หน่วยงานบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้รับมอบหมายจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในการบริหารจัดการทุนวิจัย ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 4 (S4) การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม สำหรับประกาศรับข้อเสนอโครงการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือนานาชาติประจำปีงบประมาณ 2567 นี้ จะมุ่งเป้าการยกระดับความร่วมมือด้านการวิจัยกับประเทศเอเชียตะวันออก (Global EAST) โดยยกระดับความร่วมมือด้านการวิจัยและการพัฒนาเครือข่ายกับทีมวิจัยและหน่วยงานจากสาธารณรัฐประชาชนจีน (China) สาธารณรัฐเกาหลี (South Korea) และไต้หวัน (Taiwan) เนื่องจากประเทศเหล่านี้เป็นผู้ที่มีความโดดเด่นในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก ดังนั้น เพื่อเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรวมทั้งยกระดับทักษะและความสามารถของนักวิจัยไทย โดยอาศัยความร่วมมือระดับนานาชาติ ทาง บพค. จึงได้เปิดรับข้อเสนอโครงการเพื่อยกระดับงานวิจัยและเครือข่ายความร่วมมือกับประเทศเอเชียตะวันออก (Global EAST) : สาธารณรัฐประชาชนจีน (China) สาธารณรัฐเกาหลี (South Korea) และ ไต้หวัน (Taiwan)
วัตถุประสงค์
1. เพื่อสนับสนุนการยกระดับความร่วมมือด้านการวิจัย ผ่านการทำวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ/สถาบันวิจัยชั้นนำของประเทศเอเชียตะวันออก (Global Partnership – EAST) อันนำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสร้างผลงานวิจัยที่มีผลกระทบสูงทั้งทางวิชาการและทางเศรษฐกิจและสังคม
2. เพื่อส่งเสริมให้ยกระดับทักษะและความสามารถของนักวิจัยและเครือข่ายการวิจัยของประเทศไทย โดยเสริมสร้างศักยภาพจากสาขาความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ผ่านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ (knowledge exchange) กับมหาวิทยาลัย/สถาบันวิจัยระดับชั้นนำของประเทศเอเชียตะวันออก (Global Partnership – EAST) อันนำไปสู่การยกระดับความร่วมมือขึ้นสู่ระดับสถาบันกับสถาบัน ทั้งระหว่างสถาบันในประเทศกับต่างประเทศ และระหว่างสถาบันภายในประเทศ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในระยะยาว
หัวข้อวิจัยขั้นแนวหน้า
1. ฟิสิกส์พลังงานสูงและพลาสมา ระบบโลกและอวกาศ สำหรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
2. เทคโนโลยีควอนตัม เน้นประเด็น Quantum Computing & Simulation, Quantum Communication, Quantum Sensing & Metrology, Quantum Algorithm และ Quantum Application
3. หัวข้อวิจัยขั้นแนวหน้าทางด้าน Battery/ Supercapacitor/ Superconductor/ Thermoelectric/ Piezoelectric/ Triboelectric/ Photoelectric Materials/ Semiconductor
4. สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ในมิติของฐานวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 3F : Film, Festival, Fashion เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เน้นประเด็น Digital Creative Content
5. การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG) สำหรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และบริการแห่งอนาคต เน้นประเด็น CCU/CCUS, Hydrogen, Electric Vehicle, Nature Based Solution, BioEnergy (Sustainable Aviation Fuel)
6. เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ (AI for Health)
ผลผลิตที่ได้ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
1. ผลงานตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติที่มี Impact factor ในระดับ ควอร์ไทล์ 1 หรือ Tier 1 ภายใต้ฐานข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับที่มีการตรวจสอบอย่างเข้มข้น อาทิ Scopus หรือ Web of Science (จำนวนผลงานตีพิมพ์จะต้องเป็นไปตามที่ระบุในข้อเสนอโครงการ) ทั้งนี้การตีพิมพ์และเผยแพร่ผลงาน ขอให้ผู้รับทุนระบุข้อความถึงแหล่งทุนสนับสนุนด้วยทุกครั้ง นอกจากนี้
ผลงานวิจัยต้องไม่ถือเป็นความลับ ยกเว้นในกรณีที่จะมีการยื่นจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา
2. สิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร หรือ สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาทั้งในและต่างประเทศ ที่เป็นผลงานวิจัยภายใต้โครงการ ต้องได้รับเลขที่คําขอยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตร หรือ อนุสิทธิบัตร ทั้งนี้ โดยให้ผู้รับทุนยึดหลักปฏิบัติตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564
3. ต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถต่อยอด หรือ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับภาคอุตสาหกรรม ชุมชน และสังคม
4. บุคลากรวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และด้านสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ที่ได้รับการพัฒนาให้มีทักษะและสมรรถนะขั้นสูง ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินโครงการวิจัย
