศ.ดร. ชฎิล กล่าวทิ้งท้าย

RANDOM

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!