สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประกาศรับสมัครอาจารย์ที่ปรึกษา โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ที่เกิดจากแนวความคิดที่ต้องการพัฒนาและผลิตนักวิจัยระดับปริญญาเอกที่มีคุณภาพสูงในมหาวิทยาลัยไทยให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะหน่วยให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมหลักของประเทศ ซึ่งมีหน้าที่จัดสรรทุนวิจัยและบริหารจัดการโครงการ คปก. ภายใต้โครงการดังกล่าว วช. ได้มีบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือไตรภาคีไทย-สวีเดน ร่วมกับ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (Thailand International Cooperation Agency (TICA) กระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย โดย Development Cooperation Section และ Uppsala University โดย International Science Programme ราชอาณาจักรสวีเดน ในการสนับสนุนทุนศึกษาวิจัยแก่นักศึกษาในสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ราชอาณาจักรภูฏาน สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ที่ต้องการศึกษาต่อระดับปริญญาเอกกับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย และมหาวิทยาลัยที่ประเทศสวีเดน เพื่อให้การดำเนินงานโครงการ คปก. ภายใต้ความร่วมมือไตรภาคีไทย-สวีเดน เป็นไปอย่างต่อเนื่อง วช. จึงเห็นควรให้การสนับสนุนทุนวิจัยดังกล่าว เพื่อสนับสนุนการผลิตงานวิจัย และนักวิจัยระดับปริญญาเอกคุณภาพสูงในมหาวิทยาลัยของไทย อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายการวิจัยระหว่างนักวิจัยและหน่วยงานวิจัยชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ
หลักเกณฑ์การจัดสรรทุนวิจัย
1. ลักษณะโครงการวิจัยที่เสนอขอรับทุน เป็นการสนับสนุนทุนศึกษาวิจัยโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ภายใต้ความร่วมมือไตรภาคีไทย – สวีเดน ระหว่าง วช. กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (Thailand International Cooperation
Agency (TICA) กระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูตสวีเดน ประจำประเทศไทย โดย Development Cooperation Section แ ละ Uppsala University โดย International Science Programme ราชอาณาจักรสวีเดน แก่นักศึกษาในสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ราชอาณาจักรภูฏานสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ที่ต้องการศึกษาต่อระดับปริญญาเอกกับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย โดยสาขาที่ให้การสนับสนุน คือ วิทยาศาสตร์พื้นฐาน ได้แก่ ชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ และ คณิตศาสตร์ ซึ่งจะให้การสนับสนุนจำนวนไม่เกิน 5 ทุนต่อปี โดย วช. และ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศร่วมสนับสนุนระหว่างที่ผู้ได้รับทุนศึกษาอยู่ในประเทศไทย เป็นระยะเวลา 2 ปีการศึกษาติดต่อกัน และฝ่ายสวีเดนจะสนับสนุนทุนระหว่างที่ผู้ได้รับทุนศึกษาอยู่ที่ราชอาณาจักรสวีเดน เป็นระยะเวลา 1 ปีการศึกษาติดต่อกัน
2. คุณสมบัติของอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลักฝ่ายไทย
2.1 พำนักอยู่ในประเทศไทย มีคุณสมบัติเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก ตามระเบียบของมหาวิทยาลัยที่สังกัด และมีอายุไม่เกิน 63 ปี
