อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เกิดโรคระบาดในรอบหลายปีที่ผ่านมา เกิดความชัดเจนว่าภูมิปัญญาของโลกตะวันออกมีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะการพึ่งพาตัวเองด้วยสมุนไพร การแพทย์แผนตะวันออกจึงได้รับความสนใจและมีงานวิจัยที่พัฒนาเพิ่มขึ้นในเวทีโลก ทั้งการแพทย์แผนจีน การแพทย์อายุรเวทอินเดีย และในประเทศไทย ทั้งการแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน รวมถึงการพึ่งพาตัวเองของชาวบ้านด้วยสมุนไพรได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นเป็นลำดับ
จากข้อมูลของ Euromonitor พบว่า การค้าปลีกผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั่วโลกในปี พ.ศ. 2564 มีมูลค่า 54,960 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท) โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีมูลค่าการค้าปลีกผลิตภัณฑ์สมุนไพรสูงที่สุด เป็นอันดับ 1 มีมูลค่าสูงถึง 31,930 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท)
ตลาดของผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2564 มีมูลค่าสูงถึง 45,640 ล้านบาท นอกจากนั้น ประเทศไทยมีการ “ส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพ และผลิตภัณฑ์สมุนไพร” เป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 12,211 ล้านบาท และกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2569 มูลค่าตลาดสมุนไพรในประเทศไทย จะมีมูลค่ามากถึง 59,500 ล้านบาท
โดยเฉพาะตลาดผลิตภัณฑ์กัญชากัญชงนั้น สมาคมสหอุตสาหกรรมพืชกัญชงและกัญชาเพียงสมาคมเดียว มีผู้ประกอบการรวมตัวกัน 20 แห่ง มีการลงทุนไปแล้วกว่า 10,000 ล้านบาท และยังมีสมาคมที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการอีกหลายแห่งที่เดินหน้าลงทุนเรื่องกัญชากัญชงไปแล้วอีกจำนวนมาก
และเนื่องจากทิศทางตลาดกัญชากัญชง ได้มีการยอมรับการใช้ทางการแพทย์มากขึ้น บทบาทของผู้ที่จะจ่ายยากัญชาในหมู่แพทย์แผนปัจจุบันที่บูรณาการภูมิปัญญาสมุนไพรอยู่ในวงจำกัดเพียงไม่กี่คน โดยการจ่ายยากัญชาทางการแพทย์ในระบบสาธารณสุขที่ผ่านมาในประเทศไทย จึงกลายเป็นบทบาทของการแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน การแพทย์แผนจีน ให้กับประชาชนในประเทศไทยมากที่สุด
อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ด้วยสถานการณ์ที่มีความต้องการแพทย์แผนตะวันออกมากขึ้น วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต จึงได้เปิดรับนักศึกษาใหม่ 3 หลักสูตร ได้แก่
หลักสูตรแรก หลักสูตรปริญญาตรี การแพทย์แผนจีนบัณฑิต เรียนควบ 2 ปริญญาบัตร โดยเรียนที่ มหาวิทยาลัยรังสิต 3.5 ปีการศึกษา และ ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยนานกิง สาธารณรัฐประชาชนจีน อีกประมาณ 2.5 ปีการศึกษา เมื่อจบแล้วได้ปริญญาบัตร 2 ใบ คือ ของมหาวิทยาลัยรังสิต และ มหาวิทยาลัยนานกิง ซึ่ง มหาวิทยาลัยนานกิง เป็นมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนที่มีชื่อเสียงติดอันดับต้น ๆ ของจีน
หลักสูตรที่สอง หลักสูตรปริญญาตรี การแพทย์แผนไทยบัณฑิต 4 ปี เมื่อจบแล้วสามารถสอบใบประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ของ สภาการแพทย์แผนไทย ได้ ความน่าสนใจ คือ ผลการสอบใบประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยของนักศึกษาที่เรียน จาก วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก ของ มหาวิทยาลัยรังสิต ในปี 2565 ปรากฏว่า อัตราการสอบผ่าน ของ สภาการแพทย์แผนไทย อยู่ในระดับสูง กล่าวคือ การนวดไทยสอบผ่าน 100% , ผดุงครรภ์ไทย อัตราการสอบผ่าน 94.17% , เวชกรรมไทย อัตราการสอบผ่าน 86.8%, เภสัชกรรมไทย อัตราการสอบผ่าน 84.62 % ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการสอบผ่านอยู่ในระดับสูง
นอกจากหลักสูตรดังกล่าวจะมีโอกาสได้รับสอบได้รับใบประกอบวิชาชีพในระดับที่สูงแล้ว ยังได้เรียนการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกัญชาศาสตร์ทางการแพทย์ เป็นแหล่งฝึกประสบการณ์วิชาชีพการแพทย์แผนไทย และยังมีครูบาอาจารย์แพทย์แผนไทย ซึ่งเป็นทายาทที่สามารถสืบทอดราชสกุลหมอหลวงคนสุดท้ายที่เหลืออยู่ในประเทศไทย เป็นผู้บริหารในหลักสูตรการแพทย์แผนไทยอีกด้วย
