ตอนที่ 30 : ระหว่างการศึกสองครา จากอุดมการณ์โอลิมปิกถึงมหาวิทยาลัยมวลชน : หนังสืออุดมการณ์โอลิมปิกของคูเบอร์แต็ง : แปลโดย : ดร.นิพัทธ์ อึ้งปกรณ์แก้ว

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

ระหว่างการศึกสองครา จากอุดมการณ์โอลิมปิกถึงมหาวิทยาลัยมวลชน

            ในช่วงนั้น เทคโนโลยีที่แพร่หลายไปทั่วด้วยประโยชน์เชิงประสิทธิผลซึ่งปรากฏขึ้นในสังคมที่กำลังปฏิวัติอุตสาหกรรมอย่างสมบูรณ์นั้น โดยแม้จะเคยนำไปสู่การปฏิรูป แต่กลับไม่ได้รับการเอาใจใส่โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ การเพิกเฉยต่อองค์ประกอบด้านมนุษย์อย่างมีนัยสำคัญ 

            เชาวน์ปัญญาและความกล้าหาญคือสิ่งจำเป็นต่อการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งคุณค่าสูงสุดของมนุษย์ ทั้งนี้ ไม่ขึ้นอยู่กับสถานะของบุคคลโดยเฉพาะชนชั้นสังคมในขณะนั้น

            ถึงเวลาต่อการเรียกร้องด้านจริยศึกษาและการปฏิรูปการศึกษาที่จะส่งเสริมให้แต่ละบุคคลเข้าถึงศักยภาพเต็มเปี่ยมของตนเองอย่างอิสระในความหมายที่แท้จริง ปิแอร์ เดอ คูเบอร์แต็งได้เกิดความเข้าใจในสิ่งนี้ครั้นเริ่มต้นความพยายามด้านการศึกษาตั้งแต่ ค..1890 โดยพัฒนาแผนงานและเริ่มมองหาพันธมิตร

              ณ ทอย์นบีฮอลล์ ซึ่งเป็นสถานศึกษาเอกชนไม่คิดค่าใช้จ่ายแก่ผู้ใช้แรงงานในย่านยากจนข้นแค้นของไวท์ชาเพิลในกรุงลอนดอน คูเบอร์แต็งได้สังเกตถึงการกระทำเพื่อพัฒนาอนาคตของผู้มีชะตาชีวิตน่าเศร้าบนความขมขื่นและหดหู่โดยปราศจากความหวัง โดยแม้นักเรียนจะขัดสนด้านวัสดุสิ่งของ จริยธรรมและกายภาพ แต่ก็สามารถจัดการศึกษาด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอด้วยการอุทิศตนของนักศึกษามหาวิทยาลัยอาสาสมัครซึ่งทำให้ค้นพบถึงความเป็นมนุษย์ที่เต็มเปี่ยมของผู้ใช้แรงงานแต่ละคนและการทำให้ความเป็นมนุษย์นั้นเกิดมรรคผลด้วยการปลุกจิตวิญญาณสร้างสรรค์ วัฒนธรรมเรียนรู้และวัฒนธรรมทางกายจึงจะสามารถบรรลุผลอย่างไม่ลำบากโดยไม่ต้องการสิ่งใดเว้นแต่การเค้นความแข็งแกร่งจากความหาญกล้าเท่านั้น ด้วยการแสดงออกอย่างอิสระ แต่ละบุคคลกลับมาเป็นเจ้าของตนเองอีกครั้งหนึ่งและกาลปัจจุบันได้กลายเป็นคำสัญญาแห่งอนาคต ผลสำเร็จเหล่านี้ยืนยันสิ่งที่คูเบอร์แต็งเชื่อว่า เมืองที่ควรคู่กับชื่อเสียงเรียงนามนั้น เหนือสิ่งอื่นใด จะต้องเป็นชุมชนของพลเมืองอิสระที่ปฏิบัติตนตามจริยธรรมขั้นสูง นักมนุษยนิยมต้องไม่แยกบุคคลออกจากสังคม

             คูเบอร์แต็งทุ่มเทตลอดชีวิตทำงานด้วยแรงปรารถนาต่อการจัดตั้งมหาวิทยาลัยมวลชนที่จะสามารถเกื้อหนุนความเจริญก้าวหน้าของปัจเจกชนทุกคน

            เพื่อนทั้งหลายของข้าพเจ้าดูประหลาดใจว่า ตั้งแต่ที่ข้าพเจ้ามีชัยเหนือการศึกโอลิมปิกในวงกว้างกว่าที่พวกเขาทำนายไว้เป็นการทั่วไปนั้น ข้าพเจ้าไม่ยอมหยุดที่จะอิ่มอกอิ่มใจในการเก็บเกี่ยวผลงานที่ปรากฎ พวกเขากลับประหลาดใจที่ข้าพเจ้าพาตนเองเข้าสู่การศึกอีกแห่งที่มีสนามรบไม่ชัดเจนพร้อมด้วยเหล่าทหารจำนวนน้อยและรุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติสังคมที่วุ่นวายซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่สายตา

