คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา จับมือ นักวิชาการเพาะเลี้ยงสัตว์ พัฒนาเครื่องให้อาหารสำเร็จรูปแบบอัตโนมัติโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ช่วยแก้ปัญหาด้านแรงงาน ลดต้นทุนเกษตรกร เตรียมต่อยอดสั่งการผ่านแอปพลิเคชันโทรศัพท์มือถือ และประยุกต์ใช้กับการให้อาหารสัตว์ชนิดอื่น
นักศึกษาหลักสูตรเทคโนโลยีการผลิตสัตว์น้ำ ชั้นปีที่ 4 คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) และทีมคณาจารย์คณะเทคโนโลยีการเกษตร ได้แก่ อาจารย์ศรัณย์ รักษาพราหมณ์ ผศ.สบาย ตันไทย รศ.นฤมล อัศวเกศมณี และ ผศ.ณิศา มาชู ร่วมให้คำแนะนำปรึกษา โดยได้ร่วมกับ นายณัฐพล ราชูภิมนต์ นักวิชาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ พัฒนาเครื่องให้อาหารสำเร็จรูปแบบอัตโนมัติโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับเศรษฐกิจฐานรากชุมชนเกษตรพอเพียงอยู่ดี มีสุข ประจำปีงบประมาณ 2566 กิจกรรมเกษตรผสมผสานเพื่อสร้างเสริมรายได้ (เกษตรผสมผสานเกาะแต้ว) ลงพื้นที่เกาะแต้ว หมู่ 6 และ หมู่ 7 ดำเนินการสาธิตและติดตั้งเครื่องให้อาหารสำเร็จรูปแบบอัตโนมัติโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับสมาชิกและผู้ที่สนใจ
อาจารย์ศรัณย์ รักษาพราหมณ์ อาจารย์คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา เปิดเผบว่า เครื่องให้อาหารสำเร็จรูปแบบอัตโนมัติโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่พัฒนาขึ้น มีจุดประสงค์เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้งานในราคาประหยัด โดยใช้เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกที่นับวันยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น และเพื่อแก้ไขปัญหาในด้านแรงงาน ทำให้เกษตรกรสามารถบริหารเวลาเพื่อทำงานอื่น ๆ ในรอบวันได้มากขึ้น นอกจากนั้น ยังเป็นตัวอย่างต้นแบบให้ผู้ที่สนใจนำไปพัฒนาต่อยอดได้ในอนาคต เป็นทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาบางประการในงานด้านการเพาะเลี้ยงปลา เช่น ปัญหาทางด้านการขาดแคลนแรงงานในการเลี้ยงปลา ปัญหาในด้านปริมาณการให้อาหารปลาที่มากหรือน้อยจนเกินไป จนทำให้ปลามีการเจริญเติบโตที่ไม่เท่ากัน อีกทั้งน้ำอาจจะเกิดการเน่าเสียจากการที่ให้อาหารปลาในปริมาณที่มากเกินไป จนปลากินอาหารไม่หมด
ด้าน นายณัฐพล ราชูภิมนต์ นักวิชาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักการทำงานของเครื่องให้อาหารสำเร็จรูปแบบอัตโนมัติโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ จะใช้แหล่งพลังงานจากแผงโซล่าเซลล์ขนาดเล็ก เพื่อแปลงพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าแรงดันไฟฟ้า 12 โวลต์ ขับเคลื่อนมอเตอร์รอบต่ำขนาดเล็ก เพื่อจ่ายอาหารเป็นเวลาตามที่กำหนดผ่านตัวตั้งเวลา ในต้นทุนประมาณ 2,000 บาท ในอนาคตจะพัฒนาต่อยอดให้สามารถสั่งการผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือได้ และประยุกต์ใช้กับการให้อาหารสัตว์ชนิดอื่นต่อไป