2.2 กรณีอาจารย์ที่ปรึกษา อายุตั้งแต่ 57 ปีขึ้นไป (นับถึงวันยื่นใบสมัคร) อาจารย์ที่ปรึกษาชาวต่างประเทศ หรือ อาจารย์ที่ปรึกษาที่ไม่ใช่อาจารย์ประจำในสถาบันที่จะเสนอชื่อนักศึกษาเพื่อรับทุน ต้องมีหนังสือรับรองจากคณบดีว่าจะสามารถทำงานกับมหาวิทยาลัย/หรือ สถาบันได้จนนักศึกษาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก และหากได้รับการต่ออายุราชการขอให้ส่งหลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณา
2.3 มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่ขอรับทุน และจะควบคุมวิทยานิพนธ์ ได้แก่ วิทยาศาสตร์พื้นฐาน ได้แก่ ชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์และ คณิตศาสตร์ โดยมีผลงานวิจัยเป็นที่ประจักษ์ 5 ปีล่าสุดอย่างต่อเนื่อง เช่น วารสารผลงานตีพิมพ์วิชาการระดับนานาชาติสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร หรือ คำขอรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร เป็นต้น
2.4 เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของนักศึกษาผู้รับทุน คปก. โครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) และ ทุนพัฒนานักวิจัยระดับบัณฑิตศึกษา รวมกันไม่เกิน 5 ทุน และเมื่อรวมทุนระดับปริญญาโทของ พวอ. และทุนพัฒนานักวิจัยระดับบัณฑิตศึกษา แล้วไม่เกิน 10 ทุน
2.5 ไม่รับทุนซ้ำซ้อน หากตรวจสอบพบว่า โครงการนี้ซ้ำซ้อนกับโครงการวิจัยอื่น หรือ รับงบประมาณทับซ้อนกับโครงการวิจัยอื่นที่ได้รับทุนแล้ว ยินดีให้ยกเลิกโครงการวิจัยได้ทันที
3. คุณสมบัติของนักศึกษา
3.1 เป็นพลเมืองจากหนึ่งใน 8 ประเทศที่มีสิทธิ์รับทุน ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ราชอาณาจักรภูฏาน สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
3.2 อายุต่ำกว่า 40 ปี
3.3 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับข้อเสนอเพื่อเข้าศึกษาในระดับปริญญาเอก โดยมีเกรดเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 3.50 (คิดจากผลรวม 4.00) หรือ เทียบเท่า
3.4 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี โดยมีเกรดเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 3.00 (คิดจากผลรวม 4.00) หรือ เทียบเท่า
3.5 มีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ หรือ มีการนำเสนอด้วยวาจา/โปสเตอร์ในการประชุมวิชาการสาขาวิทยาศาสตร์ โดยมีบทคัดย่อเป็นภาษาอังกฤษ รวมถึงประสบการณ์/ภูมิหลังของนักศึกษาที่เหมาะสมกับการดำเนินงานตามข้อเสนอที่ได้ร่างไว้เป็นสิ่งที่สำคัญ
3.6 มีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษที่คล่องแคล่วทั้งการเขียนและพูด เนื่องจากหลักสูตรนี้ดำเนินการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ
3.7 ทุนนี้จะมอบให้เมื่อนักศึกษาผ่านการพิจารณา โดยต้องมีสถานะเป็นนักศึกษาปริญญาเอกในหลักสูตรปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยในหลักสูตรปกติในเวลาราชการ (หลักสูตรที่ผ่านการรับรองจาก สกอ.) ในสาขาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ได้แก่ ชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ และ คณิตศาสตร์ และสามารถศึกษาวิจัยได้เต็มเวลา โดยไม่ปฏิบัติงานใด ๆ ในขณะที่ได้รับทุน