            แผนงานของข้าพเจ้าไม่ได้เกิดจากความเร่งรีบหรือบุ่มบ่ามทั้งสิ้น ความจริงแล้ว สิ่งนี้ได้ลงมือปฏิบัติมาก่อนหน้านานพอควร เหตุการณ์ต่างๆในวันนี้เพียงแต่ขมวดปมสิ่งที่ปรากฎโดยเน้นย้ำความจำเป็นต่อสิ่งนี้

            การกีฬาซึ่งได้รับการนำเสนอแก่โรงเรียนฝรั่งเศสเมื่อสามสิบห้าปีที่ผ่านมาและการรื้อฟื้นโอลิมปิกเกมส์นานาชาติในอีกเจ็ดปีต่อมานั้น ทำให้ข้าพเจ้าได้สัมผัสกับชีวิตโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั้งในฝรั่งเศสบ้านเกิดของข้าพเจ้าและนานาประเทศโดยข้าพเจ้าสามารถกล่าวได้ว่า ที่จริงแล้ว “ระดับการเรียนรู้กำลังถดถอยลง” ซึ่งอาจเป็นการกระซิบเฉพาะกลุ่มไม่กี่คนในขณะนั้น แต่เป็นที่กล่าวขานโจษจันทุกหนแห่งในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม กลับไม่มีการกระทำที่จริงจังในวันนี้เพื่อค้นหาทางแก้ไขของปัญหาดังกล่าว

            นอกจากนี้ พวกเราคงต้องเริ่มจากการเห็นพ้องต่อสาเหตุของปัญหานี้ก่อน ข้าพเจ้าเห็นว่า สามารถบ่งชี้สาเหตุได้ไม่ยากนัก การดำเนินงานของ “การกีฬาศึกษา” เปิดโอกาสให้ข้าพเจ้าได้ประเมินภาวะจิตใจของนักเรียนและครู ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าตระหนักถึงการไม่พบความผิดปกติของเชาวน์ปัญญาและศรัทธาของนักเรียนหรือความมุ่งมั่นและพรสวรรค์ของครูทั้งหลาย แล้ววิธีการสอนทั้งปวงละ? วิธีการสอนทั้งหลายยังคงไม่เปลี่ยนแปลงแต่ประการใด แม้จะมีการปรับรายละเอียดจำนวนมาก แต่ทั้งหมดก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อสิ่งที่ดีขึ้น วิธีการเหล่านี้คือสิ่งเดิมที่สร้างความกระจ่างชัดในใจเด็กเหมือนยุคอื่น แต่ทำไมวิธีการเหล่านี้จึงไม่สามารถเกิดผลอีกต่อไป?

            เหตุผลคือเวลาที่ แบร์เตอลูต์ คาดการณ์ได้มาถึงแล้วตามที่ได้เขียนไว้เมื่อหลายปีก่อนดังนี้

            “จะเป็นไปไม่ได้ที่จะซึมซับสิ่งค้นพบในทุกยุคสมัย เนื่องเพราะสมองมนุษย์ไม่สามารถดูดซับข้อมูลจำนวนมหาศาล จึงทำให้ไม่สามารถที่จะนำไปใช้งานทั่วไปได้เช่น การเพิ่มเติมและพัฒนา เป็นต้น” ข้อความนี้เป็นที่น่าขุ่นเคืองและดูจะไร้ทางออก พวกเราจะหาทางออกสำหรับผลที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์นี้อย่างไร? ไลบ์นิทซ์ ให้คำตอบแก่พวกเรา ท่านเองก็ทำนายในหนังสือตนเองชื่อ Discourse on the Method of Certainty and the Art of Invention ดังนี้ “เราอาจกล่าวว่า วิทยาศาสตร์หดสั้นลงเมื่อขยายใหญ่โตขึ้น เนื่องเพราะยิ่งค้นพบความจริงมากขึ้นเท่าใด สิ่งที่พร้อมกว่าจะค้นพบกฎเกณฑ์ของสิ่งทั้งหลายและจะสร้างสมมติฐานที่ยิ่งเป็นสากลมากขึ้นซึ่งทำให้สมมติฐานอื่นกลายเป็นเพียงตัวอย่างหรือผลสืบเนื่องเท่านั้น จึงเป็นไปได้ว่า สิ่งจำนวนมหาศาลที่เกิดก่อนพวกเราจะถูกลดไปตามเวลาจนเหลือเพียงสองหรือสามทฤษฎีสากล”

            ทั้งสองแนวคิดที่นำเสนออย่างงดงามเหล่านี้จากสองผู้ยิ่งใหญ่ด้วยคำประทับใจได้เกื้อหนุนความพยายามของข้าพเจ้าอย่างต่อเนื่องเสมือนภาพวาดไร้กาลเวลาของดวงดาวส่องแสงเจิดจรัสสองดวงซึ่งถือไว้ในมือที่ยืดเหยียดออกไปกลางอากาศโดย พูวิส์ เดอ ชาวานาส์

            ใจกลางปัญหาซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า การมัธยมศึกษา โดยภารกิจของการประถมศึกษาคือการวางรากฐานการศึกษาด้านเทคนิค สถาบันการศึกษาชั้นสูงและมหาวิทยาลัยจะรับผิดชอบการสอนเชิงปฏิบัติหรือความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ ในระหว่างสถาบันทั้งสองนี้ การมัธยมศึกษาจะต้องเป็น “กาลเวลาแห่งแนวคิดทั่วไป” ซึ่งทั้งหมดนี้คือหลักพื้นฐานของการปฏิรูป วิธีการสอนแบบสังเคราะห์ถูกกำหนดล่วงหน้าให้แทนที่ด้วยการวิเคราะห์ ในความเป็นจริง ตราบปัจจุบัน การมัธยมศึกษาเป็นอย่างไร ไม่เฉพาะในฝรั่งเศส แต่ในประเทศอื่นเกือบทั้งหมดด้วย? ความพยายามรอบด้านในวิธีการสอนแบบสังเคราะห์ที่จะนำสู่การปฏิบัติด้วยสติปัญญาของวัยรุ่นผ่านองค์ประกอบหลากหลายที่เรียกว่า ฟิสิกส์ เคมี วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ พืชศาสตร์ ฯลฯ ในท้ายสุด วิธีการนี้จะมอบแนวคิดเป็นเนื้อเดียวกันของโลกและชีวิตแก่นักเรียน แต่วิธีการสังเคราะห์นี้ได้อันตรธานไปแล้ว องค์ประกอบที่เคยใช้กับวิธีการนี้กลับมีปริมาณมากเกินไปและสาระบางประการก็ถูกทิ้งขว้างไป วิธีการอื่นไม่ได้ถูกใช้ยกเว้นในรูปแบบที่ยากต่อการซึมซับ ความทันสมัยอย่างไร้เหตุผลในบางวิชาและความโง่เขลาสุดโต่งในอีกหลายเรื่องทำให้วัยรุ่นหลงทิศหลงทางเพราะความรู้ของตนเองที่กระจัดกระจายและอำพราง สูตรสมการและชุดข้อมูลสารพัดที่ท่วมท้น และความไม่สามารถของตนเองในการจัดทำข้อสรุปเชิงปฏิบัติการจากสิ่งที่ตนได้เรียนรู้มา

            อย่างไรก็ตาม การดำรงอยู่ทั้งปวงของมนุษย์ได้รับอิทธิพลจากความเป็นจริงสองประการกล่าวคือ มนุษย์พึ่งพาโลกที่ตนอาศัยอยู่ การเคลื่อนไหวของโลก และกฎกลศาสตร์ ฟิสิกส์และเคมีที่ควบคุมโลกไว้ ในขณะเดียวกัน มนุษย์ก็มีประวัติที่บันทึกไว้ถึงหกพันปีอยู่เบื้องหลังซึ่งเป็นช่วงเวลาของมรดก “ซึ่งเขาได้รับการตกทอดและต้องมีความรับผิดชอบ” ที่ได้ถูกสร้างขึ้น ดังนั้น ขอให้พวกเราจงพิจารณาความจริงสองประการนี้ที่ควบคุมชีวิตพวกเราและวิเคราะห์สิ่งเหล่านี้จากทั่วไปสู่เฉพาะอย่าง จากหลักทั่วไปสู่รายละเอียด และจากกรอบใหญ่ของสิ่งทั้งหลายสู่คำอธิบายเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับเวลาที่เหลืออยู่ สิ่งนี้จะสร้าง “กาลเวลาแห่งแนวคิดทั่วไป” ในตรงกลางระหว่างโรงเรียนประถมศึกษาและมหาวิทยาลัยซึ่งจะก่อรูปร่างใหม่ของการมัธยมศึกษาและจะจัดเตรียมความเข้าใจถ่องแท้ในเบื้องต้นที่มีคุณค่าแก่นักเรียนทุกคน

