นักวิจัย ม.อ. ร่วมด้วยภาคีเครือข่าย ค้นพบพืชวงศ์กระดังงา 2 ชนิดใหม่ของโลก ตอกย้ำระบบนิเวศสมบูรณ์ของป่าฮาลา-บาลา เตรียมต่อยอดท่องเที่ยวทางธรรมชาติ

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) โดย คณะวิทยาศาสตร์ ค้นพบพืชวงศ์กระดังงา 2 ชนิดใหม่ของโลก ได้แก่ “บุหงาเซิงเบตง” มีลักษณะเด่นดอกสีเหลือง มีสีเขียวบริเวณโคนกลีบ กับ “บุหงาเซิงฮาลา” มีใบประดับขนาดใหญ่รูปไข่กว้าง กลีบดอกสีเหลือง ที่ ป่าฮาลา-บาลา จ.ยะลา โชว์ผลงานตีพิมพ์ในวารสาร Phytotaxa ระดับนานาชาติฐาน WOS ระดับ Quartile 3 ตอกย้ำระบบนิเวศสมบูรณ์ที่มีผลจากการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ

รศ.ดร.จรัล ลีรติวงศ์ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. ได้ร่วมกับ Prof. Dr. David M. Johnson : Biological Science Department, Ohio Wesleyan University, Delware, Ohio, U.S.A ดร.จิรัฐิ สัตถาพร ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และนายสุเนตร การพันธ์ สถานีวิจัยสัตว์ป่า ป่าพรุ ป่าฮาลา-บาลา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา ร่วมค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกในสกุลบุหงาเซิง (Friesodielsia Steenis) ของพืชวงศ์กระดังงา (Annonaceae) จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ บุหงาเซิงเบตง : Friesodielsia betongensis Leerat และ บุหงาเซิงฮาลา : Friesodielsia chalermgliniana Leerat ที่ป่าฮาลา-บาลา ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา จังหวัดยะลา

บุหงาเซิงเบตง

การค้นพบพืชวงศ์กระดังงา 2 ชนิดใหม่ของโลก (New species) ได้ถูกตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติฐาน WOS ระดับ Quartile 3 ชื่อวารสาร Phytotaxa ฉบับที่ 589 (1) ปี ค.ศ. 2023 โดยพืชสกุลบุหงาเซิง จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ บุหงาเซิงเบตง : Friesodielsia betongensis Leerat เป็นไม้พุ่มรอเลื้อยหรือไม้เถาเนื้อแข็ง มีลักษณะเด่น คือ มีดอกสีเหลือง โดยมีสีเขียวบริเวณโคนกลีบ กลีบดอกชั้นนอกมีลักษณะภาคตัดตามขวางเป็นรูปสามเหลี่ยม กลีบดอกชั้นในมีความยาวมากกว่าความยาวครึ่งหนึ่งของกลีบดอกชั้นนอก ขึ้นอาศัยในบริเวณป่าดิบเขา อยู่ระดับความสูงเหนือระดับทะเล 1,000-1,200 เมตร โดยจะออกดอกและผลช่วงเดือนพฤษภาคม สำหรับที่มาของชื่อวิทยาศาสตร์เป็นการตั้งชื่อให้กับสถานที่ที่มีการค้นพบพืชชนิดนี้ ในเขตอำเภอเบตง จังหวัดยะลา

บุหงาเซิงฮาลา

สำหรับพืชบุหงาเซิงฮาลา : Friesodielsia chalermgliniana Leerat เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ลักษณะเด่น มีใบประดับขนาดใหญ่รูปไข่กว้าง กลีบดอกสีเหลือง มีกลีบดอกชั้นนอกที่มีลักษณะภาคตัดตามขวางเป็นรูปสามเหลี่ยม กลีบดอกชั้นในมีความยาวมากกว่าความยาวครึ่งหนึ่งของกลีบดอกชั้นนอก ขึ้นอาศัยในบริเวณป่าดิบชื้น อยู่เหนือความสูงเหนือระดับทะเลประมาณ 500 เมตร ออกดอกช่วงเดือนพฤษภาคม โดยที่มาของชื่อวิทยาศาสตร์ให้เป็นเกียรติแก่ ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญพิเศษจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) มีความเชี่ยวชาญในการศึกษาและวิจัยพืชวงศ์กระดังงาของประเทศไทย และเป็นผู้ให้ความรู้นำทีมทำการสำรวจภาคสนาม

รศ. ดร.จรัล กล่าวว่า การค้นพบพืชชนิดใหม่ทั้ง 2 ชนิดของโลก ตอกย้ำระบบนิเวศสมบูรณ์ของป่าฮาลา-บาลา จากผลของการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้ทุกคนตระหนักและให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ป่าให้มีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ และการค้นพบครั้งนี้ยังสามารถต่อยอดในด้านการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ โดยปัจจุบันเขตฮาลา-บาลาเป็นหนึ่งในป่าดิบชื้น (Rain Forest) ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย เป็นแหล่งที่อาศัยของพืชพรรณและมีความมหัศจรรย์จากธรรมชาติมากมายที่ควรค่าแก่การศึกษา โดย ม.อ.ยังคงมุ่งมั่นศึกษาและสำรวจพืชใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไป

RANDOM

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!