3.8 อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลักฝ่ายไทยของนักศึกษาในระดับปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ต้องมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่ วช. กำหนด
3.9 ต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกภายใน 3 ปีการศึกษาต่อเนื่อง (2 ปีในประเทศไทย และ 1 ปีในประเทศสวีเดน) หากต้องการขยายระยะเวลาการทำวิจัย (ในประเทศไทย หรือ สวีเดน) อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลักฝ่ายไทยจะต้องส่งหนังสือแจ้งความประสงค์ต่อ วช. และหนังสือแจ้งความประสงค์นี้จะส่งต่อไปยัง TICA และ ISP เพื่อพิจารณา ทั้งนี้ หากได้รับการอนุมัติ การขยายระยะเวลาการศึกษาต่อเนื่องไม่ควรเกิน 1 ปี ในประเทศไทย หรือ ในประเทศสวีเดน การขยายระยะเวลาการศึกษาของนักศึกษาได้รับการอนุมัติ TICA และ วช. จะรับผิดชอบงบประมาณที่จัดสรรไว้ในสัญญาให้ทุนของนักศึกษา เพื่อให้ครอบคลุมระยะเวลาการศึกษาต่อเนื่องในประเทศไทย โดยไม่เกิน 1 ปี ส่วน ISP จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในประเทศสวีเดน อย่างไรก็ตาม หากนักศึกษาไม่สามารถสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกภายในระยะเวลาที่กำหนด นักศึกษายังคงสามารถศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยมหาวิทยาลัยในประเทศไทย แต่จะต้องพึ่งพาตนเอง
– สามารถลาศึกษาต่อเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี ตามเงื่อนไขที่กำหนดสำหรับผู้สมัครที่ผ่านการพิจารณา
เกณฑ์งบประมาณ
1. ส่วนที่ วช. ให้การสนับสนุน
สนับสนุนส่วนนักศึกษา
– ค่าธรรมเนียมการศึกษา 80,000 บาท/ปี
– ค่าใช้จ่ายในการวิจัย 50,000 บาท/ปี
สนับสนุนส่วนอาจารย์ที่ปรึกษา
– ค่าตอบแทน 30,000 บาท/ปี
– ค่าตอบแทนเมื่อปิดโครงการ 50,000 บาท
– ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปสร้างความร่วมมือกับอาจารย์ที่ปรึกษาต่างประเทศที่สวีเดน 100,000 บาท
อื่น ๆ
– งบประมาณสำรอง หรือ ค่าใช้จ่ายอื่นที่ วช. ให้ความเห็นชอบ 200,000 บาท เช่น ค่าตีพิมพ์ผลงานวิจัย
2. ส่วนที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลสวีเดนให้การสนับสนุน
– ตั๋วเครื่องบินชั้นประหยัดจากสนามบินนานาชาติที่เหมาะสม จากประเทศบ้านเกิดของนักศึกษาไปยังประเทศไทย โดยนักศึกษาจะได้รับตั๋วจากตัวแทนของการบินไทย หรือ ผ่านสำนักงานสายการบินแห่งชาติในประเทศของนักศึกษา ทั้งนี้ ตั๋วเครื่องบินขากลับไปยังประเทศบ้านเกิดจะออกให้ล่วงหน้าเพียงหนึ่งสัปดาห์ ก่อนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ตลอดจนสิ้นสุดสัญญาการให้ทุน โดยไม่ควรซื้อตั๋วเครื่องบินด้วยตนเอง และหากทำเช่นนั้นจะไม่สามารถขอคืนค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้
– สำหรับการศึกษาวิจัยในประเทศสวีเดนเป็นเวลา 1 ปี อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลักฝ่ายไทย จะต้องส่งแผนการเดินทางและแผนการวิจัย โดยปรึกษากับที่ปรึกษาร่วมชาวสวีเดน และส่งแผนดังกล่าวไปยัง ISP อย่างน้อย 3 เดือนก่อนสิ้นปีงบประมาณของสวีเดน (31 ธันวาคม) เพื่อขออนุมัติก่อนลาศึกษาต่อในเดือนมกราคมของปีถัดไป ส่วน ISP จะดำเนินการจัดหาตั๋วเครื่องบินไป-กลับชั้นประหยัดจากประเทศสวีเดน