            แนวคิดเหล่านี้ที่ถูกวางกรอบไว้ตั้งแต่ ค.ศ.1900 ไม่ได้รับความเข้าใจและไม่สามารถปลุกเร้ามติมหาชนได้ แม้จะมีการอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมอีกเจ็ดปีให้หลัง แต่ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นอุดมคติและกระตุ้นความโกรธแค้นในบางชุมชน ทั้งนี้ กลุ่มผู้สนับสนุนหลักจำนวนไม่มากได้เข้าร่วมแนวคิดนี้ ความช่วยเหลือจากเพื่อนผู้ล่วงลับคือ กาเบรียล ลิปป์มานน์ ทำให้ข้าพเจ้าสามารถจัดทำแผนการศึกษาอย่างละเอียด ชิ้นหนึ่งสำหรับวิทยาศาสตร์ อีกชิ้นสำหรับ “มนุษยศาสตร์” โดยท่านเป็นนายแพทย์ผู้มีชื่อเสียงและไม่เกี่ยงงอนไม่แต่น้อยต่อการ “ยกเลิก” วิชาฟิสิกส์กับเคมีที่เป็นวิชาเอกเทศของมัธยมศึกษา รวมทั้งเห็นด้วยกับแนวคิดว่า ความเป็นเอกเทศนี้ไม่จำเป็นต้องรักษาไว้หากจะเป็นอันตรายแก่วิชาอื่น นอกจากนี้ ท่านยังเห็นพ้องว่า ไม่มีอันตรายต่อการศึกษาหรือสังคมที่จะให้นักเรียนศึกษากระบวนการลองผิดลองถูกหรือการทดลองที่จะนำไปสู่การค้นพบหรือกฎหนึ่งใด หากพวกเราจะกล่าวอย่างชัดเจน ตราบที่เกี่ยวข้องกับนักเรียน จะไม่มีสิ่งใดที่เรียกว่าวิชาฟิสิกส์หรือเคมีหรือแม้กระทั่งดาราศาสตร์หรือภูมิศาสตร์ ไม่มีแม้ปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์ เคมี ดาราศาสตร์หรือภูมิศาสตร์หรืออื่นๆตามธรรมชาติ จะมีแต่เพียงตัวนักเรียนที่ประสบปรากฏการณ์และสิ่งเหล่านี้จะต้องได้รับการอธิบายแก่เขาในระหว่าง “การเดินทางบนโลก” ของตนเอง ในส่วนของ “การเดินทางผ่านประวัติศาสตร์” ของเขานั้น จะต้องผ่านไปทีละขั้นทั่วศตวรรษและทวีปทั้งหมด การตัดประวัติศาสตร์เป็นชิ้นเล็กเหมือนขนมเค้กในลักษณะช่วงเวลาหรือประเทศนั้น เป็นแต่เพียงการขอโทษของนักประวัติศาสตร์ที่ไม่สามารถ “เข้าใจรอบด้าน” ในยุคสมัยต่างๆเหมือนนักภูมิศาสตร์ที่ศึกษามหาสมุทรหรือระดับความสูง ในวันนี้ สะพานเชื่อมความไม่รู้ของอดีตได้ถูกสร้างขึ้น ความเห็นของไลบ์นิทซ์ให้ความหมายที่สมบูรณ์ยิ่ง ขอพวกเราใช้ความได้เปรียบของข้อเท็จจริงนี้ในการวางรากฐานให้มั่นคงหยั่งลึกบนจิตใจเยาวชนด้านโครงสร้างของความรู้เฉพาะที่จำเป็นสำหรับการใช้งานที่เหมาะแก่สังคมสมัยใหม่ซึ่งจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอนที่สุด

            สมาคมเพื่อการปฏิรูปการศึกษาได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อในที่สุดจะช่วยเผยแพร่แนวคิดเหล่านี้และจัดทำแผนงานของพวกเราให้กว้างขวางมากขึ้น ชื่อสมาคมไม่ใคร่จะดีนักด้วยเป็นการสื่อความหมายที่มากเกินหรือไม่พอควร ยิ่งกว่านั้น สมาคมยังไม่เฟื่องฟู ในที่ประชุมเริ่มต้นของคณะอำนวยการที่ซอร์บอนน์ในห้องโถงของสภาวิชาการ เกิดการแบ่งฝ่ายระหว่างกลุ่มที่ต้องการปฏิรูปการมัธยมศึกษาอย่างหมดจดและกลุ่มที่ต้องการจะจำกัดการดำเนินงานไว้ในระดับที่สูงกว่ามัธยมศึกษา แม้ข้าพเจ้าจะมีความหวังว่าพวกเขาทั้งหลายจะเข้าร่วมในกลุ่มแรก แต่มีจำนวนมากที่ข้ามไปอยู่อีกฝั่งหนึ่ง ความไม่ชัดเจนต่อหลักเบื้องต้นทำให้ความเห็นต่างเหล่านี้เกิดการประนีประนอมและถ่วงเวลาการดำเนินงานของพวกเรา พวกเราจึงรอคอยและใช้ประโยชน์จากความล่าช้าต่อการทำแผนงานให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นด้วยการทบทวนในแต่ละประเด็นเป็นครั้งที่สาม