เมื่อจบการศึกษาและสอบใบประกอบวิชาชีพได้แล้ว สามารถเป็นแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลเอกชน และ คลินิกแพทย์แผนไทย หรือ เปิดสถานพยาบาลด้านการแพทย์แผนไทย (คลินิก) ของตนเอง หรือ ทำงานในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (สปา นวดเพื่อสุขภาพ) หรือ เป็นเภสัชกรแผนไทย ประจำร้านขายยา และ โรงงานผลิตยาสมุนไพร หรือ เป็นผู้ประกอบธุรกิจการผลิตตำรับยาแผนไทย/แผนโบราณ และ ผลิตภัณฑ์สุขภาพในระดับอุตสาหกรรม หรือ เป็นนักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร ซึ่งรวมถึง ยาแผนไทย อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และ เครื่องสำอาง
หลักสูตรที่สาม หลักสูตรปริญญาตรี วิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาการแพทย์แผนตะวันออก หลักสูตรนี้ยังคงได้รับสิทธิในการสอบใบประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย (ประเภท ก.) ซึ่งจุดเด่นของหลักสูตรนี้ คือ มุ่งเน้น “นวัตกรรมสมุนไพรสร้างเศรษฐกิจ” โดยศึกษาเทคโนโลยีสมุนไพรสำหรับการสร้างนวัตกรรมสมุนไพร เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจบนพื้นฐานความต้องการของตลาด ทั้งในประเทศและตลาดโลก โดยการบูรณาการองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีสมุนไพร และนำไปพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาสมุนไพรไทยที่มีความหลากหลาย และภูมิปัญญาการแพทย์แผนตะวันออก รวมถึงกัญชาศาสตร์ทางการแพทย์ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล อันจะส่งผลให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่อิงกับจุดแข็งของประเทศไทย
และ หลักสูตรที่สี่ คือ หลักสูตรที่เปิดสำหรับทุกคน ไม่จำกัดอายุ หรือ ระดับการศึกษา คือ การเรียนหลักสูตรแพทย์แผนไทย ประเภท ก. ของมหาวิทยาลัยรังสิต เรียนเฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์ เป็นเวลา 3 ปี แม้จะไม่ได้ปริญญาบัตรใด ๆ แต่ได้สิทธิในการสอบใบประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ซึ่งจะได้เรียนการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ และคลินิกในระดับอุดมศึกษาที่ได้มาตรฐานสูง
เมื่อได้ใบประกอบวิชาชีพแล้ว สามารถเป็นแพทย์แผนไทยได้ เปิดคลินิกการแพทย์แผนไทยให้การรักษาผู้ป่วยได้ เปิดร้านขายยาสมุนไพรได้ ซึ่งก็จะได้เรียนในเรื่องกัญชาด้วยเช่นกัน ปรากฏว่า ผู้ที่เรียนจบหลักสูตร มีอัตราการสอบได้ใบประกอบวิชาชีพสูงกว่าโรงเรียนการแพทย์แผนไทยทั่วไปอีกด้วย
ตัวอย่างเช่น ในปี 2566 มีผู้สอบผ่านใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมแผนไทยภาคทฤษฎี ประเภท ก. (เพื่อเป็นหมอแผนไทย) ทั่วประเทศ สอบผ่านประมาณ 45% แต่ผู้ที่เรียนหลักสูตรนี้รุ่นที่สองของมหาวิทยาลัยรังสิต (รุ่นล่าสุด) มีอัตราการสอบผ่านใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมแผนไทยสูงถึง 73% อันสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพการเรียนการสอนการแพทย์แผนไทยที่ได้มาตรฐานกว่าค่าเฉลี่ย
นอกจากนั้น วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก ยังเปิดการเรียนการสอนระดับปริญญโท วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการแพทย์แผนตะวันออก ระยะเวลาเรียน 2 ปี เรียนเฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์ มีวิชาเลือก 6 แขนง ได้แก่ ด้านการพัฒนาการรักษาโรค , ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร , ด้านการประเมินความปลอดภัยและประสิทธิผล , ด้านการประเมินคุณภาพ , ด้านการควบคุมการผลิตและการค้าผลิตภัณฑ์สมุนไพร และ ด้านสุขภาพและความงาม
หลักสูตรข้างต้นเหล่านี้ ยังเปิดรับสมัครอยู่ จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 นี้ ผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่ เว็บไซต์วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต หรือ ติดต่อสอบถามที่ โทร. 089-770-5862 หรือ Line ID : @188rzbsz หรือ inbox ที่เพจ วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก ม.รังสิต https://www.facebook.com/orientalmedrsu/