– ระหว่างที่ศึกษาในประเทศไทย นักศึกษาที่ศึกษาอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ ภูเก็ต หรือ ชลบุรี จะได้รับเบี้ยเลี้ยงเดือนละ 16,000 บาท ซึ่งเป็น (1) ค่าครองชีพในอัตรา 7,000 บาท เป็นค่าอาหาร ค่าเดินทางรถสาธารณะ และค่าใช้จ่ายส่วนตัวอื่น ๆ (2) ค่าที่พักในอัตรา 9,000 บาท (๓) ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าประกันสุขภาพ ค่าศึกษา ค้นคว้า ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าทัศนศึกษา และ ค่าเตรียมวิทยานิพนธ์ สำหรับนักศึกษาในจังหวัดอื่นที่นอกเหนือจากที่กล่าวไว้ จะได้รับเงินรายเดือน จไนวน 14,000 บาท ซึ่งเป็น (๑) เบี้ยเลี้ยงในอัตรา 7,000 บาท (๒) ค่าที่พักในอัตรา 7,000 บาท โดยแนะนำให้เตรียมงบประมาณสำรองส่วนหนึ่ง เพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายเบื้องต้น ก่อนที่จะจ่ายเบี้ยเลี้ยง
– ระหว่างการศึกษาในประเทศสวีเดน นักศึกษาจะได้รับประกันสุขภาพ การยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตมีถิ่นที่อยู่ และค่ายังชีพรายเดือนที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายส่วนตัว และที่พัก
– นักศึกษาต้องไม่มีโรคประจำตัวใด ๆ ซึ่งอาจต้องเข้ารับการรักษาในประเทศไทยและประเทศสวีเดน ในระหว่างการศึกษา
*หมายเหตุ
1. วช. และ TICA จะร่วมสนับสนุนระหว่างที่ผู้ได้รับทุนศึกษาอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลา 2 ปี และฝ่ายสวีเดนจะสนับสนุนทุนระหว่างที่ผู้ได้รับทุนศึกษาอยู่ที่ราชอาณาจักรสวีเดนเป็นระยะเวลา 1 ปี
2. การอนุมัติสนับสนุนทุนวิจัย รวมถึงงบประมาณที่จะได้รับขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ วช. เป็นสำคัญ ในกรณีที่ผู้ให้ทุนได้รับงบประมาณสำหรับโครงการ คปก. จากรัฐบาลไม่เพียงพอ
3. ระยะเวลาและงบประมาณการให้ทุนนับจากวันที่ทำสัญญารับทุนอุดหนุนฯ ไปจนถึงปีที่นักศึกษาจบการศึกษาตามหลักสูตร (กรณีใช้วุฒิปริญญาโทสมัคร ให้ทุนสูงสุดไม่เกิน 3 ปี) (กรณีใช้วุฒิปริญญาตรีสมัครให้ทุนสูงสุดไม่เกิน 5 ปี) ไม่นับจากปีที่นักศึกษาเข้าศึกษาในหลักสูตรปริญญาเอก
การสมัครและกำหนดเวลาเสนอโครงการ
อาจารย์ที่ปรึกษาฝ่ายไทย สามารถดูรายละเอียดและดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่ https://www.nrct.go.th/ โดยส่งใบสมัครมายังไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ rgj.phd@nrct.go.th โดยเปิดรับข้อเสนอโครงการตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2566 เวลา 16.30 น. ทั้งนี้ วช. จะพิจารณาข้อมูลและเอกสารประกอบการสมัครหลังจากวันที่ปิดรับใบสมัคร จึงขอสงวนสิทธิ์ที่จะไม่พิจารณาอนุมัติทุน หากพบภายหลังว่าข้อมูลที่กรอกไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ลงนามในเอกสารไม่ครบถ้วน และ/หรือส่งเอกสารไม่ครบถ้วนภายในกำหนดเวลา กรณีต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ชั้น 4 อาคาร วช.2 ส านักงานการวิจัยแห่งชาติเลขที่ 196 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร. 02-579-1370-9 ต่อ 423 โทรสาร 02-579-2284 ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ rgj.phd@nrct.go.th
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://shorturl.asia/IMCHU
อ้างอิงจาก https://shorturl.asia/IMCHU