            แผนงานเหล่านี้จะสามารถทำได้จริงในทางปฏิบัติหรือไม่? ผู้ชื่นชมบางท่านยังคงกังขาอยู่ สงครามกำลังมอบโอกาสแก่พวกเราต่อการนำสิ่งเหล่านี้สู่การทดสอบ เมื่อนักโทษสงครามเริ่มหลั่งไหลเข้าสู่สวิสเซอร์แลนด์ซึ่งได้แก่คนที่ออกจากงานและบ่อยครั้งที่หลงทางในความไม่ปรกติของสถานะตนเอง ความพยายามได้เกิดขึ้นเพื่อจัดเตรียมทั้งกิจกรรมทางกายและจิตใจแก่พวกเขา สถาบันโอลิมปิกซึ่งมีแผนงานที่ข้าพเจ้าร่างขึ้นในโลซานน์ตั้งแต่ ค.ศ.1913 แต่ไม่เคยปฏิบัตินั้น ดูจะเหมาะสมยิ่งต่อเป้าประสงค์นี้ โดยมีข้อแนะนำแก่ข้าพเจ้าให้อุทิศสถาบันโอลิมปิกเพื่อประโยชน์แก่นักโทษสงครามชาวฝรั่งเศสและเบลเยียมซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น นอกเหนือจากความหลากหลายของชนิดกีฬาแล้ว ผู้ลงทะเบียนซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่นอกประจำการและเจ้าหน้าที่ประจำการบางคนได้ร่ำเรียนวิทยาศาสตร์และประวัติศาสตร์ตามแผนงานของสมาคมที่หยุดดำเนินการ ด้วยความช่วยเหลือเป็นครั้งคราวจากพันธมิตรซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่นักโทษสงครามคือท่านทริสแทรมกับคาแลนดรูว์ซึ่งได้ร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่กับข้าพเจ้าในความพยายามนี้ จากประสบการณ์นี้ แผนการศึกษา “วิทยาศาสตร์” ได้บูรณาการเมื่อเวลาผ่านไปและแผนการศึกษา “มนุษยศาสตร์” ซึ่งใช้วิชาประวัติศาสตร์เป็นแนวทางได้รับการปฏิรูปอย่างสมบูรณ์

            ข้าพเจ้าได้ร่างกรอบเนื้อหาของประวัติศาสตร์เป็นสี่สิบบทซึ่งแทบจะไม่มีเนื้อหาใดเล็ดลอดไป แต่ข้าพเจ้ากลับไม่ชอบการจัดเรียงเนื้อหาซึ่งต้องการความเรียบง่ายและน่าประทับใจมากขึ้นในการจัดเรียงด้านวิชาการ ในท้ายสุด ข้าพเจ้าได้จัดกลุ่มเนื้อหาประวัติศาสตร์ของมนุษย์เป็นสี่ภาคคือ

  1. จักรวรรดิเอเชีย
  2. มหากาพย์เมดิเตอร์เรเนีย
  3. ชาวเซลท์ เยอรมัน และสลาฟ
  4. การก่อร่างและพัฒนาการของประชาธิปไตยสมัยใหม่

            ข้าพเจ้าฉุกคิดได้ว่า แม้สองภาคแรกของการจัดกลุ่มข้างต้นเป็นลักษณะทางภูมิศาสตร์ ภาคที่สามเป็นเชิงชาติพันธุ์และภาคท้ายสุดด้านการเมือง แต่สิ่งสำคัญคือเหตุการณ์ทั้งหมดของประวัติศาสตร์สามารถจัดให้อยู่ภายกรอบนี้และใช้ราวกับเป็นหีบเพลงได้ (ขออภัยต่อภาพคนเดินเท้า) กล่าวอีกนัยหนึ่ง อาจนำกรอบนี้มาใช้ทบทวนโดยคร่าวหรือการค้นคว้าลุ่มลึก ผู้รับฟังที่ติดตามอย่างต่อเนื่องจากโลซานน์ ลักเซมเบิร์ก มูว์ลูซ และที่อื่นต่างแสดงให้เห็นว่า กรอบข้างต้นมีความยืดหยุ่นในระดับสูง พวกเขาทำให้ข้าพเจ้าเชื่อมั่นที่จะจัดเตรียมสิ่งเหล่านี้ให้เป็นการถาวรเนื่องเพราะสามารถบรรลุเป้าหมายที่ข้าพเจ้าได้วางไว้

            พงศาวดารโบราณกล่าวถึงเหตุการณ์ในคืนวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ.406 ที่อนารยชนป่าเถื่อนข้ามแม่น้ำไรน์และทำลายล้างหมู่ชนที่พิทักษ์แม่น้ำเข้าสู่เขตแดนชาวกอลซ์

            ข้าพเจ้ามักเทียบเคียงเหตุการณ์นี้ยามหวนระลึกถึงวันปิดโอลิมปิกเกมส์ ค.ศ.1916 ในขณะที่ดูเหมือนว่า ประเทศชาติทั้งหลายต่างก้าวข้ามสันเขาวิบากไปสู่ยามค่ำคืนบนพื้นที่ราบใหม่พ้นยอดภูเขาไปไกล จากนั้น ลักษณะการต่อสู้ก็ปรับเปลี่ยน พลวัตสังคมขนานใหญ่ที่สั่นคลอนรัสเซียถึงรากถึงโคนนำมาซึ่งความหวังและหวาดกลัวอย่างแรงกล้าในทุกมิติ ภยันตรายทางเศรษฐกิจปรากฏกายขึ้นโดยไม่มีมาตรการป้องกันจากผู้ใด โดยเกิดความรู้สึกสับสนว่า สงครามครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งใดซึ่งถูกกำหนดด้วยองค์ประกอบใหม่คือ เอกภาพของโลก สงครามครั้งนี้กำลังสร้างโอกาสที่ไม่คาดคิดมาก่อน เมื่อสงครามยุติลง ความโกรธแค้นสะสมและหิวกระหายจะปะทะกันเป็นการต่อสู้ครั้งใหญ่เพื่อแสวงหาอำนาจ เพียงแค่การผลักดันชนชั้นแรงงานกลับสู่สถานะเดิมคงไม่ใช่ทางออก ทางเลือกที่เหลืออยู่ต่อการเจรจาคือ การกุมอำนาจหรือยอมศิโรราบ