5. เครือข่ายวิจัยซึ่งเป็นผลจากการดำเนินโครงการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัย/สถาบันวิจัยระดับชั้นนำของประเทศเอเชียตะวันออก (Global Partnership – EAST)
6. โครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยร่วมกับเครือข่าย เช่น ห้องปฏิบัติการ /หน่วยวิจัย ศูนย์วิจัยและพัฒนา และ/หรือโรงงานต้นแบบ เป็นต้น
คุณสมบัติผู้ขอรับการสนับสนุนโครงการ
1. หัวหน้าโครงการเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก หรือ เทียบเท่า มีผลงานด้านการวิจัยที่มีคุณภาพและทำงานประจำสังกัดอยู่ในสถาบันอุดมศึกษา หรือ หน่วยงานในประเทศไทย
2. หัวหน้าโครงการเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่สังกัดอยู่ในหน่วยงานวิจัยของภาครัฐ หรือ สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ และมีประวัติผลงานวิจัย (Track Record) ที่แสดงความรู้ความสามารถเชิงประจักษ์ โดยหัวหน้าโครงการควรจะเป็นผู้ที่มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติในฐานะ Corresponding หรือ First Author และมีผลงานตีพิมพ์ไม่น้อยกว่า 7 เรื่อง ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปีค.ศ. 2018-2023) ถ้าหัวหน้าโครงการเป็นนักวิจัยในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต้องมีผลงานในวารสารที่อยู่ในฐานข้อมูล Scopus หรือ ISI และ มีค่า Impact Factor สำหรับสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์จะต้องมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่มีความน่าเชื่อถือ และมีการตรวจสอบต้นฉบับ (Peer Review) อย่างเข้มแข็ง
3. ผู้รับผิดชอบโครงการเป็นมีประสบการณ์การบริหารจัดการงานวิจัยและการดำเนินการวิจัย และคาดว่าจะสามารถปฏิบัติงานและควบคุมการวิจัยได้ตลอดเวลาการรับทุนภายในระยะเวลาที่กำหนด ในช่วงเวลาที่รับทุนจะต้องไม่รับทุนวิจัยหลายโครงการในเวลาเดียวกัน และหากมีความจำเป็นต้องรับทุนจากแหล่งทุนอื่นเพิ่มเติม ต้องแสดงเหตุผลที่ชัดเจนว่า การรับทุนนั้นเป็นการเสริม เพื่อให้โครงการมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้หมวดงบประมาณจะต้องไม่ซ้ำซ้อนกัน
4. ผู้รับผิดชอบโครงการ ทั้งหัวโครงการ และผู้ร่วมโครงการ จะต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณการวิจัยใด ๆ
5. สถาบันต้นสังกัดเห็นชอบการสนับสนุนทุนวิจัยตลอดโครงการตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้
ระยะเวลาการสนับสนุนและงบประมาณ
1. ระยะเวลาในการสนับสนุนโครงการวิจัยไม่เกิน 1 ปี (หากเป็นโครงการต่อเนื่องมากกว่า 1 ปี ต้องแสดงให้เห็นเป้าหมายสุดท้าย (End Goal) และมีเส้นทางไปถึงเป้าหมายรายปี (Milestone) แสดงไว้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ การจัดสรรทุน จะจัดสรรเป็นรายปี)
2. งบประมาณไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อปี โดยมีข้อกำหนดดังนี้
• ค่าตอบแทนคณะผู้วิจัยต้องไม่เกินร้อยละ 30 ของงบประมาณโครงการ ซึ่งเป็นประมาณรวมของค่าตอบแทนคณะผู้วิจัย ค่าจ้าง ค่าใช้สอย และค่าวัสดุ โดยไม่รวมงบประมาณครุภัณฑ์ และค่าธรรมเนียมอุดหนุนสถาบัน
• ค่าธรรมเนียมอุดหนุนสถาบันต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของงบประมาณโครงการ ซึ่งเป็นงบประมาณรวมของการดำเนินโครงการ โดยไม่รวมงบประมาณในหมวด ดังต่อไปนี้ 1) ค่าครุภัณฑ์ 2) ค่าตอบแทนนักวิจัยของโครงการพัฒนานักวิจัยหลังปริญญาเอก ปริญญาเอก หลังปริญญาโท และปริญญาโท 3) ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ และ 4) ค่าจัดนิทรรศการ
• ทั้งนี้ ต้องแสดงรายละเอียดการขอรับการสนับสนุนงบประมาณที่เหมาะสมและสอดคล้องกับขอบเขตงานที่เสนอ เป้าหมาย ตัวชี้วัด และสิ่งส่งมอบที่เสนอไว้ในข้อเสนอโครงการ และเป็นไปตามข้อกำหนดคู่มือการส่งข้อเสนอโครงการ (เมษายน 2566) ทั้งนี้ บพค. ไม่สนับสนุนงบสำหรับบำรุงรักษาเครื่องมือ/ครุภัณฑ์
การยื่นข้อเสนอโครงการ
1. ยื่นข้อเสนอโครงการผ่านระบบ NRIISเท่านั้น
2. บพค. จะรับพิจารณาเฉพาะเอกสารต้นฉบับที่นำส่งที่มีรายละเอียดครบถ้วน และสถาบันต้นสังกัด หัวหน้าโครงการทำการรับรองข้อเสนอโครงการ ภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2566 เวลา 16.30 น. เท่านั้น
3. การแนบหนังสือรับรองในระบบ NRIIS ให้ระบุประเภทเอกสาร (dropdown list) เช่น หนังสือรับรอง (Letter of Support: LOS) หรือ หนังสือแสดงเจตจำนงในการเข้าร่วมโครงการของภาคเอกชน (Letter of Intent: LOI) และกำหนดชื่อไฟล์ โดยระบุชื่อ “LOS_ หน่วยงานที่ออกหนังสือรับรอง” หรือ “LOI_ บริษัทที่มีความร่วมมือ” เช่น ถ้าหนังสือรับรองออกโดยสถาบัน A ขอให้ระบุชื่อเป็น LOS_A เป็นต้น
4. การยื่นข้อเสนอโครงการ ผู้สนใจสามารถยื่นข้อเสนอในระบบ NRIIS โดยดูแบบฟอร์มข้อเสนอโครงการที่ บพค. กำหนดให้ไว้บน website (file Word document) ทั้งนี้ ท่านสามารถแนบแบบฟอร์มข้อเสนอโครงการในระบบ NRIIS โดยระบุประเภทเอกสาร (dropdown list) เป็นเอกสารข้อเสนอโครงการ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://shorturl.asia/KMlBo
อ้างอิงจาก https://shorturl.asia/4ibcl