สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ประชุมเตรียมความพร้อมให้กับสถานศึกษาจำนวน 42 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการทดลองประเมินนำร่อง ตามกรอบแนวทางการประกันคุณภาพภายนอกสถานศึกษา ภายใต้โครงการ “ส่งเสริมสถานศึกษาและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และส่งเสริมสนับสนุนการประกันคุณภาพการศึกษา”
ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยว่า สมศ.ได้จัดประชุมภายใต้โครงการ “ส่งเสริมสถานศึกษาและประสาน ความร่วมมือกับหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และส่งเสริมสนับสนุนการประกันคุณภาพการศึกษา” เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการทดลองประเมินนำร่องทั้ง 4 ระดับ ได้แก่ สถานศึกษาการศึกษาปฐมวัย (ศูนย์พัฒนาเด็ก) จำนวน 5 แห่ง สถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 18 แห่ง สถานศึกษาด้านการอาชีวศึกษา จำนวน 9 แห่ง ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้เขตและอำเภอและสถานศึกษาขึ้นตรงจำนวน 10 แห่ง รวมทั้งสิ้น 42 แห่ง
การประชุมครั้งนี้ เพื่อชี้แจงให้สถานศึกษา ทั้ง 42 แห่ง ได้ทราบกรอบแนวทางการประกันคุณภาพภายนอกสถานศึกษา การศึกษาปฐมวัย ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และด้านการอาชีวศึกษา ตามที่ คณะกรรมการ สมศ. ได้ประกาศ เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2566 รวมทั้งได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง ก่อนเข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอก ซึ่ง สมศ. ยังคงจุดเน้นโดยให้ความสำคัญกับการประเมินเพื่อพัฒนาการยกระดับคุณภาพ (Quality Improvement) โดยกำหนดรูปแบบและวิธีการตรวจเยี่ยม (Virtual visit / Onsite visit / Hybrid) ที่เหมาะสม จำนวนวันประเมิน (1 – 3 วัน) ระยะเวลาจะแตกต่างกันตามบริบทสถานศึกษาแต่ละประเภท โดยหลังจากที่ สมศ.ได้ทำการประเมินนำร่องแล้ว จะสรุปผลรวบรวมข้อคิดเห็นที่ได้ทั้งหมด และเชิญผู้ประเมินภายนอก สมศ. มาประชุมร่วมกัน เพื่อให้กรอบแนวทางการประกันคุณภาพภายนอกได้รับการพัฒนาจนมีความเหมาะสม เชื่อถือได้ และสามารถนำไปใช้ในการประกันคุณภาพภายนอกสถานศึกษา การศึกษาปฐมวัย ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้านการอาชีวศึกษา และ กศน. ได้ในปีถัดไป
ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าว ได้มีการบรรยายหัวข้อ ดังนี้
1) “แนวคิดและทิศทางการประกันคุณภาพภายนอกสถานศึกษา การศึกษาปฐมวัย ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และด้านการอาชีวศึกษา” โดย ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สมศ.
2) “ตัวชี้วัดการประกันคุณภาพภายนอกสถานศึกษา การศึกษาปฐมวัย ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน” โดย ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สมศ.
3) “ตัวชี้วัดการประกันคุณภาพภายนอกสถานศึกษา การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย” โดย นายสุรพงษ์ จำจด ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพภายนอกการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และ ดร.รุ่งอรุณ ไสยโสภณ อนุกรรมการพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพภายนอกการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
4) “ตัวชี้วัดการประกันคุณภาพภายนอกสถานศึกษา ด้านการอาชีวศึกษา” โดย นายวณิชย์ อ่วมศรี รักษาการประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพด้านการอาชีวศึกษา และ ดร.ชมพูนุช บัวบังศร คณะกรรมการพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพด้านการอาชีวศึกษา