            ความคิดเห็นหลากหลายกำลังเกิดขึ้นแก่ทางเลือกเหล่านี้ ในท่ามกลางความบกพร่องและล่มสลายของสังคมที่ไม่สามารถปฏิรูปตนเองได้ ความเห็นบางอย่างเอนเอียงไปสู่แนวคิดสังคมใหม่ที่ยุติธรรมมากขึ้นและคล้ายคลึงกับสังคมคริสต์ คนอื่นเห็นว่าพวกเรามีสิ่งที่ต้องการจะสร้างใหม่และเป็นแต่เพียงเงื่อนเวลาจนกว่าจะปรากฏขึ้น แต่ในเวลาอันใกล้นี้ ประเด็นการจัดเตรียมชนชั้นแรงงานคือสิ่งสำคัญไม่ว่าพวกเขาจะเป็นผู้กุมอำนาจหรือเพียงแต่เกี่ยวข้องต่อการใช้อำนาจ แต่กลับไม่มีการเตรียมการใดในเรื่องนี้ พวกเราบางคนเกิดความวิตกกังวลต่อสถานการณ์นี้ตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน ในวันนี้ ข้าพเจ้าบังเอิญพบจดหมายเชิญที่ตนจัดส่งแก่บุคคลที่มีคุณสมบัติประมาณยี่สิบท่านใน ค.ศ.1890 เพื่อศึกษาวิธีการจัดเตรียม “ฐานันดรที่สี่” (ในเวลานั้น คำว่า “ฐานันดรที่สี่” ถูกใช้เรียกคนยากไร้) ต่อภารกิจรัฐบาลที่ดูเหมือนว่า การขยายตัวของประชาธิปไตยจะสงวนไว้สำหรับพวกเขา อย่างไรก็ตาม การประชุมไม่เคยเกิดขึ้น ไม่มีผู้ใดสนใจยกเว้น มร. เกรฮาร์ด อธิการบดีที่พร้อมต้อนรับข้าพเจ้าสู่ซอร์บอนน์ (ปัจจุบันคือ โอลด์ซอร์บอนน์) ซึ่งอาจเป็นว่า ท่านต้องการเบี่ยงเบนความสนใจของข้าพเจ้าจากการพลศึกษาซึ่งความเพียรพยายามของข้าพเจ้าสร้างความระคายเคืองแก่ท่านก็เป็นได้

            เวลาล่วงไป ปัญหาทวีความรุนแรงมากจนกระทั่งบางคนที่เห็นว่าสายเกินแก้ได้ยอมจำนนต่อสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า ความล่มสลายแห่งวัฒนธรรมและการกลับคืนสู่ยุคอนารยชนป่าเถื่อน แต่ข้าพเจ้าไม่ใช่คนเหล่านี้โดยตนเองมีความคาดหวังเป็นอย่างสูงต่อชนชั้นแรงงานซึ่งมีความแข็งแกร่งยิ่งและแลดูมีศักยภาพที่จะบรรลุสิ่งยิ่งใหญ่ได้ นอกจากนี้ พวกเราไม่ได้หลอกตนเองเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่พวกเราภูมิใจล้นเหลือ ใช่หรือไม่? สิ่งปฏิกูลจำนวนมากปนเปื้อนโลหะบริสุทธิ์ ทำให้เกิดความไม่เป็นเนื้อเดียวกัน ไร้พลังแกร่งกล้า รูโหว่ของความเห็นแก่ตัว และสิ่งพิมพ์ลามกหลบตาที่ล่อแหลม!

            ข้าพเจ้าเห็นว่า ไม่ว่าจะอย่างไร นี่คือสิ่งที่เห็นและเป็นไป ไม่มีทางที่จะเชื่อมโยงชนชั้นแรงงานได้ทันใดกับวัฒนธรรมชั้นสูงตามความเข้าใจของคนรุ่นก่อน ชนชั้นแรงงานต้องเตรียมทุนวัฒนธรรมชั้นสูงของตนเองเพื่อหากว่า วัดวาอารามที่จัดเก็บความรุ่มรวยของอารยธรรมและควรมอบหมายให้พวกเขาดูแลต่อไปนั้น จะได้รับความเคารพและบำรุงรักษาไว้

            จากมุมมองข้างต้น แผนการสำหรับมหาวิทยาลัยมวลชนได้ถูกร่างขึ้น ในการเขียนแผนนั้น ผลงานและการทดลองที่ข้าพเจ้าเพิ่งอภิปรายเมื่อสักครู่กลายเป็นคุณประโยชน์มหาศาลแม้จะมีความแตกต่างในบางประการ สิ่งเหล่านี้คือมหาวิทยาลัยเฉพาะช่วงเวลาโดยแผนงานกล่าวถึงสองภาคการศึกษาๆละสามเดือนต่อปีซึ่งผู้ใช้แรงงานเป็นผู้บริหารงานทั้งหมด การสอนจัดแบ่งเป็นแปดสิบสี่บทเรียนต่อภาคการศึกษา ยี่สิบสี่ชั่วโมงเป็นการศึกษาด้านประวัติศาสตร์โลก สามสิบหกชั่วโมงสำหรับกรอบทั่วไปของวิทยาศาสตร์ แปดชั่วโมงแก่วิชาปรัชญา หกชั่วโมงของการวิพากษ์และบูรณาการ และสิบชั่วโมงเพื่อการฝึกหัดภาษาและลีลาภาษา

            สิ่งทั้งปวงนี้เป็นนวัตกรรมซึ่งท่านต้องยอมรับว่า เป็นไปไม่ได้ที่ข้าพเจ้าจะกระทำแม้การสรุปโดยคร่าวเนื่องจากพื้นที่กระดาษเพียงไม่กี่หน้า โครงการนี้เป็นที่คุ้นเคยแก่บุคคลที่ให้ความสนใจซึ่งขึ้นอยู่กับพวกเขาที่จะประเมินและนำไปปฏิบัติตามเห็นควร ในกรณีใดก็ตาม คู่มือต้องได้รับการจัดเตรียมแก่พวกเขา “ตำราเรียน” ที่จำเป็นต่อแนวคิดการศึกษาที่ต่างไป ซึ่งผู้ได้รับการศึกษาจะไม่ใช่ปัจเจกชนที่หล่อหลอมบุคลิกลักษณะและความคิดตนเองผ่านการสัมผัสกับประติมากรรมชั้นครูบางอย่าง เหนือสิ่งอื่นใด พวกเขาจะเป็นมนุษย์ที่พวกเราเรียกขานชัดเจนและนำเสนอความเชื่อพื้นฐานห้าประการกล่าวคือ แนวคิดดาราศาสตร์หมายถึงจักรวาลกว้างใหญ่ไพศาลภายในสรวงสวรรค์ที่นำพาพวกเราให้เคลื่อนที่ แนวคิดเกี่ยวกับโลกและกฎที่ควบคุมสรวงสวรรค์ดังกล่าว แนวคิดประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงความสำเร็จของยุคก่อน แนวคิดด้านสุขอนามัย จักรกลมนุษย์ ศักยภาพผลผลิตและวิธีการกำกับดูแล แนวคิดด้านปรัชญาต่อความกระหายใคร่รู้ ความยุติธรรม แสงสว่าง และอภิปรัชญาที่ทรมานมนุษย์นับจากอดีตถึงปัจจุบันและอนาคตซึ่งแยกมนุษย์ออกจากสัตว์ตลอดกาล

            ท่านอาจกล่าวว่า “อะไรนะ?” และ “ท่านต้องการสอนสิ่งทั้งหลายนั้นแก่ผู้ใช้แรงงาน? ช่างโง่เขลาเสียจริง! พวกเขาไม่มีทั้งเวลาและรสนิยมใฝ่รู้”

            ข้าพเจ้าทราบดีด้วยความคุ้นเคยต่อความรังเกียจและชะตากรรมเหล่านี้ เมื่อข้าพเจ้าวางแผนที่จะรื้อฟื้นโอลิมปิกเกมส์ ผู้คนต่างนับข้าพเจ้าว่าเป็นคนบ้าเช่นกัน

            ถึงกระนั้นก็ตามที โอลิมปิกเกมส์ได้รับการรื้อฟื้นและหลักพื้นฐานโอลิมปิกก็ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ท่วงจังหวะรอบปีโอลิมปิกได้กลายเป็นอาภรณ์ห่อหุ้มนานาชีวิตและถือเป็นองค์ประกอบสามัญของชีวิตดังกล่าว รอบปีโอลิมปิกที่แปดจะได้รับการเฉลิมฉลองใน ค.ศ.1924 ที่กรุงปารีสพร้อมด้วยการครบรอบสามสิบปีของการรื้อฟื้นโอลิมปิกเกมส์ กรุงอัมสเตอร์ดัมกำลังเริ่มต้นเตรียมการโอลิมปิกเกมส์ครั้งที่เก้าใน ค.ศ.1928 ในประเทศไกลโพ้น เยาวชนต่างพากันฝึกหัดร่างกายที่จะทำให้ตนเองได้รับเกียรติในการปรากฎกายในสนามกีฬาที่ซึ่งกำแพงรอบด้านจะสลักชื่อผู้ชนะเลิศนับจากปัจจุบันตามมติล่าสุดของคณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติ คณะกรรมการชุดนี้ที่ข้าพเจ้าได้รับเกียรติในฐานะประธานตั้งแต่เริ่มต้นและมีตัวแทนของสี่สิบสองประเทศจากยุโรป อเมริกา เอเชียและแอฟริกาคือแบบจำลองของลีกนานาชาติตามที่ได้รับกล่าวขานบนเวทีในกรุงเจนีวาเมื่อปีกลาย ตลอดระยะยี่สิบเจ็ดปีของการดำเนินงาน คณะกรรมการนี้ได้ผ่านปัญหามากมายแต่ไม่เคยล้มเหลวในภารกิจของตนเองโดยยังคงปฏิบัติอย่างต่อเนื่องบนเส้นทางความเป็นนานาชาติที่ก้าวหน้า

            ในสมัยนี้ ความเป็นนานาชาติอย่างยิ่งคือสิ่งที่ดีสุดหรือหนทางรอดเดียวของยุทธศาสตร์รื้อฟื้นการกีฬาที่จำเป็นยิ่งต่อสุขภาวะของสังคมยุคใหม่ ขอพวกเราอย่าเข้าใจผิด การกีฬาไม่ใช่สัญชาติญาณของมนุษย์และการกีฬาของบุคคลคือสิ่งปลูกเทียมและเปราะบาง หากไม่มีศาสนา ผู้ชม เสียงโห่ร้องและการโฆษณาที่สืบสานการดำรงอยู่นั้น โอลิมเปียโบราณคงจะไม่รุ่งโรจน์นับเป็นเวลาหลายศตวรรษ การกีฬาเป็นที่รู้จักน้อยมากในบรรดาผู้คนที่ควรทราบเป็นอย่างดีในช่วงยุคมืด โดยไม่สามารถยืนหยัดได้นานนักแม้องค์ประกอบทั้งปวงจะช่วยสร้างชีวิตชีวาแก่การกีฬาก็ตามที ยุทธศาสตร์สมัยใหม่ไม่ใช่เพียงผลของการดำเนินงานชั่วครู่ยาม แต่สืบเนื่องจากความตั้งใจแน่วแน่ของปัจเจกชนกลุ่มหนึ่งได้แก่ ฮาห์นในเยอรมนี อาร์โนลด์และคิงส์ลีย์ในอังกฤษผู้สืบทอดในสิ่งที่อโมรอสกระทำไม่สำเร็จ ใน ค.ศ.1886 เมื่อข้าพเจ้าและเพื่อนจัดทำโครงการ “สร้างฝรั่งเศสให้แข็งแกร่งอีกครั้ง” ผ่านการกีฬาด้วยการบังคับให้โรงเรียนมัธยมศึกษานำไปปฏิบัติและฝรั่งเศสก็ให้ความสนใจต่อโครงการพวกเราเป็นอย่างดี นักเขียนท่านหนึ่งที่เป็นมิตรได้กล่าวถึงเรื่องราวความเพียรพยายามของพวกเรา อย่างไรก็ตาม สาเหตุก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข พวกเราจงระมัดระวัง ยุคการกีฬาในประวัติศาสตร์เป็นช่วงระยะสั้นและพบได้น้อย ในการนี้ อังกฤษกำลังสะบัดธงอย่างขมีขมัน ฝรั่งเศสกำลังตบแต่งหน้าตาภายนอกอย่างหรูหราแต่ข้างในกลับเต็มไปด้วยรูโหว่จำนวนมาก แม้ในปัจจุบันก็ยังไม่มีแห่งใดที่ประกันถึงอนาคตของการกีฬาได้ อย่างน้อยคบไฟโอลิมปิกกำลังเดินทางจากเมืองหนึ่งไปอีกเมืองหนึ่งทั่วโลกโดยเส้นทางได้ขยายไปถึงตะวันออกไกล หากแม้นักวิ่งเริ่มเหนื่อยล้า ประเทศใหม่จะขันอาสานำพาคบไฟจากมือที่ไม่ใส่ใจและพร้อมจะปล่อยคบไฟไปเสีย

            ทั้งนี้ คบไฟการกีฬาจะได้รับการปกป้องจากการดับมอดลง สิ่งนี้คือเหตุผลที่ข้าพเจ้ารื้อฟื้นโอลิมปิกเกมส์ซึ่งไม่ใช่การโอ้อวดในการฟื้นฟูสถาปัตยกรรมที่สูญหายไป

RANDOM

สำนักงานกองทุนสื่อฯ รับสมัครพนักงานจ้างเหมา ‘ฝ่ายบริหารองค์กร ส่วนกลั่นกรองงานและสนับสนุนผู้บริหาร-ฝ่ายส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสร้างเครือข่าย’ ยื่นใบสมัครได้แล้ว – 13 ตุลาคม 2567

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!